ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะเครียดจากที่ทำงาน กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (สวร.) เปิดเผยภายในงานประชุมวิชาการ Mindfulness in Modern Organization ภายใต้โครงการ จิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กร: สู่ Model การสร้างความยั่งยืน ในสังคมไทย เมื่อเดือน ก.ย.2567 ที่ผ่านมา 

โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจสุขภาพจิตพนักงานไทย ปี 2566  พบ  40% มีความเครียดสูง สาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เช่น การทำงานจากที่บ้าน และความไม่แน่นอนทางธุรกิจ สอดคล้องกับรายงานผลการประเมินสุขภาพจิตตนเอง 850,000 คน โดยกรมสุขภาพจิต ระหว่างเดือน ต.ค. 2566 - เม.ย. 2567 พบว่า ผู้เข้ารับการประเมินเสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.2%  เครียดสูง 15.4% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.6%

แน่นอนว่า ความเครียดในที่ทำงาน รวมถึง “บุคลากรสาธารณสุข” เป็นหนึ่งในกลุ่มคนทำงานที่มีความเครียดสูง ทั้งจากวิชาชีพ จากการบริการ การสื่อสารพบปะผู้ป่วย ญาติ  รวมถึงปัญหาผู้ร่วมงาน ยิ่งล่าสุดข่าวกรณีเภสัชกร จบชีวิตลงจากภาวะความกดดันในที่ทำงาน การสื่อสารของหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชา กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 2567 ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังใจ ก้าวไปพร้อมกัน” (Hopeful Hearts, Stronger Minds) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา   นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus  ถึงแนวทางการสื่อสารระหว่างหัวหน้างานและผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อลดภาวะกดดัน ความเครียด ว่า

I message 

คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ I message คือ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์  การบอกความคิด ความรู้สึกของผู้พูดแทนการใช้อารมณ์หรือคำสั่ง  ร่วมกับการสื่อสารที่การแสดงถึงความเข้าใจ ความเห็นใจมากขึ้น อย่างผู้บังคับบัญชา หากกังวลใจเรื่องผลงาน โดยหลักการ จะไม่วิพากษ์ที่คน แต่จะให้คำแนะนำ ชื่นชมระดับหนึ่ง และพูดถึงผลงาน ไม่ดูที่ตัวบุคคล หากทำงานผิดพลาด ไม่ควรซ้ำเติม หรือใช้คำพูดรุนแรง โดยเน้นการเข้าอกเข้าใจก่อน จากนั้นค่อยพูดว่า อยากให้เติมอะไรในผลงาน ต้องไม่วิพากษ์ที่คน ดุด่า ตำหนิ หรือพูดจากรุนแรง

ไล่ "ลาออก" ไม่ควรพูด

ส่วนคำพูดที่หัวหน้างาน หรือผู้บังคับบัญชา ไล่ให้ลูกน้องไปลาออกนั้น นพ.กิตต์กวี แนะว่า ไม่ควรพูด เพราะมีทางออกอีกมากมาย ที่จะให้เพื่อนร่วมงานได้ปรับวิธีการทำงานร่วมกันมากกว่า  ทั้งนี้ การทำงานไม่ได้มีขาว กับ ดำ  เราควรมองหลายๆมุม ว่า มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ เช่น ถ้าเครียดมาก บางครั้งประสิทธิภาพการทำงาน ดูลดลงไปมาก   อาจจะให้พักผ่อนเป็นระยะหรือชวนกันรับประทานอาหารด้วยกัน มีกิจกรรมสร้างความ สัมพันธ์กันในกลุ่มงาน เป็นการทำงานในลักษณะของครอบครัวเอื้ออาทรเห็นใจกันและกันก็จะทำให้เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

สำหรับคำพูดไหนที่ระดับ “หัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชา” ควรใช้กับ “ลูกน้อง” นพ.กิตต์กวี ยกตัวอย่าง ว่า “ช่วงนี้งานทำให้พวกเราเหนื่อยกันมาก หากมีอะไรที่อยากให้ช่วยก็บอกได้..” โดยต้องเน้นการสื่อสารที่เข้าใจก่อน ยิ่งช่วงเจนเนอเรชั่นหลังๆ ยิ่งต้องสื่อสารอย่างเข้าใจ  เพราะคนทำงานทุกคนก็ตั้งใจทำงานกันอยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่เราต้องการ ก็ควรเน้นการสื่อสารที่สร้างสรรค์

“โดยหลักการควรมีหน่วยให้คำปรึกษาปัญหาของพนักงาน อย่างแผนกบริหารบุคคล หรือ HR ต้องมีการพัฒนาให้สามารถแนะนำให้คำปรึกษาพนักงานได้ เรียกว่า จิตวิทยาองค์กร”

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ปัญหาเรื่องงานไม่ค่อยมี แต่มักจะเกิดจากบุคคล ทั้งตัวเอง และรอบข้าง ทั้งปัญหาครอบครัว การเงิน การแก้ที่งานอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุม ต้องแก้ปัญหาของตัวบุคคลเองด้วย ซึ่งผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้างาน อาจช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ ทางพนักงานอาจต้องปรับตัวในระดับหนึ่ง หาความสมดุลให้ได้

การทำงานร่วมกับ Gen ใหม่

ส่วนคำว่า คนรุ่นใหม่ ความอดทนงานมีน้อยจริงหรือไม่นั้น นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ความอดทน วัดกันยากหน่อย แต่คน Gen ใหม่อาจต้องการทำงานแบบมีความอิสระ หมายถึงไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องวิธีการมากนัก แต่เน้นไปที่เป้าหมาย อย่างคนรุ่นใหม่จะชอบขอเป้าหมาย เป็นต้น ส่วนบาง Gen จะแบบสอนว่าต้องทำแบบนี้ๆ ซึ่งก็จะเกิดข้อขัดแย้งกันได้

เมื่อถามย้ำว่า บางกรณีมีภาวะเครียด หรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่เดิม เพื่อนร่วมงานจะมีวิธีสังเกตหรือวิธีการสื่อสารอย่างไร.....

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ส่วนใหญ่ต้องสังเกตว่า สิ่งที่เขาเคยทำเคยชอบลดลง สมาธิความจำเปลี่ยนไป ต้องคอยสังเกตเรื่อยๆ อย่างจุดที่ไปกระตุ้นคือ การทำให้เขารู้สึกว่าถูกต่อว่า  เชื่อว่าทุกคนตั้งใจทำงาน เพียงแต่เมื่อถูกต่อว่าเรื่อยๆ ใช้ถ้อยคำรุนแรงอาจรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ โทษตัวเองมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้