ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เอาใจคนกรุง ผุดหน่วยบริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 10 จุดสถานีรถไฟฟ้า เริ่มอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แห่งแรก  10 ต.ค.นี้ ขณะที่ คลินิกเวชกรรมเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ กระจายปั้มน้ำมัน ทั้งปตท.และบางจาก  มีเทเลเมดิซีนในโรงเรียน จัดตู้ห่วงใยตั้งใน 5 ชุมชนบริการแบบใกล้บ้าน อำนวยความสะดวก ลดแออัดในรพ.

 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปิดเผยภายในงานคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 46 ที่มีการดำเนินการโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ว่า การบริการจะมุ่งเน้นใกล้บ้านเป็นสำคัญ โดยสปสช.ได้จัดบริการที่เรียกว่า หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ รองรับคนกรุงเทพฯโดยขณะนี้ในกทม. มีประมาณ 1,500 คลินิก ได้แก่ มีคลินิกแลป 32 แห่ง คือ ทำการเจาะเลือด ไม่ต้องไปโรงพยาบาล(รพ.) หรือโทรมาสายด่วน 1330 หากติดเตียงจะประสานเจาะเลือดที่บ้าน คลินิกเวชกรรม 189 แห่ง คลินิกทันตกรรม 220 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัด 24  แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 31 แห่ง ร้านยา 914 แห่ง มีคลินิกพยาบาลในกทม. 9 แห่ง เริ่มให้บริการแล้ว

“อย่างในกทม.ให้บริการประมาณ 220,000 คน อัตราการบริการ 5 แสนกว่าครั้ง แต่วันนี้(27 ก.ย.67) เป็นวันคิกออฟเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า สปสช.ได้จัดบริการที่เรียกว่า หน่วยบริการนวัตกรรม มี 7 ประเภท หรือ 7 วิชาชีพมาให้บริการ คือ  คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกการแพทย์แผนไทย และคลินิกกายภาพบำบัด รวมถึง ร้านยา GPP ที่เป็นร้านยาคุณภาพ ซึ่งยังมีนอกเหนือจาก 7 วิชาชีพอีก เนื่องจากกรณีผู้ป่วยติดเตียง หากมีไข้ แม้จะมีคลินิกใกล้ๆ ก็ยังค่อนข้างยากในการเดินทาง ขณะนี้สปสช.มีระบบเทเลเมดิซีน หรือการแพทย์ทางไกล โดยสแกนคิวอาร์โค้ด พบแพทย์ผ่านออนไลน์ ซึ่งจะสอบถามอาการและวินิจฉัย หากจำเป็นต้องรับยาจะส่งให้ถึงบ้าน

“ในกทม.มีความพิเศษ อย่างในโรงเรียนเมื่อเด็กป่วยจะไปห้องพยาบาล จะมีคุณครูพยาบาลมาดูแล ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้จบพยาบาลโดยตรง ดังนั้นบางอย่างอาจต้องปรึกษาแพทย์ จึงมีการจัดระบบเทเลเมดิซีนในห้องพยาบาลของโรงเรียน ขณะนี้มี 100 แห่งในโรงเรียนกรุงเทพฯ จะมีเทเลเมดิซีนที่ห้องพยาบาลในโรงเรียน หากสนใจรายละเอียดสอบถามทางสายด่วน 1330 ได้” รองเลขาธิการสปสช. กล่าว

ในกลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือจะทำอย่างไร มี “ตู้ห่วงใย” มีกล้องสามารถใช้บริการได้ โดยใช้แค่บัตรประชาชน ซึ่งจะตั้งในชุมชนในกทม. 5 แห่ง โดยมีกติกาชุมชนช่วยกันดูแลเครื่อง พบแพทย์โดยไม่มีเครื่องมือก็ได้  อันนี้เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจาก 7 คลินิกวิชาชีพ อีกทั้ง ยังมีรถโมบายเคลื่อนที่ ทั้งรถทันตกรรม รถเวชกรรมเคลื่อนที่ให้บริการอีกเช่นกัน

“สปสช.จะจัดบริการตั้งตู้เทเลเมดิซีนบนรถไฟฟ้าด้วย โดยจะตั้งไว้ ที่ สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แห่งแรก เริ่มวันที่ 10 ตุลาคมนี้ และจะทยอยเปิดเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปีนี้รวม 10 แห่ง  นอกจากนี้ ยังเปิดในปั้มน้ำมัน เรียกว่าคลินิกโอบอ้อม ในปั้มปตท. และปั้มบางจากอีกเช่นกัน โดยขณะนี้เปิดแล้ว 10 แห่ง ภายในสิ้นปีจะเปิดรวม 30 แห่งทั่วประเทศ” รองเลขาธิการสปสช.กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : นายกฯ คิกออฟ '30 บาท รักษาทุกที่ กทม.' บริการปฐมภูมิ สิ้นปีนี้ครบทั่วประเทศ