เปิดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม "หมอชาญวิทย์" ไม่เห็นด้วยให้ สปสช.ดูแลสุขภาพผู้ประกันตน แนะทุกคนต้องมีส่วนร่วมป้องกันโรค การแพทย์อนาคตควรใช้ AI ทำนาย เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค พร้อมส่งเสริมให้มีบุตรอย่างน้อย 2 คน ด้าน "อนุสรณ์ ธรรมใจ" หนุนดึงแรงงานต่างด้าวเข้าระบบจ่ายเงินสมทบ ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม SSO SUSTAINABLE FOR ALL ครั้งนี้ มีการจัดเสวนา หัวข้อ ระดมความคิดเห็น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม
ไทยน่าห่วง! ผู้สูงอายุเป็นผู้ทุพพลภาพมากขึ้น
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ คณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม กล่าวถึงการระดมความคิดเห็นภายในห้องแพทย์ ตอนหนึ่งว่า ความต้องการของผู้ประกันตนนั้นมุ่งเน้นอยากได้รับสิทธิประโยชน์ การบริการที่มากขึ้น และการป้องกันก่อนป่วย ทำอย่างไรถึงจะปรับให้ทันต่อเหตุการณ์ บริบท เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งตัวยา เครื่องมือทางการแพทย์ กลไกในการรักษาต่าง ๆ โรงพยาบาลก็ต้องมีกลไกการจ่ายเงินที่คุ้มค่า ได้กำไร บางทีอาจจะต้องมองในมุมใหม่ แนวคิดในอนาคตจะช่วยตอบคำถามนี้ได้
จากข้อมูลพบว่า จำนวนแรงงานทั่วโลกในปี 2086 จะมีประชากรราว 10.4 พันล้านคน แต่ด้วยอัตราการเกิดน้อยลง ทำให้มีอัตราประชากรมากถึงจุดพีค แล้วจะลดลง ทำให้แรงงานของกองทุนลดลง เงินสมทบในภาพรวมก็ลดลงด้วย ส่วนประเทศไทย จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงจากปีละ 8 แสนคน เหลือปีละประมาณ 5 แสนคน โดยประชากรของประเทศไทยลดลงแล้วตั้งแต่ปี 2021-2022 กองทุนฯจึงมีโอกาสที่จะยั่งยืนได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก อีกทั้งพบผู้ทุพพลภาพเพิ่มขึ้น มีผู้สูงอายุเป็นผู้ทุพพลภาพมากขึ้น ส่งผลต่อค่าดูแล เด็กที่เกิดมาแล้วอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรง ก็ทำให้มี Productivity ต่ำ เสี่ยงต่อการเติบโตเป็นโรคเรื้อรัง
20 ปีที่ผ่านมา ประกันสังคมจ่ายค่าดูแลรักษาเพิ่มขึ้น 334%
สำหรับกลไกในการจ่ายเงินของกองทุนฯ ปัจจุบันจ่ายให้กับการบริการ ต้องป่วย ต้องมีกิจกรรม ถึงจ่ายเงิน และยังกำหนดเงินโดยระบบการวินิจฉัยโรคร่วมและคิดเป็นค่าน้ำหนักสัมพัทธ์แบบ adjRW เมื่อประชาชนป่วยมาก ยิ่งต้องการสิทธิประโยชน์และบริการมากขึ้น กระทบต่อโรงพยาบาล กองทุนฯก็ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น ใน 20 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯจ่ายค่าดูแลสุขภาพ รักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 334% ขณะที่แพทย์พยาบาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% แม้ว่าจะมีบุคลากรมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ดีขึ้น
ไม่เห็นด้วยให้ สปสช.ดูแลสุขภาพผู้ประกันตน
"มีคำถามมากมายว่า ประกันสังคมควรให้การดูแลสุขภาพไปอยู่ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือไม่ ความเห็นของผม คือ ไม่ ประกันสังคมควรให้การดูแลสุขภาพไปอยู่ในมือของผู้ประกันตนร่วมกันกับสำนักงาน ต้องเกิดการมีส่วนร่วม นี่เป็นทิศทางของอนาคต" นพ.ชาญวิทย์ กล่าวและว่า
ขณะนี้ศาสตร์ในการป้องกันโรคเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนการป้องกันปฐมภูมิต้องป้องกันก่อนเกิดโรค ตอนนี้ต้องป้องกันโดยที่ยังไม่รู้ว่า มีความเสี่ยงจะเกิดโรค โดยใช้ AI ทำนายล่วงหน้าว่ามีโอกาสเกิดโรคใดบ้างจากรูปแบบการใช้ชีวิต ให้ผู้ประกันตนทราบว่า มีความเสี่ยงอะไร ถ้าป้องกันความเสี่ยงนั้นต้องใช้เงินในการดูแลสุขภาพเท่าไหร่ ถ้าไม่ป้องกันความเสี่ยง เงินจะบานปลายไปเท่าไหร่
หนุนป้องกันก่อนเกิดโรค ส่งเสริมให้มีบุตรอย่างน้อย 2 คน
"จริง ๆ การรักษาอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้ามีกลไกที่ทำให้รู้ความเสี่ยง สามารถจัดการตนเองได้ ด้วยความช่วยเหลือของกองทุนฯ สิ่งที่ต้องปรับคือ สิทธิประโยชน์สำคัญที่สุด สิทธิที่จะมีสุขภาพดีที่ยั่งยืนของผู้ประกันตน พร้อมส่งเสริมให้มีบุตรเฉลี่ยอย่างน้อย 2 คน เพื่อให้จำนวนอัตราการเกิดประชากรไทยคงที่ ไม่ลดลงเรื่อย ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายมากกว่าวิธีการ คือ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างสุขภาพดีที่ยั่งยืน ต้องให้ผู้ประกันตน มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ดี มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพราะการรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลมีผลเพียง 20% เท่านั้น" นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
การแพทย์ในอนาคตควรมุ่งเน้นการป้องกัน ส่วนการรักษาให้ความสำคัญกับโรคที่ป้องกันไม่ได้ เช่น โรคมะเร็ง โดยให้การรักษาเท่าที่เทคโนโลยีทางการแพทย์จะเอื้ออำนวย หรือ Gold Standard รวมทั้งนำ Risk Predictive Analysis Model มาใช้ในการป้องกันอุบัติเหตุ จะลดภาระผู้ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ ซึ่งมักจะอายุน้อย ๆ ในที่สุด ก็ต้องปรับระบบให้เฉพาะบุคคล พยากรณ์ก่อนเกิดเหตุ การป้องกันที่ได้ผลก็เผยแพร่ให้ทุกคนสุขภาพดีร่วมกัน ป้องกันโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาทำนายล่วงหน้า
"การผ่าตัดโรคอ้วนกินงบประมาณไปสูงมาก โรคอ้วนจะผ่าตัดเมื่อ BMI 37 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก คำถามคือ ทำไมไม่จัดการตั้งแต่ BMI 25 สิ่งเหล่านี้ป้องกันได้ หรือการเกิด Stroke ทั้งที่ป้องกันได้ตั้งแต่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เรื่องนี้ต้องจัดการก่อนที่จะเกิดปัญหา รู้ล่วงหน้าก่อนเกิดความเสี่ยงด้วยซ้ำ ให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพดีไปยาวนาน แล้วเป็นผู้สูงอายุที่มีความแอคทีฟ" นพ.ชาญวิทย์ ทิ้งท้าย
ดึงแรงงานนอกระบบประกันสังคม ช่วยสร้างความยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลัง คณะกรรมการประกันสังคม กล่าวถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ว่า ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ต้องเน้นการมีส่วนร่วม และต้องการให้ครอบคลุมแรงงานมากที่สุด เนื่องจากแรงงานในวัยทำงานราว 23 ล้านคนอยู่นอกระบบประกันสังคม ต้องดึงให้เข้ามา ทำให้เกิดความยั่งยืน และมีโอกาสพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ดีมากขึ้น
ความครอบคลุมจะพูดเฉพาะมิติกองทุนประกันสังคมไม่ได้ แต่ต้องพูดถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมของไทย เศรษฐกิจโลก แต่ว่ากองทุนประกันสังคม เป็นเสาหลักของสวัสดิการประกันสังคมของไทย เมื่อเป็นเสาหลัก ต้องทำให้แข็งแรงยั่งยืน เรามีแรงงานนอกระบบมาตรา 40 อยู่จำนวนมาก ระบบทุนนิยมโลก ระบบเศรษฐกิจโลกเคลื่อนตัวสู่การจ้างงานแบบ non-standard employment ทำให้มีแรงงานอิสระมากขึ้น แม้กระทั่งโรงงาน บริษัท ก็จ้างงานแบบนี้ ซึ่งไม่ชัดว่าเป็นแรงงานอิสระ แต่ธุรกิจต้องการลดต้นทุนทางด้านแรงงาน
อนาคตไทย! ขาดแคลนแรงงาน กระทบรายจ่ายกลายเป็นภาระหนัก
กองทุนประกันสังคมต้องไปดูให้ แรงงานเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์เสมอภาคและเป็นธรรม เรามีแรงงานในระบบเศรษฐกิจ มาตรา 33 ที่ดูแลอยู่ 11.9 ล้านคน มีมาตรา 39 อยู่ที่ 1.6 ล้าน เป็นอาชีพอิสระกว่า 9 แสนคน ประเทศไทยสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 14-15% ส่วนรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 4.8% เทียบกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางสวัสดิการจะอยู่ที่เกือบ 20% และรายจ่ายของไทยเมื่อเทียบกับงบประมาณจะอยู่ที่ 23-24% ต่อไป เราจะเผชิญกับโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และจะมีสภาวะที่ขาดแคลนแรงงานในอนาคต รายจ่ายจะเพิ่มเมื่อเทียบกับสัดส่วนงบประมาณที่มีอยู่ ทำให้เป็นภาระหนัก ด้านหนึ่งต้องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ อีกด้านหนึ่งต้องดูฐานะของประเทศว่าจะจัดการอย่างไร ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ คือ ดึงให้มีสมาชิกเป็นผู้ประกันตนเพิ่มมากขึ้น ให้ทุกคนจ่ายเงินสมทบ
หนุน แรงงานต่างด้าว เข้าระบบประกันสังคม ช่วยจ่ายสมทบ
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในไทยว่า เวลานี้เราอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านหรือแรงงานต่างด้าว ในเชิงเศรษฐกิจจะเห็นอุปสงค์ของแรงงาน 59% แม้จะมีสวัสดิการพื้นฐานบางอย่าง แต่สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ประกันการว่างงาน ชราภาพ คนเหล่านี้ไม่มี การจะทำให้เป็นระบบต้องบูรณาการสวัสดิการให้เข้าอยู่ในระบบประกันสังคม โดยดึงให้เข้ามาเป็นผู้ประกันตนมากที่สุด ตอบโจทย์เพื่อความยั่งยืนทางการเงินของประกันสังคมด้วย
"เรารับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเยอะมาก ตัวเลขไม่เป็นทางการมากกว่า 5 ล้านคน ต้องนำมาเป็นผู้ประกันตนเพื่อให้จ่ายสมทบ แต่ก็ต้องดูเรื่องความเป็นธรรม เช่น จ่ายแล้วสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้ อาจเก็บเงินลดลงหรือเก็บเท่ากับแรงงานไทยก็ได้ เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบาย ถ้ามาร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย ก็ต้องดูแลเขา มองโจทย์ประเทศยาว ๆ เวลาบอกว่า จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้คนในวันนี้ เรากำลังใช้เงินของลูกหลาน ก็ต้องดูเรื่องความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลัง" รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- "พิพัฒน์" เผยประกันสังคม จ่อลงทุน ตปท. หารายได้เพิ่ม! ผุดไอเดียเหมาจ่ายซื้อประกันสุขภาพ
- 4086 views