ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"วิโรจน์" ซัด รบ. ไร้ความชัดเจนแก้ยาเสพติด เปิดตัวเลขผู้เสพติดอาจมีมากถึง 2 ล้านคน แต่เข้าสู่กระบวนการบำบัดเพียง 143,573 คน ขาดงบฯ "ชุมชนล้อมรักษ์" จี้นายกฯ จับ "ตัวใหญ่" ไม่ใช่จับตัวเล็กมาทำยอด ผู้เสพต้องได้รับการบำบัด ผู้ค้าต้องตามยึดทรัพย์ให้หมด

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกรัฐสภา กล่าวในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครังที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นความชัดเจนใดๆในการแก้ปัญหายาเสพติด ดังนั้นรัฐบาลต้องมุ่งเน้นในการทำงานร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่ายในการพาผู้เสพเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูแบบสมัครใจ ถึงจะเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดที่มีประสิทธิผลและดีกว่า รัฐบาลต้องใส่ใจกับฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้มากกว่านี้ ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีการส่งเสริมผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดอย่างสมัครใจจริงจัง 

ขีดความสามารถในการบำบัดแบบผู้ป่วยนอกยังเหลืออีกมาก แต่ประสิทธิผลยังอยู่ในระดับต่ำ  ทั้งนี้จากการหารือกับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข และ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) มีการประเมินว่าผู้เสพติดทั้งประเทศอาจมีมากถึง 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีผู้เข้าสู่กระบวนการบำบัดเพียงแค่ 143,573 คน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่ารัฐบาลยังขาดการจูงใจให้ผู้ติดยาเสพติดรู้สึกปลอดภัยและสมัครใจให้เข้าบำบัดฟื้นฟู 

ขาดการสนับสนุนงบประมาณในโครงการ "ชุมชนล้อมรักษ์"

รวมถึงขาดการสนับสนุนงบประมาณในโครงการ "ชุมชนล้อมรักษ์" และไม่ให้ความสำคัญกับชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมกับการติดตามการบำบัดฟื้นฟูของผู้ติดยาเสพติดในชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้การบำบัดฟื้นฟูแบบผู้ป่วยนอก รวมทั้งกรณีที่ศาลสั่งให้รอลงอาญาแล้วรายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติ มีอัตราเข้ารับการบำบัดและมารายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติที่ต่ำเพราะหลังจากไปรับยานัดหมายกับคุณหมอเมื่อผู้ติดยาออกจากศูนย์บริการสาธารณสุข ยาก็ไม่กิน นัดก็ไม่มา ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่มีกระบวนการในการติดตามให้ผู้ติดยาเสพติดกลับมารายงานตัวและกลับเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

คอขวดที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดก็คือ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่รองรับการบำบัดฟื้นฟูแบบระยะยาว 2-4 เดือนซึ่งตามรายงานพบว่า มีประสิทธิผลสูงมาก แต่กลับประสบกับปัญหาความขาดแคลน ทั้งจำนวนสถานฟื้นฟูและงบประมาณ

 

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า อย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในสังกัด กทม. แค่ 1 แห่งคือบ้านพิชิตใจ ซึ่งรองรับการบำบัดได้เพียงปีละ 300 คน/ปี สำหรับสถานบำบัดฟื้นฟูนอกสังกัดกทม.มี 2 แห่ง คือ 1. สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ซึ่งมีแค่ 670 เตียง และยังต้องรองรับการบำบัดจากผู้ติดยาจากจังหวัดต่างๆในภาคกลางร่วมด้วย 2. สถานฟื้นฟูกองทัพอากาศรับได้เพียง 60 คน/ปี เท่านั้น นี่หรือคือความจริงจังกับการบำบัดฟื้นฟู

"นี่หรือคือความจริงจังกับการบำบัดฟื้นฟู ยิ่งผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการจิตเวชร่วมด้วยยิ่งมีข้อจำกัด ปัจุบันมีโรงพยาบาลจิตเวชยาเสพติดอยู่ 20 แห่ง มีจำนวนเตียงรองรับ 1,094 เตียง แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการยกระดับมินิธัญญารักษ์ 112 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปอีก 127 แห่ง สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคอีก 6 แต่ก็ยังขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างจริงจัง" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ถ้าต้องการให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ รัฐบาลต้องประกาศว่า สามารถใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ได้ รัฐบาลต้องไม่แค่สั่งอย่างเดียวต้องจัดสรรงบประมาณด้วย อย่างที่สปสช. ได้ของบประมาณ ปี 68 มา 172,697 บาท  แต่สำนักงบประมาณที่ไม่มีความรู้เรื่องการสาธารณสุข ใช้สูตรของตนเองตัดงบประมาณลงเหลือ 4,944 ล้านบาท ทำให้เหลืองบเพียงแค่ 167,753 บาท 

ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลมีการยึดทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม  หากรัฐบาลดำเนินการยึดทรัพย์พ่อค้ารายใหญ่อย่างจริงจัง จะทำให้เงินในกองทุนป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินจากกองทุนฯ ไปสนับสนุนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สนับสนุนการทำงานร่วมกันกับชุมชนในโครงการ “ชุมชนล้อมรักษ์” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“สุดท้ายจะแก้ไขปัญหายาเสพติดท่านนายกต้องจับตัวใหญ่ ไม่ใช่จับตัวเล็กมาตีตราทำยอด ผู้เสพต้องได้รับการบำบัด ผู้ค้าต้องตามยึดทรัพย์ให้หมด ถึงจะแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับประเทศนี้ได้” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวเกี่ยวข้อง : "สมศักดิ์" โต้ "วิโรจน์" ปมเตียงไม่พอบำบัดผู้ติดยาเสพติด