โรงพยาบาลเมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ รพ.ชุมชน 30 เตียง อีกแห่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เหตุเงินผู้ป่วยในลด ที่อยู่ได้ เพราะใช้กองทุนอื่นๆมาช่วยอุด รวมถึงบริหารจัดการชะลอจ่ายค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เดิมต้องจ่ายภายใน 60-90 วัน แต่บางรายการต้องขอเลื่อน เพื่อความอยู่รอด 

หลังจากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) นำเสนอปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง จนเสี่ยงเข้าภาวะ รพ.ขาดทุน หลายแห่ง ระบุว่าจากปัญหาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ลดการจ่ายเงินกองทุนผู้ป่วยในลง (สปสช.คิดอัตราการจ่ายแบบDRGs หรือ ระบบการวินิจฉัยโรคร่วมและคิดเป็นค่าน้ำหนักสัมพัทธ์แบบ adjRW ตามความรุนแรงของโรคคิดเป็นแต้มหรือต่อหนึ่งหน่วย) โดยปรับลดจาก 8,350 บาทต่อหน่วย (adjRW)  เหลือเพียง 7,000 บาทต่อหน่วย  ทำให้เงินที่รพ.จะได้รับลดน้อยลงนั้น ขณะที่สปสช.ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวเช่นกัน

ล่าสุดผู้สื่อข่าว Hfocus ยังได้รับข้อมูลถึงโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาทางการเงินอยู่เรื่อยๆ โดย “นพ.จิระวัตร วิเศษสังข์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง เปิดเผยว่า จริงๆที่ผ่านมา รพ.เมืองจันทร์ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพราะควบคุมได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าพูดถึงต้นทุนของผู้ป่วยในอย่างเดียว คือ เราขาดทุนแน่นอน เพราะได้น้อยกว่า Unit Cost หรือต้นทุนต่อการบริการที่ดูแลคนไข้ไป  

“ตอนแรก สปสช.กำหนดจ่ายอัตรา ไม่เกิน 13,000 บาท/ AdjRW.  แต่ประกาศต้นปีคือกำหนดจ่าย 8,350 บาท แต่สุดท้ายได้แค่ 5,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้รวมค่าแรงบุคลากรด้วย เมื่อหักค่าแรงออกก็เหลือไม่กี่บาท ต้องเอากองทุนอื่นมาเฉลี่ยดึงเงินจากทางอื่นมาเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลขาดทุน” นพ.จิระวัตร กล่าว

ในขณะที่จริงๆแล้ว ต้นทุนต่อหน่วยบริการ  โดยเฉลี่ยของรพ.เมืองจันทร์ หรือโรงพยาบาลในกลุ่มเดียวกันทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สปสช.ประกาศว่าจะให้ตั้งแต่แรก และก็รู้อยู่แล้วว่าเราขาดทุนตั้งแต่ต้น คือ 8,350 บาท แต่เราก็โอเคและรู้ว่าจะตั้งต้นแบบไหน ซึ่งเงินส่วนนี้ รวมค่าแรงบุคลากรด้วย  และที่สำคัญในช่วง 3 - 4 เดือนหลัง ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นอีก แต่รพ.ยังได้รับเรทที่ต่ำลงคืออยู่ที่ 7,000 บาทและล่าสุดอยู่ที่ 5,000 บาทรวมค่าแรงด้วย ซึ่งขาดทุนแน่นอน

ทั้งนี้ จึงทําให้หลายโรงพยาบาล รวมทั้งโรงพยาบาลเมืองจันทร์ ที่วางแผนในการบริหารคุณภาพโรงพยาบาล ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ รวมทั้งปีนี้การจัดสรรงบประมาณของสปสช.ล่าช้า อย่างงบเหมาจ่ายรายหัวของผู้ป่วยนอกก็เพิ่งมาเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม  และเมื่อเดือนสิงหาคมทุกคนก็วางแผน ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆมีเป็นปกติและสูงขึ้น แต่รายได้ที่จะเข้ามาจากผู้ป่วยในไม่เป็นไปตามแผนที่คาด และได้ลดลงกว่าที่ประกาศไว้ โดยเราได้มาไม่ถึง 52% จากเงินที่จะได้ทั้งหมด

ยิ่งรักษาผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลยิ่งขาดทุน

นพ. จิระวัตร กล่าวว่า ในช่วง 3-5 เดือนหลังมีผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นเยอะมาก อัตราครองเตียงอยู่ที่ 80-100% บางวันมากกว่านั้นด้วยซ้ำ ดังนั้น ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต้นทุนการดูแลก็สูงขึ้น เพราะเราต้องตรวจมากขึ้น เพราะคนไข้ทุกวันนี้ความคาดหวัง ความไม่ตรงไปตรงมาก็มากขึ้น บางโรคก็ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประกอบการวินิจฉัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเอกซเรย์ ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ในการที่จะวินิจฉัยเพื่อให้คนไข้ปลอดภัย ยกตัวอย่าง  กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่แพง เพื่อจะตอบสนองต่อตัวเชื้อ และการตรวจเลือดไม่ใช่ตรวจครั้งเดียว ต้องตรวจในระหว่างที่นอนอยู่รพ. เพื่อให้มั่นใจว่าคนไข้ดีขึ้นแล้ว 

"มองว่าถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ ยิ่งรักษาผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลยิ่งขาดทุน คือ ถ้ามีแค่กองทุนเดียวเจ๊งแน่นอน เพราะว่ามันไม่เป็นไปตามต้นทุนที่ควรจะต้องเป็น โดยปกติรพ.ทั่วประเทศจะใช้เงินอยู่ประมาณไม่เกิน 13,000 บาท/ AdjRW. แต่ สปสช.ให้มาแค่ 8,350 บาทก็ยังโอเค แต่พอถึงเวลาจ่ายจริงๆ ก็ยิ่งต่ำลงไปกว่านั้น จึงสวนทางกับจํานวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น" นพ.จิระวัตร กล่าว

นพ. จิระวัตร ยังกล่าวอีกว่า  ปัญหางบฯผู้ป่วยในตอนนี้ยังแก้อะไรไม่ได้ เพียงแค่เอากองทุนอื่นมาช่วยอุด เพื่อให้คุณภาพการดูแลคนไข้ไม่ลดลง เราไม่สามารถลดอัตรากําลัง ไม่สามารถปฏิเสธการตรวจแลปผู้ป่วยได้ ฉะนั้นจำเป็นต้องไปดึงกองทุนอื่น อย่างเช่น กองทุนเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลาง กองทุนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งกองทุนผู้ป่วย 30 บาทรักษาทุกที่ รวมทั้งเงินบริจาคมาใช้เพื่อพยุงต้นทุนในการดูแลผู้ป่วยใน 

อย่างไรก็ตาม แม้รพ.ไม่ได้อยู่ในสภาวะเหมือนขาดทุน แต่ถ้าคิดจริงๆถ้าเอาแค่กองทุนบัตรทอง คือ ขาดทุนแน่นอน ตอนนี้เราทำให้ดูเหมือนว่ามันไม่ขาดทุน มันไม่มีภาวะวิกฤติ ซึ่งความจริงคือมันเข้าสู่การวิกฤติ

ชะลอจ่ายค่ายา ค่าเวชภัณฑ์

"ก่อนหน้านี้เราการวางแผนในการบริหารปรับปรุงคุณภาพของโรงพยาบาล แต่แผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผนคือเงินผู้ป่วยในถูกตัดลงเรื่อยๆ แต่เราก็ต้องแบกรับภาระนี้ แต่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนไข้เราก็ต้องไปดึงกองอื่นมา บางอย่างที่ยังไม่ต้องจ่ายเราก็ชะลอการจ่ายไปก่อน จนกว่าจะมีเงินมา อย่างงานก่อสร้างหรือเวชภัณฑ์ยาต่างๆ แต่ก่อนต้องจ่ายภายใน 60-90 วัน แต่บางรายการต้องเลื่อนออกไป ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลก็จะขาดสภาพคล่อง" นพ.จิระวัตร กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้ากำหนดค่า AdjRW. เหลือ 8,196 บาท แค่ช่วงปลายปีนี้หลังจากนั้นกลับมาเหมือนเดิม นพ.จิระวัตร กล่าวว่า ในมุมมองผมคิดว่ามันก็ดีกว่าไม่ได้ แต่ถ้าถามว่ามันโอเคหรือไม่ ตอบว่าก็คงไม่โอเค เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าต้นทุน 13,000 บาท แต่ประกาศคือ 8,350 ซึ่งเอาเข้าจริงๆมันไม่ถึง 8,350 บาท แต่ถ้าตอนนี้จะมาให้เป็น 8,196 บาท มันก็ดีกว่า แต่ยังไงโรงพยาบาลก็ขาดทุนอยู่ดี

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

- รพ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก อีกรพ.ขาดทุน ต้องชะลอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ กันเงินจ่ายค่าตอบแทนลูกจ้าง..

-“สมศักดิ์” ลั่นอย่าตกใจ รพ.ขาดทุน ผู้ป่วยในลดจากเดิมแค่ 2% ปัดตก “ร่วมจ่าย” เลิกคิดไปเลย

-ปลัดสธ.รับ รพ.ขาดทุน ไม่ใช่เรื่องดี สั่งติดตามข้อมูล 91 รพ.ส่อวิกฤตการเงิน

-สปสช. แจงยิบ! หลังปม รพ.ขาดทุน เหตุถูกหั่นงบผู้ป่วยใน ชี้ถ้าไม่ทำกองทุนติดลบหลักหมื่นล้าน   

-สปสช.แจงจ่าย 'งบบัตรทอง' ให้รพ. บรรเทาปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน

-สปสช.แจงปม ‘ยูฮอสเน็ต-ชมรมรพศ./รพท.’ ชี้เหตุผลจัดสรรเงินปลายปิด ถ้าเปลี่ยนต้องคิดถี่ถ้วน

-รพ.สระบุรี ขาดสภาพคล่องหนัก! หลังบัตรทองลดงบ “ผู้ป่วยใน”

-“หมออนุกูล” สุดทน! ติงสปสช.สวนทางนโยบายรัฐบาล จาก “ยกระดับ” เป็น “ลดระดับ” บัตรทอง

-ปลัดสธ.มอบผู้ตรวจฯ รีเช็ก  ‘24 รพ.’ ขาดสภาพคล่อง “เงินบำรุง” เริ่มร่อยหรอ เข้าวิกฤติระดับ 7

-เครือข่ายหมอ รร.แพทย์ -รพศ.รพท.บุกยื่น “สมศักดิ์‘ ร้องปมเงิน สปสช.ทำ รพ.ขาดทุน ล่าสุดกระทบ 236  รพ.