ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ยอดผู้บาดเจ็บเพิ่ม 119 ราย สะสม 1,952 ราย กระทบเพิ่ม 2 สถานพยาบาล "ตาก-พิจิตร" สธ.เผย จ.อ่างทอง น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ แต่ยังไม่กระทบ ปชช. เตรียมปรับระบบรายงานข้อมูลกลุ่มเปราะบางในศูนย์อพยพฯ พร้อมจัดทีมดูแลด้านสุขภาพจิต พบ! เครียดจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 50 ราย สะสม 1,230 ราย  

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 14/2567 ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมง อ.วิเศษชัยชาญ และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ แต่ยังไม่กระทบการใช้ชีวิตของประชาชน ภาพรวมยังมีสถานการณ์ใน 18 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเพิ่มเติม บาดเจ็บเพิ่ม 119 ราย สะสม 1,952 ราย สถานพยาบาลได้รับผลกระทบเพิ่ม 2 แห่ง ที่ จ.ตาก และ จ.พิจิตร รวม 85 แห่ง ยังคงปิดบริการ 3 แห่ง คือ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ. เชียงราย รพ.สต.ป่าแมต จ.แพร่ และ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร นอกจากนี้ มีการเปิดศูนย์พักพิงเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่ จ.สุโขทัย รวมเป็น 119 แห่ง มีผู้รับบริการรวม 649 ราย ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น 62 ราย สะสม 29,132 ราย 

“ตั้งแต่ 17 สิงหาคม 2567 ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม ได้มีการจัดทีมดูแลด้านสุขภาพจิตควบคู่กับการดูแลสุขภาพกายอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินเพิ่มขึ้น 6,101 ราย สะสม 39,844 ราย พบผู้มีความเครียดสูงเพิ่มขึ้น 50 ราย สะสม 1,230 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 ราย สะสม 30 ราย ซึ่งทุกรายได้รับการช่วยเหลือดูแลตามกระบวนการทางการแพทย์แล้ว” นพ.วีรวุฒิ กล่าว

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า วันนี้ได้มีการพิจารณาปรับระบบการรายงานข้อมูลการคัดกรองและประเมินสถานการณ์กลุ่มเปราะบางในศูนย์พักพิงชั่วคราวใน 12 เขตสุขภาพ ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนดูแลกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สสจ. /สสอ./ผู้ดูแลศูนย์พักพิงฯ จะจัดทำแบบประเมินกลุ่มเปราะบางทั้งหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ พร้อมประเมินสุขภาพทุกกลุ่มวัย รวมทั้งประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และรายงานเข้าระบบเป็นประจำทุกวัน ก่อนเวลา 12.00 น. ซึ่งทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่าน Dashboard (ระบบฐานข้อมูลกลางกรมอนามัย) 

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงช่วง 30 กันยายน – 3 ตุลาคม นี้ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากอากาศแปรปรวน พายุฝนฟ้าคะนอง ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้บางส่วน รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะน่าน แพร่ และสุโขทัย