คณะแพทย์ช่วยเพื่อนแพทย์และประชาชน บุกสธ.ยื่นหนังสือถึง “แพทองธาร” นายกฯ ผ่าน รมว.สาธารณสุข ถึงเวลาแก้วิกฤติระบบสุขภาพไทย งบประมาณขาดแคลน รพ.ขาดทุน  จี้รัฐเพิ่มงบฯ หากไม่ทำ ชูทางเลือก “ร่วมจ่าย” เหมือนญี่ปุ่น ยุโรป  พร้อมเพิ่มค่าตอบแทน ลดภาระงาน อย่าคิดแค่ผลิตแพทย์เพิ่ม แต่ต้องให้คงอยู่ในระบบ เหตุหากงบบัตรทองขาด! กระทบบริการ บุคลากรงานเพิ่ม เกิดภาวะสมองไหล สุดท้ายระบบสาธารณสุขพังทลาย

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คณะแพทย์ช่วยเพื่อนแพทย์และประชาชน(ชพพป.)  โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ หัวหน้าคณะแพทย์ช่วยเพื่อนแพทย์และประชาชน(ชพพป.)  พล.ต.ต.นพ.พัฒนา กิจไกรลาส รองหัวหน้า ชพพป. นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ เลขานุการ ชพพป. และพญ.สุธัญญา บรรจงภาค รองเลขานุการ ชพพป. เข้ายื่นหนังสือถึงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยผ่าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   เพื่อเรียกร้องขอให้แก้ปัญหา “วิกฤติระบบสาธารณสุขของชาติ”  โดยมี นพ.วัฒน์ชัย จรูญวรรธนะ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าวแทน

เรียกร้องแกัวิกฤติสาธารณสุข เสนอ 3 ข้อ

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อขอให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านระบบสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอต่อความเป็นจริง เห็นได้จากข่าว รพ.หลายแห่งออกมาประกาศถึงปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือภาวะขาดทุน ซึ่งหากไม่ดำเนินการอะไร งบประมาณยังเป็นเช่นนี้ เกรงว่าสุดท้ายระบบจะอยู่ไม่ได้ จึงมีข้อเสนอดังนี้

1.อนุมัติจ่ายเงินงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล ในระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น และบริหารจัดการเงินที่จ่ายให้โรงพยาบาลให้เพียงพอกับการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล  กรณีที่มีความจำเป็นอาจต้องให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายด้วย เพื่อให้โรงพยาบาลของรัฐยังคงมีเงินเพียงพอ ที่จะให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.เปลี่ยนนโยบายด้านสาธารณสุข โดยเน้นให้มีการสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดภาระการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เป็นวาระแห่งชาติ  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย รับประทานอาหารสุขภาพ และลดความเครียด งดบุหรี่ กัญชา กระท่อม ยาบ้า งดหรือลดเครือ่งดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนมีความสุข มีสุขภาพดี ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่อยู่ในภาวะวิกฤติลดลงได้ในที่สุด

3.เพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ให้เหมาะสม และปรับภาระงานไม่ให้ล้นเกิน เพื่อให้แพทย์มีเวลาเพียงพอในการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยความละเอียดรอบคอบมากขึ้น และมีเวลาพักผ่อนตามสมควร รวมทั้งมีมาตรการลดความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบราชการจำนวนมาก ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จี้รบ.ประชุมทุกหน่วยตีแผ่งบสาธารณสุข

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า  อยากให้รัฐบาลประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาแบตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขทั้งหมดว่า จริงๆเป็นเท่าไหร่ จะลดลงตรงไหน จะเพิ่มตรงไหน และต้องจ่ายให้กับรพ.เท่าไหร่จึงจะอยู่ได้ เพื่อให้สามารถรักษามาตรฐานของการรักษาพยาบาล แต่หากรัฐบาลบอกว่า ไม่ไหวแล้ว เงินมีแค่นี้ ก็อาจต้องให้ประชาชนร่วมจ่าย ซึ่งการร่วมจ่ายมีวิธีมากมาย ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป มีร่วมจ่ายเยอะ ระบบก็ไปได้ แต่หากไทยไม่ทำ สักวันระบบจะพังทลาย หมอจะรู้สึกว่า เงินที่ให้มาดูแลผู้ป่วยไม่พอ ทางรพ.อาจตัดงบพิเศษการตรวจอื่นๆ หรือยาดีๆอาจถูกลดก็เป็นได้ แบบนี้หมอก็ไม่สบายใจ ผิดมาตรฐานรักษา และหมอก็มีความเสี่ยง อาจถูกฟ้องได้ หมอก็จะหนี หลุดออกจากระบบราชการ

ภาระงานมาก หมอลาออกเยอะ

“เรื่องภาระงานหมอสำคัญมาก ตอนนี้แพทย์ลาออกเยอะ ไม่ใช่ว่าทำงาน 24 ชั่วโมง ให้พัก 4 ชั่วโมง อย่างน้อยๆต้อง 8 ชั่วโมง และค่าตอบแทนต้องเหมาะสม เช่น ค่าเวรฉุกเฉิน 1,200 บาทต่อ 8 ชั่วโมง บางครั้งหมอไม่ได้ทานข้าว ซีพีอาร์คนไข้ 10 กว่ารายก็มี เป็นเรื่องที่หมอทนไม่ได้ เฉลี่ยชั่วโมงละ 150 บาท และเงินตรงนี้ควรเป็นเงินจากงบประมาณ ไม่ใช่เงินจากเงินบำรุง ซึ่งรพ.ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว และเมื่อหมอลาออก คนที่เหลือก็หนักขึ้นอีก สุดท้ายระบบจะล้มตามกันไป กลายเป็นโดมิโนออกตามๆกัน เรื่องนี้จึงขอเสนอให้ท่านนายกฯ และท่านรมว.สธ. รีบแก้ไขตามที่เสนอข้างต้น และเราไม่จำเป็นต้องผลิตแพทย์เพิ่ม ควรทำให้พวกเขาคงอยู่ในระบบ หรือให้นำแพทย์เกษียณมาช่วยงานอีกครั้ง ท่านยังทำได้”   ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าว

 

ร่วมจ่าย ทางเลือกสุดท้าย

เมื่อถามกรณีมีการประมาณการหรือไม่ว่า หากไม่ทำอะไรระบบสาธารณสุขจะล้มละลายอีกกี่ปี...

พ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ เลขานุการ ชพพป. กล่าวว่า คงไม่สามารถประมาณการว่าระบบสาธารณสุขจะล้มละลายเมื่อไหร่ แต่ที่มาเสนอ เพราะมองว่า หากเงินไม่พอ จะไปต่อไม่ได้ แต่ด้วยเงินเป็นทรัพยากรจำกัด จะทำอย่างไรให้พอ ง่ายที่สุด คือ 1.ต้องมาดูว่าเงินที่จ่ายไปใช้ประโยชน์เต็มที่หรือไม่ ไม่ใช่ว่าใช้ 100 แต่ใช้แค่ 40 ก็ต้องมาดูว่าติดตรงไหน และ 2.ลดรายจ่าย ด้วยการส่งเสริมสุขภาพประชาชน อาจมีแนวคิดเป็นโครงการ ไม่เจ็บป่วยได้แต้ม เป็นแนวคิดเชิงบวก แต้มนั้นจะนำไปทำอะไรต่อ อย่างไรก็ตาม หากดูแล้วเงินไม่พอก็ต้องทำอย่างไร 1.เติมเงิน และ2.หากไม่พอก็ต้องให้ประชาชนช่วยในเรื่องร่วมจ่าย แต่ก็มีหลายวิธี ซึ่งไม่ได้บอกว่า ต้องร่วมจ่ายเลย มีขั้นตอนอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่ล่าสุด รมว.สาธารณสุข ระบุว่าให้เลิกคิดเรื่อง “ร่วมจ่าย”  นพ.โชติศักดิ์ กล่าวว่า ร่วมจ่าย เป็นทางเลือกสุดท้าย โดยมีขั้นตอนก่อนหน้านี้ คือ บริหารจัดการเงินก่อน ลดค่าใช้จ่าย หรือเติมเงิน

หมอเสี่ยงถูกฟ้อง

พล.ต.ต.นพ.พัฒนา กิจไกรลาส  รองหัวหน้าคณะแพทย์ฯ กล่าวว่า  เมื่องบประมาณไม่เพียงพอ สุดท้ายหน่วยบริการจะไปลดรายจ่าย และอาจกระทบการบริการได้ในอนาคต แพทย์ก็ลำบากใจ บุคลากรต่างๆ อยู่ด้วยความไม่สบายใจ เพราะเราถูกฝึกให้ดูแลผู้ป่วยดีที่สุด สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมเสี่ยงให้แพทย์ถูกฟ้อง สุดท้ายบั่นทอนกำลังใจคนทำงาน เกิดปรากฎการณ์สมองไหล คนออกจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมายื่นข้อเรียกร้องต่อนายกฯ ต่อรมว.สธ. ต่อรัฐบาลในครั้งนี้