ประกันสังคม เตรียมปรับสัดส่วนลงทุน ลดสินทรัพย์ไม่เสี่ยงจาก 70 เหลือ 65 เพิ่มการลงทุนต่างประเทศให้มีรายได้มากขึ้น เป้าหมายผลตอบแทนระยะยาวไม่น้อยกว่า 5% ตามแผนดำเนินการ 2568-2572 รมว.แรงงาน ชูข้อเสนอจ่ายเงินซื้อประกัน Fixed Cost ค่าใช้จ่าย ลดรายจ่ายออดิท แต่ต้องแก้กฎหมายก่อน พร้อมแก้ปัญหาเงินค่าผู้ป่วยในรพ.ประกันสังคม ส่วนปี 68 ผู้ประกันตนได้เงินสงเคราะห์บุตรเพิ่ม!
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดการประชุมฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม SSO SUSTAINABLE FOR ALL โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงานแรงงาน คณะกรรมการประกันสังคม นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง เข้าร่วม ณ ห้อง แซฟไฟร์ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
แก้ปัญหาเงินกองทุนประกันสังคมอีก 30 ปีข้างหน้า
โดยนายพิพัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบการทำงานจะลดน้อยลง จากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ คาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมจะเหลือเท่ากับศูนย์ ซึ่งการจัดงานในวันนี้สืบเนื่องมาจาก อดีต สส.พรรคก้าวไกล ได้ให้ตนไปตอบกระทู้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงการคาดการณ์ว่าในปี 2597 กองทุนประกันสังคม จะกลับไปเป็นศูนย์หรือถึงวาระที่ต้องล้มละลาย ครั้งนี้จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ในด้านการบริหารกองทุนจากหลายประเทศ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เพื่อหาข้อมูล พร้อมเชิญพรรคการเมือง และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มาร่วมภายในงาน ภายหลังจากประชุมและเสวนาแล้วจะมีการสรุปต่อไป โดยเฉพาะในปี 2597 จะสิ้นสุดจริงหรือไม่ หรืออาจจะเกิดเร็วกว่านั้นก็ได้
การประชุมในวันนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้และแนวคิด จากการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ นักวิชาการ ตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อนำมาทำแผนในการการพัฒนาสิทธิประโยชน์ การบริการทางการแพทย์ และการลงทุน ของกองทุน ประกันสังคมโดยมีแนวทาง 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. การขยายความครอบคลุมหลักประกันสังคม ด้วยสิทธิประโยชน์ ที่เพียงพอ 2. อนาคตของระบบประกันสุขภาพ 3. การสร้างความยั่งยืนกองทุนประกันสังคม 4. แนวทางการบริหารเงินลงทุน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพกองทุน เพื่อสร้างความยั่งยืนอยู่คู่ผู้ประกันตน
เร่งหารายได้เพิ่มกองทุนประกันสังคม
"สถานการณ์โควิด-19 เราต้องใช้เงินจากกองทุนไปเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็มีสภาพเศรษฐกิจ และผู้ประกันตนมีมากน้อยแค่ไหน สังคมผู้สูงวัย สิ่งเหล่านี้ ในบอร์ดประกันสังคมกำลังหารือ แต่สุดท้ายจะทำประชาพิจารณ์ต่อไป ทุกสิ่งเป็นองค์ประกอบที่กระทรวงแรงงาน และประกันสังคม ต้องคำนึงถึงในทุกมิติ รัฐบาลยังไงก็ต้องดำเนิน หากกองทุนล้มละลายนั่นคือ ภาระที่หนักที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระให้กับรัฐบาลในอนาคต ต้องทำตั้งแต่วันนี้" นายพิพัฒน์ กล่าวและว่า
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงานว่า ควรเชิญผู้รู้ในด้านการตลาด การลงทุน ที่ดูเรื่องนี้ได้ในระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ขณะนี้ลงทุนในประเทศไทยเกือบ 100% แต่ในอนาคตจะมีการลงทุนเพื่อปรับสัดส่วนออกไปสู่ต่างประเทศมากขึ้นจากเดิมลงทุน 70 กับ 30 ปรับลดสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงจาก 70 เป็น 65 แล้วเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็น 35 เรื่องนี้ต้องเชิญผู้รู้ รวมถึงออกไปดีลกับหน่วยลงทุนต่างประเทศ ดูว่าเงินในปี 67-69 จะนำไปลงทุนที่ไหน โดยแผนการดำเนินการ 2568-2572 ต้องเพิ่มผลตอบแทนระยะยาวไม่น้อยกว่า 5%
สำหรับสถานการณ์กองทุนประกันสังคมในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท สิ้นปีนี้น่าจะใกล้เคียง 2.7 ล้านบาท ดอกผลปีนี้น่าจะได้ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้าน ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวนกว่า 24 ล้านคน แต่หลังจากนี้พยายามให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งเงินในการลงทุนมีทั้งส่วนที่ต้องรอให้ครบกำหนดของการลงทุนเสียก่อน ส่วนเป้าหมายการลงทุนจะต้องไม่น้อยกว่า 5% หากมีเงินที่สามารถลงทุนได้ก็ต้องนำไปลงทุนต่อ ซึ่งการลงทุนนั้นบอร์ดประกันสังคมอนุญาตว่า ไม่ต้องให้ลงทุนเพียงตราสารทุนอย่างเดียว อาจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
ปี 68 ได้เงินสงเคราะห์บุตรเพิ่ม
เมื่อถามถึงข้อเสนอการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับการเลี้ยงดูบุตรในชนบทนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2568 ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 1,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ได้รับ 800 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีการเสนอให้เป็น 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเพียงข้อเสนอ มีคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้อยู่
แก้ปัญหาเงินค่าผู้ป่วยในรพ.ประกันสังคม
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอกชน คู่สัญญากับประกันสังคม โดยให้ที่อัตรา 12,000 บาทต่อ Adjusted RW รมว.แรงงาน กล่าวว่า ประกันสังคมมีงบประมาณ 1 ก้อน ถ้าเข้ามาอย่างสม่ำเสมอจะได้รับ 12,000 บาท ต้นปีถึงปลายปี แต่คนมาใช้บริการในช่วงต้นปีจำนวนมาก ส่งผลต่องบประมาณที่ Fix เอาไว้ ทำให้ถูกใช้เงินไปมาก ทำให้ช่วงปลายปีมีเงินเหลือไม่ถึง 12,000 บาท จึงมีการหารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสํานักงานประกันสังคม ให้เข้าไปคุยว่า ขยับงบประมาณได้หรือไม่ เรื่องนี้นำเข้าบอร์ดประกันสังคมพิจารณาต่อไป เป็นสิ่งที่เสนอความคิดส่วนตน
อย่างไรก็ตาม หากสามารถนำเงินในส่วนนี้ไปซื้อประกันก็จบ โดยกองทุนประกันสังคมจะซื้อประกันสุขภาพ แทนที่จะจ่ายรายเคส แต่เราเหมาจ่าย ให้บริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบต่อผู้ประกันตน แต่เรื่องนี้ต้องนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและสภาฯ เพื่อแก้ พ.ร.บ.ก่อน แต่ถ้าเรามีจุดเริ่มต้นในการคิด ความสำเร็จในวันข้างหน้าก็เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้
"บอร์ดประกันสังคมเคยแนะนำว่า จะหาตัว Fixed Cost ได้หรือไม่ หากซื้อประกัน แล้วโยนให้ประกันรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้ประกันสังคมลดค่าใช้จ่ายในการออดิทได้ เพื่อให้จ่ายได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า และรู้ว่ารายรับได้เท่าไหร่ เพื่อบริหารจัดการเงินที่มีอยู่ให้ดีที่สุด แต่เรื่องนี้เป็นข้อเสนอ ต้องมีการแก้กฎหมาย" นายพิพัฒน์ กล่าว
ดึงแรงงานต่างด้าวเข้า ม.33
นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังได้กล่าวในการเสวนาหัวข้อ เพราะกองทุนเป็นของพวกเราทุกคน (SSO Sustainable for All) ตอนหนึ่งว่า มีเป้าหมายจะเพิ่มคนทำงานเข้ามาอยู่ในกองทุนประกันสังคมอีกประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ เช่น คนขับแท็กซี่ เกษตรกร และรับงานไปทำที่บ้าน เพื่อทำให้จำนวนคนในกองทุนฯ เพิ่มจาก 24 ล้านคนเป็น 40 ล้านคน และกำลังหารือในการนำอาชีพที่กฎหมายปัจจุบันยกเว้นในกลุ่มคนต่างด้าว ให้เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมด้วย เนื่องจากแรงงานต่างด้างที่ขึ้นทะเบียนปัจจุบันมีราว 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่งเงินสมทบมาตรา 33 เพียง 1.5 ล้านคน อีกถึง 1.5 ล้านคนไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคม โดยเรื่องนี้สามารถแก้ไขกฎกระทรวง จึงดำเนินการได้เลย คาดว่าน่าจะประกาศในปี 2568 โดยประสานกระทรวงมหาดไทยในการออกบัตรสีชมพูให้กับกลุ่มที่เข้ามาทำงานในอาชีพที่เป็นข้อยกเว้นเดิม นำกลุ่มใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินแล้วให้จ่ายเงินสมทุบเข้าประกันสังคม เมื่อเจ็บป่วยก็ได้รับการดูแลรักษาพยาบาล จะทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ต้องแบกภาระค่ารักษาต่างด้าวที่เรียกเก็บไม่ได้อยู่ราว 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี
- 276 views