ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สส.เพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามปมยาเสพติด สะอื้นผู้ป่วยฟอกไตในชนบทห่างไกล ขาดโอกาสเข้าถึงรักษา สุดท้ายเสียชีวิต พร้อมเรียกร้องให้นำเงิน ฌกส.อสม.ออกมาใช้ก่อนได้ ด้าน รมว.สธ.เร่งเพิ่มเตียงผู้ป่วยยาเสพติด เชื่อหากยึดทรัพย์ผู้ค้ามากขึ้น ผู้ป่วยจะน้อยลง

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวใน การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เรื่อง ขอให้แก้ปัญหาศูนย์บำบัดยาเสพติดไม่เพียงพอต่อการรักษา โดยระบุปัญหาที่ร้องเรียนการบำบัดผู้ติดยาเสพติด

  • งบประมาณมีน้อย
  • งบประมาณไปล่าช้า ต้องผ่านหลายขั้นตอน
  • สถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ
  • โรงพยาบาลไม่สามารถรับคนติดยาเสพติดได้

"ปัจจุบันผู้เสพ ผู้ค้า มีมากขึ้นทุกวัน สะสมมานานนับ 10 ปี จนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ สาธารณสุข ต้องช่วยกันทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เสพยาแล้วเกิดอาการคลุ้มคลั่งขาดผู้ดูแลรักษา เช่น อ.บ้างแพง จ.นครพนม มี 66 หมู่บ้าน 6 ตำบล มีพยาบาลเพียงคน 1 ที่ไปคอยฉีดยาและป้อนยาให้ผู้ป่วยติดยาเสพติด พยาบาลทำงานเหนื่อยมาก" นายภูมิพัฒน์ กล่าวและว่า 

ในปีที่ผ่านมา การประเมินผลหรือการชี้วัด พบว่าผู้ติดยาเสพติดหรือยาบ้า มีจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษา การปราบรามในหมู่บ้านยังมีน้อย ส่วนมากก็เน้นชายแดน ซึ่งก็จับได้จำนวนมาก ในหลายประเทศจะไม่รอจับปลายทาง แต่จะไปตกลงสร้างสัมพันธไมตรี ตกลงทำความร่วมมือทลายแหล่ง ผู้ค้า ผู้ผลิต พ่อค้ารายใหญ่ในประเทศนั้น ไม่ต้องรอให้ส่งมายังประเทศไทย

สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า ประเทศอื่น ๆ มียาบ้าเม็ดเดียวก็ประหารชีวิต ต้องหนีมาประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้าน มาผลิตยาบ้า ยาเสพติด นั่นเป็นปัญหา กฎหมายของประเทศไทยเป็นกฎหมายที่อ่อน บางครั้งจับไปเพียงวันเดียวก็ปล่อย หรือประกันตัวออกมา ขอให้รัฐมนตรีและรัฐบาลช่วยตรวจสอบทั่วประเทศว่า จับผู้ค้าได้กี่คน เพราะประชาชนร้องเรียนกันมามากตลอดทุกจังหวัด เช่น อุดรธานี ผู้เสพมีมาก การบำบัดรักษาก็ไม่เพียงพอ 

ร้องให้นำเงิน ฌกส.อสม.ออกมาใช้ก่อนได้

"อสม. ก็ออกมาช่วยกันในการไปรักษา ไปฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้าน ไม่ต้องส่งไปค่ายทหาร ทุกคนในหมู่บ้านต้องดูแลลูกหลานของเราเอง" นายภูมิพัฒน์ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและว่า อสม.ทำงานเหนื่อยมาก มาช่วยตรวจปัสสาวะในแต่ละหมู่บ้าน ก็ร้องเรียนมาว่า เงินเสียชีวิตที่ได้ (เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.หรือเงิน ฌกส.อสม.) ขอให้ รมว.สธ. มีนโยบายมาแบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท ก่อนได้หรือไม่ เหลือเพียง 100,000 บาทไว้ประกอบพิธีฌาปนกิจในช่วงบั้นปลายของชีวิต

สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงการฟอกไตด้วยว่า 

"คนที่อยู่ห่างไกลร้อยกว่ากิโลเมตร จะไปฟอกไตต้องเสียค่ารถ ค่าเดินทาง หนสุดท้ายไปไม่ได้ต้องเสียชีวิต ผมขอให้ สธ.ได้ดูแลประชาชนในชนบทห่างไกล ประชาชนในชายแดน เพราะเดือดร้อนขึ้นมา ขอถาม รมว.สธ.ว่ามีมาตรการอย่างไร ที่จะดูแลผู้ติดยาเสพติดและเร่งรัด งบประมาณให้หน่วยงานต่าง ๆ ดูแลประชาชนที่เดือดร้อน เพราะปัจจุบันผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่น้อยมาก จะไม่ทราบถึงปัญหาประชาชนในหมู่บ้าน แต่ สส.จะทราบปัญหา" นายภูมิพัฒน์ กล่าวด้วยเสียงสะอื้น 

รมว.สธ.ชี้ เร่งดูแลผู้ป่วยยาเสพติด หากยึดทรัพย์ผู้ค้าได้ ผู้ป่วยจะลดน้อยลง

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.และภาคีเครือข่าย จัดทำระบบริการและบำบัดยาเสพติดให้เพียงพอต่อการบริการประชาชน โดยมีรายละเอียดและการวิเคราะห์ ดังนี้  ความต้องการในการบำบัดยาเสพติด ผู้ที่ควรได้รับการดูแลในระบบประมาณ 410,000 คน จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ปี 2566 ในส่วนหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ดังนี้ 

ศูนย์คัดกรอง 5,690 แห่ง มีทุกตำบล รพ.สต. และในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง

สถานพยาบาลยาเสพติด 1,081 แห่ง รองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 300,000 คน ส่วนของผู้ป่วยใน IPD 14,140 เตียง หรือรับได้ประมาณ 160,000 คน ภาครัฐในส่วนของ สธ.มี 932 แห่ง 10,568 เตียงครอบคลุมทุกอำเภอ 

ภายนอก สธ. 149 แห่ง จำนวน 3,572 เตียง ส่วนนี้มีทั้งโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 

สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 164 แห่ง อยู่ภายใต้ กระทรวงกลาโหม 52 แห่ง กระทรวงมหาดไทย 29 กรมราชทัณฑ์ 9 แห่ง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 28 กทม 1 และมีอีก 1 แห่ง

ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 4,680 แห่ง ในส่วนนี้เป็นหน่วยงานของ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะดูแลเรื่องการหางานทำ การศึกษา และเรื่องอื่น ๆ ทั้งการลงทุนและอาชีพต่าง ๆ 

ส่วนผลของการดำเนินการ สอดรับกับความต้องการในดำเนินการยาเสพติดของประเทศไทย ในปี 2568 ผลการบำบัดยาเสพติดผู้ป่วยทุกประเภท 198,868 ราย ส่วนนี้ผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือสีแดง มีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด 22,000 คน สีส้ม อาการไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิด 8,551 คน สีเหลืองอาการวิตกกังวล ไม่รุนแรง ซึมเศร้า 4,886 คน ที่เหลือเป็นสีเขียว ผู้เสพที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ 163,000 คน รวมทั้งหมด 198,868 คน

ส่วนที่เป็นคำถามเรื่องศักยภาพ รองรับผู้ป่วยของ สธ. ศักยภาพรองรับผู้ป่วย 10,568 เตียง มีผู้เข้ารับการบำบัด 6,000 ราย คิดเป็นผู้มารับการบำบัด 60% มีเตียงว่าง 4,681 เตียง จำนวนผู้ป่วยที่มีความหนาแน่นมาก ๆ หรือผู้ป่วยล้นนั้นมีจริง ตามที่ได้ตั้งคำถาม ก็มีจังหวัดในภาคอีสาน 

สธ. กำลังขยายเตียง โดยเฉพาะจังหวัดโคราชเพิ่มอีก 30 เตียง จังหวัดสุรินทร์เพิ่มอีก 10 เตียง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพิ่มจำนวนอีก 10 เตียง 

"แต่ในจังหวัดนครพนม มีผู้ป่วยยาเสพติด ยังไม่ล้น แต่เกือบแล้วประมาณ 90% ที่ถามกระทู้ก็ถูกต้อง เราก็พยายามแก้ไข โดยเปิดมินิธัญญารักษ์ เพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งจะมีเตียงเพิ่มขึ้นมาอีก 8 เตียง ส่วนตรงนี้ก็จะแก้ไขปัญหา"

ในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม ในปีงบประมาณที่แล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการเกี่ยวกับการยึดทรัพย์เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิม ที่มีมาตรการในเรื่องการป้องกันตามชายแดนต่าง ๆ ตามที่ผู้คนพูดกัน ป้องกันหรือปราบปราม ผู้ค้ายา อย่างในภาคตำรวจ 1 ภาค ตั้งเป้าไว้แค่ 50 คดี ซึ่งดำเนินการและมีผลเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ ถ้าหากว่า ได้ดำเนินการตัวชี้วัดอย่างเต็มที่แล้วจะเห็นผล ตัวชี้วัดเพิ่งเริ่มดำเนินการ หากตั้งตัวชี้วัดไว้ภาคละ 500 คดี ปีหนึ่งประมาณ 6 พันคดีที่ดำเนินการ เราไม่ต้องหาเตียงเพิ่ม เพราะคนขายถูกจับหมดแล้ว 

"ผมมั่นใจว่า เตียงที่ไม่พอกับการบำบัดจะหมดไป เพราะถ้าเราคิดเรื่องบำบัดมันปลายน้ำ ถ้าไม่ทำต้นน้ำ ปัญหาก็จะรุมเร้ามาก" รมว.สธ. กล่าว

"ส่วน อสม.เอาเงินมาใช้ก่อนได้ไหม จริง ๆ ธนาคารให้กู้แล้ว แต่ผมยังไม่อยากให้กู้ เพราะดอกเบี้ยยังสูง ร้อยละ 8 ต่อปี ผมขอต่อให้ได้ร้อยละ 6 เพราะไม่อยากให้คนมีรายได้น้อย มีค่าป่วยการแค่ 2,000 บาท มาเสียดอกเบี้ยสูง และก็ทำงานให้ประเทศ ช่วยแก้ปัญหาในวันข้างหน้า ผมกำลังจะทำเรื่อง เอ็นซีดี อย่างที่พูดเรื่องฟอกไต ผมไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเอ็นซีดีเพิ่มขึ้น ให้มีเท่าเดิม เพราะวันนี้ต้องใช้เงินกับการฟอกไตกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท เพราะมีผู้ป่วยมากขึ้น" นายสมศักดิ์ กล่าว