อัปเดตไข้หวัดใหญ่ 2024 "หมอยง" ชี้ปีนี้ระบาดหนัก โดยเฉพาะหน้าฝน ย้ำความสำคัญวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยป้องกัน-ลดความรุนแรงโรค  โดยจำเป็นต้องฉีดทุกปี และการพัฒนาวัคซีนต้องตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด  องค์การอนามัยโลก (WHO)  จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์คาดจะระบาดในฤดูกาลต่อไป ชี้ตั้งแต่ปี  68 วัคซีนจะเหลือ 3 สายพันธุ์เท่านั้น  

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไลฟ์เฟซบุ๊ก อัพเดทสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2024 และแนวโน้มในอนาคต ตอนหนึ่งว่า 

ปีนี้เป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ มันเกิด Immunity Debt หรือหนี้สินที่ต้องใช้ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด อุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ลดน้อยลง ไม่ค่อยมีภูมิ เมื่อตอนโควิดไม่เป็นโรค ก็มาใช้หนี้ตอนนี้ โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นกันเยอะ โดยไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ส่วนตัวให้ความสำคัญกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มากที่สุด เพราะเกิดระบาดใหญ่ทั่วโลกได้ ติดจากคนสู่สัตว์ สัตว์สู่คนได้ แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B พบในมนุษย์เท่านั้น และเหลือเพียง Victoria ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C พบได้ 1-2 ราย ใน 1,000 ราย ของผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ 

Influenza A มีความสำคัญมากกว่า รุนแรงกว่า ระบาดทั่วโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้มากกว่า มีสัตว์จำพวกนกเป็นแหล่งรังโรค

ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ ไทยพบมากในหน้าฝน 

จากการศึกษามาเป็น 10 ปีพบว่า ไข้หวัดใหญ่พบได้ตลอดทั้งปี พบมากในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน แล้วจะค่อย ๆ ลดลง จนพีคอีกครั้งในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 

แต่ในปีนี้ ไข้หวัดใหญ่ระบาดมาก ในเดือนมกราคมพบ 13.50% ของโรคทางเดินหายใจ หมายความว่า ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 10 คนจะพบไข้หวัดใหญ่ 1 คน เดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม 1 ใน 4 ของโรคทางเดินหายใจ เป็นไข้หวัดใหญ่ เราทำการศึกษามาเรื่อย ๆ โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบมากที่สุดเป็น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 ซึ่งพบมาตั้งแต่การระบาดครั้งใหญ่ในปี 2009 ทั่วโลกก็คล้ายกัน

อายุที่พบบ่อยในไข้หวัดใหญ่ จากการศึกษา 8,842 ราย เรื่องโรคทางเดินหายใจ โรคไข้หวัดใหญ่ พบมากตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ เด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปีจะพบน้อยกว่าเด็กนักเรียน ตรงข้ามกับ RSV ที่พบในเด็กเล็ก และเริ่มระบาดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เพียง 5 เดือนเท่านั้น 

การตรวจวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

ตรวจได้ด้วยการตรวจน้ำเหลือง หรือแอนดีบอดี้ แต่ที่ปัจจุบันนิยมกันมาก คือ การตรวจ Rapid Diagnosis คล้ายกับการตรวจ ATK หากพบว่า ขึ้น 2 ขีดแสดงว่าติดเชื้อ ส่วนที่ห้องปฏิบัติการของเราใช้ Molecular Diagnosis การตรวจนี้จะแยกได้อย่างละเอียดว่า สายพันธุ์ไหน ติดไวรัสตัวไหน  

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 ชนิดก็เพียงพอ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะแยกเป็นเชื้อเป็น เชื้อตาย และ Virosome ซึ่ง Virosome เคยใช้อยู่ระยะหนึ่ง แต่ต้นทุนค่อนข้างแพง จึงไม่แพร่หลาย โดยการให้วัคซีนแนะนำให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะเกิดอาการรุนแรงได้ คือ กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก  

วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องฉีดทุกปี การพัฒนาวัคซีนต้องทำให้ตรงกับสายพันธุ์ที่จะระบาด องค์การอนามัยโลก (WHO) จะมีการประชุมกัน เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่คาดว่าจะระบาดในฤดูกาลต่อไป  ซึ่งตั้งแต่ปีหน้า วัคซีนจะเหลือ 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย

  • A/H1N1 
  • A/H3N2
  • B/Victoria

วัคซีน 3 สายพันธุ์จึงเพียงพอ เพราะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ไวรัส Yamagata หายไปมากกว่า 4 ปี 

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีโอกาสเป็นได้ แต่ลดความรุนแรงลง ช่วยในการป้องกันได้ 50% โดยเฉลี่ย ตัววัคซีนค่อนข้างปลอดภัย อาการข้างเคียงค่อนข้างน้อย และแม้จะเป็นไข้หวัดใหญ่ไปแล้ว ก็ยังต้องฉีดวัคซีน เพราะไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ อาจเป็นซ้ำได้อีก ส่วนฤดูกาลที่เหมาะแก่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ ก่อนเปิดเทอมในฤดูฝน และอีกช่วงหนึ่งก่อนฤดูหนาว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก ตามคำแนะนำของ WHO