กทม.เดินหน้ายกระดับบริการสาธารณสุข ชูเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยบริการหลากหลาย ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข หน่วยบริการนวัตกรรม อย่างร้านยา คลินิก ฯลฯ และยังมีรพ.รัฐและเอกชน รวมๆกว่า 1-2 พันแห่งในกทม. เชื่อหากสามารถเชื่อมโยงระบบข้อมูลและให้บริการเทเลเมดิซีน จะทำให้คนกทม.เข้าถึงบริการ ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม ศบส. หรือสร้าง รพ.เพิ่มเติม หวั่นปัญหาขาดหมอ พยาบาล

ศูนย์บริการสาธารณสุข เทียบเท่า รพ. แต่ไม่มีค้างคืน

จากกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่ กทม. เมื่อปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมองว่า กทม.ยังขาดแคลนบริการสาธารณสุข ในระดับต้น ระดับกลางมากกว่าต่างจังหวัด  กทม.จึงควรมีศูนย์บริการสาธารณสุขถึง 500 แห่ง และโรงพยาบาล(รพ.)ชุมชน 50 แห่ง เพื่อยกระดับการบริการครอบคลุมมากขึ้น

เมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)  ให้ข้อมูลว่า ต้องไม่ลืมว่าในต่างจังหวัดไม่มีคลินิกชุมชนอบอุ่น 300-400 แห่ง และไม่ได้มีหน่วยบริการนวัตกรรม เช่น ร้านยา คลินิกต่างๆ จำนวนมากเท่ากับพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างเฉพาะร้านขายยาที่ติดตราร้านยาคุณภาพมีมากกว่า 1 พันแห่ง  ดังนั้น พื้นที่กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องมีศูนนย์บริการสาธารณสุข มากเท่ากับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพราะกรุงเทพฯ มีหน่วยนวัตกรรมต่างๆ จำนวนมากแล้ว

“หากใช้งบประมาณไปอยู่ที่การสร้างศูนย์บริการสาธารณสุขอย่างเดียว หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยนวัตกรรมต่างๆ อย่าง ร้านยา คลินิกต่างๆ อาจอยู่ไม่ได้ ที่สำคัญยังสามารถนำงบประมาณไปใช้อย่างอื่น เช่นส่งเสริมเศรษฐกิจ การจราจร การเชื่อมรถสาธารณะ” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว

เมื่อถามถึงความจำเป็นต้องยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็น รพ.ชุมชน ด้วยหรือไม่ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า  ศูนย์บริการสาธารณสุข ณ ปัจจุบันเทียบเท่าโรงพยาบาลอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีการค้างคืน และยังมีคลินิกรักษาเฉพาะทาง เช่น คลินิกจิตเวชยาเสพติดก็มีรองรับ หรือคลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกทันตกรรม  ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้ว ปัจจุบันพื้นที่ กทม. มีหน่วยบริการต่างๆรวมกว่า 1,000 แห่งแล้ว

สปสช.เร่งหารือรพ.เอกชนเป็นหน่วยทุติยภูมิ

ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กำลังหาทางสนับสนุน รพ.เอกชนขนาดกลางให้มาเป็นหน่วยบริการระดับทุติยภูมิก็จะช่วยเติมเต็มได้ เพราะอย่าลืมว่า กทม.มีรพ.อยู่แล้วเกือบ 140 แห่ง เป็นของรัฐ โรงเรียนแพทย์ และเอกชน  แต่หากอนาคต รพ.เอกชนเข้ามาร่วมมือกันเพิ่มก็แทบจะไม่ต้องสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ รพ.ระดับเทียบเท่ารพ.ชุมชนเพิ่มอีก

“อย่าลืมว่า การมี รพ.เพิ่ม แต่เราไม่ได้มีหมอเพิ่ม เพราะเมื่อมี รพ. แต่ไม่มีบุคลากร ไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาล จะบริหารจัดการลำบาก เพราะทุกวันนี้ทุกรพ.ขาดทั้งหมอ ทั้งพยาบาล ขนาดรพ.เอกชนก็ขาดพยาบาลด้วย ดังนั้น อยู่ที่ว่า จะลดงานที่ไม่จำเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นอีกทางออกที่ดี สำหรับกทม. ขณะนี้เราให้มีเตียงพักคอย เช่น มีอาการประมาณหนึ่งมารักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ระหว่างรอดูอาการก็ให้นอนพักสัก 1-2 ชั่วโมง ซึ่งเคสพักคอยตอนนี้เพิ่มขึ้น 10-20%” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว

ปัจจุบัน กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ ศบส. ทั้งหมด 69 แห่ง และกำลังจะมีแห่งที่ 70 รวมถึงศบส.ศูนย์สาขาอีก 77 แห่ง และยังมีหน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภทอีกกว่า 1,000 แห่ง และรพ.ทั้งรัฐและเอกชน  รวมแล้วก็ราว 2 พันแห่งในกทม. ซึ่งจำนวนนี้หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน รวมถึงการมีแพทย์ให้คำปรึกษาทางไกล หรือเทเลเมดิซีน หากทั้งหมดไปด้วยกันได้ก็จะรองรับการบริการประชาชน ถือว่าค่อนข้างเพียงพอ