ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สส.พรรคประชาชน จี้ถาม รมว.สธ. แก้ปัญหารพ.เขตกรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ! กระทบเข้าถึงบริการ ขุดนโยบายเพื่อไทยโชว์ 50 เขต 50 รพ. นำร่องดอนเมือง แต่ปัจจุบันกลับไม่ชัดเจน ด้าน “สมศักดิ์” ยืนยันเดินหน้า 50 เขต 50 รพ.ตามนโยบายพรรค แต่การสร้างอาคาร หาสถานที่ต้องใช้เวลา ชูหน่วยบริการนวัตกรรมดูแลคนกรุงเทพฯ เจ็บป่วยเล็กน้อย “30 บาทรักษาทุกที่” เน้นป้องกันก่อนเกิดโรค โดยเฉพาะโรคเอ็นซีดี

 

สส.เอกราช จี้ถาม รมว.สธ. แก้ปัญหารพ.เขตกรุงเทพฯ ไม่พอ!  

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามเรื่อง ปัญหาโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อสัดส่วนการใช้บริการของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกรุงเทพโซนเหนือ คือ ดอนเมือง สายไหม มีประชากรประมาณ 1.6 ล้านคน และทรัพยากรด้านสุขภาพ การเข้าถึงการแพทย์มีข้อจำกัด จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเองเผยถึงเตียงนอนของโรงพยาบาลทั้งรัฐ เอกชน มีราว 3.6 หมื่นเตียง อัตราประชากรอยู่ที่ประมาณ 175 คนต่อเตียง เป็นตัวเลขน่ากังวล เพราะประชากรแน่นหนา การกระจายตัวทรัพยากรไม่สม่ำเสมอ

“เขตดอนเมืองไม่มีรพ.สังกัดกระทรวงฯ มีเพียงรพ.สีกัน รพ.ใหม่ 150 เตียง และ รพ.ภูมิพล มี 619 เตียง สังกัดทหารอากาศ จึงอยากชวน รมว.สาธารณสุข ไปดูรพ.ว่าแน่นจริงๆ และระบบคมนาคม ไม่ได้มีรถเมล์เดินทาง ขณะที่อัตราการครองเตียง 65.38 แต่ละวันจะมีผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในรพ.ถึง 2 หมื่นคน นี่คือความตึงเครียดของระบบสาธารณสุข” นายเอกราช กล่าว

ทั้งนี้ สส.พรรคประชาชน ยกนโยบายของพรรคเพื่อไทย เคยยกว่า กรุงเทพฯทั้ง 50 เขต จะต้องมีรพ.สังกัดกทม.อย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง มีการสร้างรพ. 120 เตียง ด้วยงบหลักประกันสุขภาพ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และพูดถึงนโยบายยกระดับบัตรทอง กลับไปโฟกัส 30 บาทรักษาทุกที่ และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมัยเป็นรมว.สาธารณสุขคนก่อน เคยชูนโยบาย 1 รพ. 1 เขต (50 เขต 50 รพ.) จึงอยากทราบว่า นโยบายนี้ชัดเจนอย่างไร และมีแผนเพิ่มบุคลากรให้สอดคล้องกับข้อมูลสาธารณสุขหรือไม่

“สมศักดิ์” โต้กลับ สส.ประชาชน ปม รพ.ไม่พอ ใน กทม.  

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบกระทู้ถามของ นายเอกราช อุดมอำนวย สส.พรรคประชาชน ต่อเรื่องดังกล่าว ว่า การสร้าง รพ.ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ง่าย ด้วยอาคาร สถานที่แต่ละแห่ง แต่ละพื้นที่ แต่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไม่ได้ละเลย ในเรื่อง 50 เขตที่ได้วางไว้ อย่างเขตดอนเมือง แม้การสร้าง รพ.จะไม่ทัน และไม่เสร็จภายในปีเดียว แต่ประชาชนต้องได้รับการดูแลจากกระทรวงสาธารณสุข จากภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงต้องเรียนว่า 1 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีการเพิ่มบริการ 3 เขต ดังนี้

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ได้ให้บริการเพิ่มเติม 2 เขต คือ เขตมีนบุรี เปิดรพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า  และเขตดอนเมือง ขยายบริการ รพ.ราชวิถี2 รังสิต และกรุงเทพมหานครเองก็มีการบริการเขตภาษีเจริญ ด้วยการเปิด รพ.พระมงคลเทพมุนี

“กรณีท่าน สส.พูดถึงงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 1.5 หมื่นล้านนั้น ไม่ได้ใช้ก่อสร้าง แต่เป็นเรื่องการดูแลรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งเปิดดำเนินการไปแล้วตั้งแต่สมัยท่านรมว.ชลน่าน ศรีแก้ว ปัจจุบันดำเนินการครอบคลุมไป 46 จังหวัดแล้ว”

นายสมศักดิ์ ย้ำว่าสิ่งสำคัญเราต้องเน้นการป้องกันโรคด้วย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคเอ็นซีดี (NCDs) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรักษาต่อเนื่อง รวมไปถึงการเจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถเข้าถึงบริการหน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการปฐมภูมิ มาคอยรองรับ มีกระจายทั้ง 50 เขต โดยไม่ต้องเดินทางไปยัง รพ.ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีระบบดิจิทัลเฮลธ์เข้ามาช่วย อย่างเทเลเมดิซีน เพื่อลดความแออัดในรพ. ส่วนเรื่องการก่อสร้าง รพ. ก็ยังต้องดำเนินการต่อไป เพียงแต่ไม่ใช่จะทำได้ทันที ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการให้ครบต่อไป

 

รมว.สมศักดิ์ ตอบสส.ประชาชน ปม รพ.เขตดอนเมือง  

นายเอกราช ตั้งกระทู้ถามกลับอีกว่า ก่อนหน้านี้ รมว.จากพรรคเพื่อไทย ตั้งเป้าว่า จะเกิดรพ.120 เตียง ได้ที่ดินมา และจะทำให้ได้ภายในควิกวิน คือ 100 วันแรก ทั้งนี้ อยากถามรมว.สาธารณสุข คนปัจจุบันว่า เป็นไปได้หรือไม่ ไม่ต้องสร้างรพ.ใหม่ แต่อัปเกรดศักยภาพ หรือถ่ายโอนให้ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

นายสมศักดิ์ ตอบกลับว่า รพ.ในเขตดอนเมืองที่ สส.ให้ความสนใจนั้น จริงๆ มีความคืบหน้า อย่างการจัดตั้งรพ.เขตดอนเมือง ปัจจุบัน กรุงเทพฯ กำลังสร้างรพ.เพิ่ม และการบริหารการดูแล จึงบูรณาการร่วมกันระหว่าง กองทัพอากาศ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ มีรพ.ราชวิถี 2 รังสิต จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วย ส่วนกองทัพอากาศ สีกัน มีแผนขยายบริการอยู่ระหว่างของบประมาณ ส่วนกรุงเทพมหานคร ขอเช่าที่ดินเขตภาษีเจริญ เพื่อตั้งรพ.แม่ข่ายสำหรับเขตโซนเหนือของกทม. แต่อย่างที่บอกจะเร่งรัดให้เร็วคงไม่ได้ มีหลายปัจจัยในเรื่องการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม แม้เตียงน้อย แต่เสริมหน่วยบริการนวัตกรรมเข้ามาแทน โดยประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อย รักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีใบส่งตัว ใช้ระบบส่งตัวแบบดิจิทัลได้