ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ยื่นหนังสือถึง "สมศักดิ์" ติดตามความคืบหน้าการปรับตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" , ปรับค่าตอบแทน ฉ.11 และปรับค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ พร้อมมอบดอกไม้แสดงความยินดีกับ "เดชอิศม์" รับตำแหน่ง รมช.สธ.
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ดร.ริซกี สาร๊ะ นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) และเลขาธิการสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ เข้ายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน 2556 พร้อมทั้งยังเข้ามอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะรัฐมนตรี คนใหม่ อีกด้วย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของหนังสือระบุว่า สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) และสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ พบว่าตั้งแต่ กพ. ประกาศมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง นักสาธารณสุข ในเดือน พฤษภาคม 2566 จนมีผู้มีใบประกอบวิชาชีพที่มีการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุข ในเดือน มีนาคม 2567 เป็นต้นมา สามารถเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุข ไม่ถึง 5000 ราย และยังพบประเด็นปัญหาในการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข การตกหล่นรายชื่อผู้มีใบประกอบวิชาชีพในการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุขอีกเป็นจำนวนมา
จึงขอเสนอแนวทางดังนี้
1. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเฉพาะ
1.1 ขอให้เร่งรัด หลักเกณฑ์ของบุคลากรในรพ.สต สามารถเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุข โดยไม่ติดหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข หนังสือ กพ. ที่ นร.1008/ว 11 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับมติอกพ.กระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้ มีนักสาธารณสุขในโครงสร้างอัตรากำลังการบริหารงานส่วนภูมิภาค ซึ่งรวมรพ.สต.ด้วย และสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน 2556
1.2 ขอให้เร่งรัด พิจารณาหลักเกณฑ์การการปรับสายงานทั่วไปที่มีวุฒิปริญญาตรี และมีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน สู่สายงานวิชาการในตำแหน่งนักสาธารณสุข เช่น การ ยกเว้นหลักเกณฑ์การสอบแข่งขัน อนุโลมให้มีการสอบคัดเลือกภายในหน่วยงาน เพื่อปรับสายงานทั่วไปที่มีวุฒิปริญญาตรี และมีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน สู่สายงานวิชาการในตำแหน่งนักสาธารณสุข หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสมโดยไม่ต้องยุบเลิกตำแหน่ง (เทียบเคียงแนวทางเดียวกับพยาบาลเทคนิคสู่พยาบาลวิชาชีพ แนวทางของเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ สู่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์/เทคนิคการแพทย์ หรือแนวทางของสายงาน/วิชาชีพอื่นที่ปรับจากสายงานทั่วไปสู่สายงานวิชาการ) เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร
1.3 ขอให้เร่งรัดกำหนดตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข /นักสาธารณสุข ในโครงสร้างอัตรากำลังระดับบริหาร(ผอ.รพ.สต.,สสอ. และหัวหน้ากลุ่มงาน ) เนื่องจากนักวิชาการสาธารณสุข /นักสาธารณสุข เป็นตำแหน่งที่ใช้กรอบอัตรากำลังเดียวกัน และเร่งรัดการมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการทำค่างานเพื่อให้นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ ที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน สามารถเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เป็นนักสาธารณสุขชำนาญการพิเศษได้รวมถึงขอให้นักสาธารณสุขปฏิบัติการ ชำนาญการ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเลื่อนระดับที่สูงขึ้น(ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ) ให้ตรงตามประกาศมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ของกพ.
1.4 ขอให้มีการเร่งรัดการทำค่างานของนักวิชาการสาธารณสุข ที่ดำรงตำแหน่งบริหาร (ผอ.รพ.สต.,สสอ. และหัวหน้ากลุ่มงาน) ที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน สามารถเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เป็นนักสาธารณสุข
1.5 ขอให้นักวิชาการสาธารณสุขในสังกัดเขตสุขภาพ หน่วยงานระดับเขต กรม กอง และส่วนกลาง ในกระทรวงสาธารณสุข ที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน สามารถเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เป็น นักสาธารณสุข
1.6 ขอให้เร่งรัดติดตาม ประกาศ ระเบียบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ให้สายงาน นักสาธารณสุข สามารถได้รับเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษ พตส.
2.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสายงาน
2.1 ขอให้ นักวิชาการสาธารณสุข/นักสาธารณสุข ทุกรพ.สต โรงพยาบาล สสอ. และสสจ.สามารถเลื่อนระดับสู่ระดับชำนาญการพิเศษ โดยไม่ต้องยุบเลิกตำแหน่ง เช่นเดียวกับสายงานพยาบาลวิชาชีพ 2.2 ขอให้ทุกเขตสุขภาพ เร่งรัดกำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษ สายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการกำหนดตำแหน่ง หลักเกณฑ์ และทำค่างาน เลื่อนระดับที่สูงขึ้นตามแนวทาง ว.2 (ชำนาญการพิเศษ ด้วยผลงานวิจัย R&D) ร่วมกับชมรม สมาคม ของแต่ละวิชาชีพ แต่ละสายงาน เพื่อให้ทุกวิชาชีพ มีความก้าวหน้าที่ทัดเทียมกัน
2.3 ขอให้เร่งรัด การปรับปรุงหลักเกณฑ์ ค่าตอบแทนฉบับต่างๆ โดยระบุตำแหน่งนักสาธารณสุข ซึ่งเป็นวิชาชีพเฉพาะ ให้อยู่ในกลุ่มสหวิชาชีพ และมีการปรับค่าตอบแทน ฉ.11 นักสาธารณสุข ในอัตราที่สูงกว่านักวิชาการสาธารณสุข อย่างน้อยให้มีอัตราค่าตอบแทน ฉ.11 เช่นเดียวกับสายงานพยาบาลวิชาชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ รวมทั้ง มีการปรับหลักเกณฑ์ ค่าตอบแทน ฉ.11 ให้ครอบคลุมบุคลากรในสสอ. และ สสจ.
3. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดนใต้
3.1 ขอให้ทุกหน่วยงาน ในสังกัดสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในจังหวัดชายแดนใต้ที่ระบุว่า..... ให้สนับสนุนและส่งเสริมให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่ง ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความเหมาะสม ให้เร่งดำเนินการคัดเลือกโดยเร็ว.....
โดยเร่งรัดดำเนินการตามหนังสือ กพ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2565 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเพิ่ม ประเด็นการคัดเลือกบรรจุ การเลื่อนระดับสู่ระดับที่สูงขึ้น( ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ ) โดยวิธีพิเศษ (เช่นเดียวกับที่เคยมีการดำเนินการปรับข้าราชการพลเรือน สายงานทั่วไป สู่สายงานวิชาการตาม หนังสือว.16/2558)
3.2 ขอให้ปรับค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ ของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ให้สูงขึ้นเทียบเท่าข้าราชการในสังกัดอื่นในชายแดนใต้ (ครู ศาล ทหาร ตำรวจ ฯลฯ)
- 4169 views