ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก อีกรพ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เสี่ยงรพ.ขาดทุน ล่าสุดบริหารแบบประคับประคองให้รอดพ้นวิกฤต ชะลอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ กันงบจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง

จากกรณีที่มีโรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน  จนบางแห่งเสี่ยงภาวะ รพ. ขาดทุน  โดยรพ.หลายแห่ง ทั้งรพ.ราชบุรี รพ.สระบุรี ฯลฯ ต่างออกมาให้ข้อมูลปัญหาทางการเงินเกิดจากการจัดสรรงบบัตรทองของ สปสช. เนื่องจากไม่เป็นไปตามต้นทุนจริง ซึ่งโรงพยาบาลชาติตระการ จ.พิษณุโลก เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว

ล่าสุดวันที่ 5 ก.ย.  นพ.เศษฐวิชช์ ศิริวัฒน์ นายเเพทย์เชี่ยวชาญ ผอ.รพ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า  สาเหตุที่ยังขาดทุนปีนี้มีหลายสาเหตุ อย่างเช่น 1. ประมาณการรายรับไม่ตรงกับรายรับจริง คือ การจ่ายชดเชยราคาลดลงจากเดิมที่เราประมาณการไว้ คือสมมติว่าเราประมาณการไว้ที่รายละ 8,000 บาท ตอนนี้ก็จ่ายเหลือรายละ 5,000 บาท ซึ่งทําให้ประมาณการรายรับของเราหายไป  2. การหักเงินเดือนเพิ่มขึ้น คือ ปกติทุกเดือนเราหักเงินเดือนของข้าราชการไว้ที่เดือนละ 5 แสนบาท แต่ 3-4 เดือนที่ผ่านมา จาก 5 แสนบาทเพิ่มเป็น 1.6 ล้านบาท ซึ่งทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

 "ประกอบกับช่วงนี้การหักเงินเดือนของเราจะโดนสองเด้ง คือ หักเงินเดือนจากสปสช.หนึ่งรอบ แล้วก็จะมีหักเงินเดือนที่รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ทั้งนี้ โดยปกติแล้วการหักเงินเดือน จะเอาเงินเดือนของ อบจ. และเงินเดือนของกระทรวงสาธารณสุขมารวมกันแล้วก็เฉลี่ยหัก แต่ปีนี้เอาเป็นจํานวนประชากรที่ถ่ายโอนไปคูณด้วย 495 บาทต่อหัวประชากร เผอิญว่าข้าราชการถ่ายโอนไป 8 แห่ง จาก 12 แห่ง  ประชากร ที่ อบจ รับผิดชอบ 2 ใน 3  ก็เลยจําเป็นต้องหักเงินเดือนเพิ่มอีกประมาณนึง จึงทำให้ติดวิกฤตการเงินช่วงนี้" นพ.เศษฐวิชช์ กล่าว

ชะลอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ กันเงินจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง  

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ เราชะลอการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ประมาณ 2-3 เดือน และ เจ้าหนี้การค้าตอนนี้ระงับการจ่ายไปก่อน เพราะว่าจําเป็นจะต้องกันเงินไว้สําหรับจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ที่เป็นลูกจ้าง รวมถึงงดการก่อหนี้ผูกพันใหม่ ซึ่งตอนนี้เราพยายามประคับประคองโรงพยาบาลโดยการประหยัดมากขึ้น คือ งดการไปอบรมสัมมนาไปก่อน เอาเฉพาะที่จําเป็นต้องไปจริงๆ รอให้ผ่านวิกฤติปีนี้ไปก่อนปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ 

เปิดปัจจัยวิกฤตการเงิน 

นอกจากนี้ อีกสาเหตุ คือ เราลงทุนกับโรงพยาบาล ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น อาทิ ลงทุนด้านการพัฒนาองค์กรของโรงพยาบาลให้คนไข้เข้าถึงบริการมากขึ้น การพัฒนาเรื่องคลินิกบริการมากขึ้น การลงทุนทางด้านเครื่องมือทางการแพทย์  ซึ่งเราลงทุนไปเพราะคิดว่ารายได้ที่จะเข้ามาเราประมาณการไว้ประมาณหนึ่งเลยคิดว่าน่าจะอยู่รอด แต่เผอิญว่าปีนี้ลงทุนไปแล้วรายได้ลดหายไปจาก 8,000 เหลือ 5,000 อีกทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยที่เราไม่คาดคิด จึงทำให้เจอวิกฤตการเงินช่วงนี้

ส่วนเรื่องกองทุนผู้ป่วยใน ตอนนี้เนื่องด้วยก่อนหน้านี้ประมาณการของกองทุนผู้ป่วยในใช้ข้อมูลตัวเลขเก่ามานานหลายปีแล้ว แต่ปี 67 เราใช้ตัวเลขใหม่ซึ่งผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าประมาณการของกองทุนผู้ป่วยในใช้ตัวเลขเดิมมันก็เลยไม่พอ ซึ่งอาจเพราะว่าในตอนนั้นงบประมาณรายจ่ายประจําปี 67 อนุมัติล่าช้า จึงต้องใช้งบปี 66 ไปพลางก่อน ทำให้ไม่สามารถที่จะอนุมัติงบตามความเป็นจริงได้

"ในส่วนของโรงพยาบาลชาติตระการ เมื่อรู้ว่างบสปสช.ไม่เพียงพอ เราก็ไปมองงบกองทุนอื่นเพื่อที่จะมาช่วย อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนเบิกได้ข้าราชการ ไม่เช่นนั้นเราอยู่ไม่รอด ก็เลยพยายามดิ้นรน" ผอ.รพ.ชาติตระการ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-“สมศักดิ์” ลั่นอย่าตกใจ รพ.ขาดทุน ผู้ป่วยในลดจากเดิมแค่ 2% ปัดตก “ร่วมจ่าย” เลิกคิดไปเลย

-ปลัดสธ.รับ รพ.ขาดทุน ไม่ใช่เรื่องดี สั่งติดตามข้อมูล 91 รพ.ส่อวิกฤตการเงิน

-สปสช. แจงยิบ! หลังปม รพ.ขาดทุน เหตุถูกหั่นงบผู้ป่วยใน ชี้ถ้าไม่ทำกองทุนติดลบหลักหมื่นล้าน   

-สปสช.แจงจ่าย 'งบบัตรทอง' ให้รพ. บรรเทาปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน

-สปสช.แจงปม ‘ยูฮอสเน็ต-ชมรมรพศ./รพท.’ ชี้เหตุผลจัดสรรเงินปลายปิด ถ้าเปลี่ยนต้องคิดถี่ถ้วน

-รพ.สระบุรี ขาดสภาพคล่องหนัก! หลังบัตรทองลดงบ “ผู้ป่วยใน”

-“หมออนุกูล” สุดทน! ติงสปสช.สวนทางนโยบายรัฐบาล จาก “ยกระดับ” เป็น “ลดระดับ” บัตรทอง

-ปลัดสธ.มอบผู้ตรวจฯ รีเช็ก  ‘24 รพ.’ ขาดสภาพคล่อง “เงินบำรุง” เริ่มร่อยหรอ เข้าวิกฤติระดับ 7

-เครือข่ายหมอ รร.แพทย์ -รพศ.รพท.บุกยื่น “สมศักดิ์‘ ร้องปมเงิน สปสช.ทำ รพ.ขาดทุน ล่าสุดกระทบ 236  รพ.