“สมศักดิ์” รับยื่นหนังสือ “เครือข่ายผู้ป่วยโรคกล้าเนื้ออ่อนแรง SMA” ขอร่วมบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บริการรักษาในระบบบัตรทอง เหตุเป็นโรคหายากและค่าใช้จ่ายสูง พร้อมรับยื่นหนังสือจาก “เครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ” ขอให้แก้ปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรางสาธารณสุข ได้รับยื่นหนังสือจากเครือข่ายผู้ป่วยก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สปสช. ร่วมรับยื่นหนังสือจากเครือข่ายผู้ป่วย
ในครั้งนี้ได้เป็นการรับยื่นหนังสือจาก นายอำนาจ ภู่มาลา เครือข่ายผู้ป่วย SMA พร้อมกลุ่มตัวแทนผู้ปกครองเครือข่ายผู้ป่วย SMA โดยนายอำนาจ กล่าวว่า การยื่นหนังสือในวันนี้เพื่อขอให้ สปสช. พิจารณาเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในกรณีผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA (โรคหายากในเด็ก) ซึ่งเป็นประเด็นที่เครือข่ายผู้ป่วย SMA ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก และได้สะท้อนปัญหาการเข้าถึงการรักษารวมถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคนี้
ซึ่งโรค SMA จัดอยู่ในกลุ่มโรคหายากและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากนับล้านบาท โดยเฉพาะค่ายาที่ผู้ป่วยต้องใช้ จึงได้จัดทำเป็นข้อเสนอภายใต้ “โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (UCBP) เพื่อให้ผู้ป่วยโรค SMA ได้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมและมีระบบประคับประคองให้ครอบครัวสามารถไห้การดูแลผู้ป่วยได้ ลดความกังวล ซึ่งผู้กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก
อย่างไรก็ตามจากการติดตามอย่างต่อเนื่อง พบว่าในปีงบประมาณ 2568 นี้ทาง สปสช. ก็ยังไม่มีรายการสิทธิประโยชน์กรณีของโรค SMA เพิ่มเติมเข้าสู่ระบบบัตรทองแต่อย่างใด จึงเข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. วันนี้ เพื่อให้ช่วยผลักดันให้เกิดการดูแลผู้ป่วย SMA อย่างเท่าเทียมกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังได้รับยื่นหนังสือจากเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายพลังผู้สูงวัย นำโดย นายสุภวัฒน์ เสมอภาค เครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ เพื่อขอให้แก้ไขกรณีปัญหาการเข้าถึงการรับบริการของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้แผ่นรองซับและผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เนื่องจากในการดำเนินการสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ ภายใต้ระบบบัตรทอง โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) ที่ผ่านมายังมีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงบริการนี้อยู่
ทั้งนี้ นายสุภวัฒน์ ระบุว่า อยากให้มีการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับรู้สิทธิในการรับบริการผ้าอ้อมฯ เพิ่มความชัดเจนของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ การปรับเงื่อนไขการแจกจ่ายผ้าอ้อมเพื่อให้แต่ละพื้นที่มีหลักเกณฑ์เดียวกัน เป็นต้น นอกจากนี้ขอให้มีการปรับราคากลางในการจัดซื้อผ้าอ้อมฯ เนื่องจากตามราคากลางที่กำหนดในปัจจุบันทำให้ กปท. ในหลายๆ พื้นที่ไม่สามารถจัดซื้อได้ รวมทั้งขอให้มีการกระตุ้นให้ อปท. ทั่วประเทศจัดทำโครงการสิทธิผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ ซึ่งปัจจุบันยังมี อปท. จำนวนมากที่จะไม่ได้ดำเนินการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ได้รับทราบจากเครือข่ายผู้ป่วยในวันนี้ ทั้งเครือข่ายผู้ป่วยโรค SMA ที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษาและเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ เพื่อขอให้แก้ไขกรณีปัญหาการเข้าถึงการรับบริการของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้แผ่นรองซับและผ้าอ้อมผู้ใหญ่ นับเป็นเสียงสะท้อนที่มาจากประชาชนซึ่งเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงบริการสุขภาพโดยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ซึ่งมีความยินดีที่จะรับเรื่องไว้ โดยจะมอบให้ สปสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการดำเนินการด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประสานในรายละเอียดที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การกำหนดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองฯ สปสช. มีกระบวนการในการจัดสิทธิประโยชน์ที่คำนึงถึงความครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงงบประมาณทั้งระบบ ซึ่งก่อนหน้านี้ สปสช. ก็ได้มีการบรรจุสิทธิบริการในกลุ่มโรคหายากมาแล้ว โดยในส่วนของโรค SMA คงต้องขอดูในรายละเอียดก่อน รวมถึงความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับในส่วนของผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการทำโครงการฯ ในหลายพื้นที่แล้ว แต่ในอีกหลายๆ พื้นที่ที่มีการจัดตั้ง กปท. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้จะเร่งกระตุ้นทำความเข้าใจกับท้องถิ่นต่อไป รวมถึงการดูในหลักเกณฑ์การจัดซื้อผ้าอ้อมฯ และราคาจัดซื้อที่ได้รับแจ้งเข้ามา เพื่อให้สิทธิประโยชน์นี้ เป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างแท้จริง
- 27 views