ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ชี้ รพ.รามาฯ มีระบบบริหารจัดการตามคิว แพทย์มีโควต้ารับเคสในแต่ละวัน ไม่กังวล 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. ยืนยันต้องใช้ใบส่งตัว เชื่อโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ไม่แออัด ต้องผ่านกระบวนการนัดหมาย 
 
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และรองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงความพร้อม 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่ กทม. ภายในงาน “ประชุมนำเสนอผลการดำเนินโครงการวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี” ที่ห้องค็อกพิท โรงแรมอมารี ดอนเมือง

ผศ.ดร.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวกับสำนักข่าว Hfocus ว่า 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. จะสับสนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหลัก ถ้าดูจากการประชาสัมพันธ์ ดูเหมือนจะโฟกัสไปที่หน่วยบริการนวัตกรรม พวกคลินิกต่าง ๆ และร้านขายยา ที่เป็นของเอกชน ประชาชนสามารถใช้บริการได้ง่าย ถ้ามีความชัดเจนเช่นนี้ก็จะไม่สับสน สิ่งที่ สปสช. ทำ คิดว่า ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ช่วงโควิด แต่ในช่วงนั้นคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมอาจไม่มาก แต่ตอนนี้น่าจะมีมากขึ้นแล้ว

"ส่วนที่คิดว่าจะไปแออัดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือไม่นั้น ผมคิดว่าอาจจะไม่ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไปในแต่ละครั้งเสียเวลาทั้งวัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ต้องผ่านกระบวนการในการนัดหมาย ถ้าไปถึงแล้วไม่สามารถไปยังแผนกนั้นโดยตรงได้ ต้องมีการส่งต่อ จึงคิดว่า มีระบบการจัดการภายในของโรงพยาบาลอยู่แล้ว"

ผศ.ดร.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับต่างจังหวัดมีการประเมินโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยประเมินใน 4 จังหวัดแรก ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด นราธิวาส และเพชรบุรี พบว่า การใช้บริการข้ามเขตของโรงพยาบาลใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้ถึงไม่มีนโยบายนี้ ก็มีการส่งต่อกันอยู่แล้ว แต่เมื่อมีนโยบายนี้ขึ้นมา ทำให้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน 

"รพ.รามาฯ ผู้ป่วยต้องมีใบส่งตัว ต้องมีการประสานกันเพื่อนัดคิว ถ้าเข้ามาที่โรงพยาบาลโดยตรง วอล์คอินมา ต้องไปที่แผนกเวชศาสตร์ครอบครัวก่อน เพราะแพทย์แต่ละคนจะมีโควต้าในการตรวจได้วันละกี่เคส ก็ต้องมีการจัดการคิวต่อไป" ผศ.ดร.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว