ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จัดกิจกรรม Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ เผยผลสำรวจความคิดเห็น คนไทย 80% เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ แต่มีเพียง 20% ที่ร่วมบริจาค เหตุเชื่อว่า ในชาติหน้าอวัยวะจะไม่ครบสมบูรณ์ ชี้ 1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต สามารถบริจาคได้ 8 อวัยวะ  

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย องค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชน และศิลปินดาราชื่อดัง ร่วมกันจัดงาน World Organ Donation Day 2024  ภายใต้แคมเปญ “Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” เพื่อให้ความรู้ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการบริจาคอวัยวะมากขึ้น โดยโครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเหล่าดาราและศิลปินจำนวนมาก อาทิ คุณแอน ทองประสม, คุณพลอย เฌอมาลย์, บุญยศักดิ์, คุณคริส ศิริน หอวัง ดารานักแสดงชื่อดังที่ได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้ว นอกจากนี้ยังมี คุณแพรรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร มาพูดคุยเกี่ยวกับความเชื่อที่ไม่ถูกต้องต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ เสวนาพูดคุยกับ “ผู้ให้” “ผู้รับ” และ “ผู้รอ” เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมบริจาคอวัยวะเป็นจำนวนมาก ณ โซน Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีเปิดงาน “Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดำเนินงานการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และมีนโยบายจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะและศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทยสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะที่สามารถนำอวัยวะต่าง ๆ ไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกถึง 8 ชีวิต เป็นการให้ชีวิตใหม่แก่เพื่อนมนุษย์หลังเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย

ด้าน นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะสะสม จำนวน 1,646,469 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของประชากรทั่วประเทศ และในปี 2567 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วทั้งสิ้นเพียง 485 ราย เนื่องจากผู้ที่สามารถบริจาคได้ต้องอยู่ในภาวะ “สมองตาย” และญาติต้องยินยอมเท่านั้น หรือเป็นโรคติดเชื้อรุนแรง มะเร็ง หรืออวัยวะเสื่อม ก็ไม่สามารถบริจาคได้ จึงมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวนมาก โดยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีจำนวนมากถึงหลักแสนคนขึ้นไป และทุกวันนี้ต้องล้างไตผ่านช่องท้องหรือไม่ก็ฟอกเลือด แต่วิธีดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต ซึ่งก็ต้องรอรับอวัยวะบริจาค ขณะที่ดวงตาก็เช่นกันมีผู้มองไม่เห็นหลักหมื่นคน แต่ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจริงๆ ได้เพียงปีละไม่ถึง 1,000 คน ซึ่งอวัยวะทุกส่วนยังมีคนไข้อีกจำนวนมากที่เฝ้ารออย่างมีความหวัง 

โดย 1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต สามารถบริจาคได้ 8 อวัยวะ ได้แก่ ไต 2 ข้าง ปอด 2 ข้าง หัวใจ ตับ ตับอ่อน และลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระจกตา ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น และในการส่งทีมแพทย์และพยาบาลไปยังโรงพยาบาลที่มีผู้บริจาคสมองตายต่างๆ เพื่อนำผ่าตัดเอาอวัยวะออก และเก็บรักษาไว้ด้วยน้ำยาถนอมอวัยวะในกระติกน้ำแข็งและเอากลับมาผ่าตัดให้ทันที เพราะอวัยวะที่ผ่าตัดมานั้นมีเวลาขาดเลือดจำกัด โดยหัวใจ อยู่ได้แค่ 4 ชั่วโมง ตับ 12 ชั่วโมง ไต 24 ชั่วโมง ทีมแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา

“สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่า การบริจาคอวัยวะและดวงตา เป็นบุญในการช่วยชีวิต อย่ากลัวว่าบริจาคไปเมื่อเราไปเกิดในชาติหน้าจะทำให้พิการ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ แต่ที่แน่ ๆ เราทำดีก็ต้องได้สิ่งดี ๆ แต่ก็เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นที่ผ่านมาพบว่า 80% เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ แต่มีเพียง 20% ที่จะยอมบริจาคอวัยวะ กิจกรรมในวันนี้จึงจะช่วยให้ความรู้ กระตุ้นให้คนหันมาเห็นความสำคัญ และบริจาคอวัยวะกันมากขึ้น” นพ.วิศิษฏ์ กล่าว

ศิลปินดาราที่ยื่นแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้วเข้าร่วมกิจกรรมในงาน

คุณแอน ทองประสม นักแสดงมากความสามารถ ขอบริจาคอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย โดยเฉพาะดวงตาให้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทย พร้อมบอกว่า การบริจาคนั้นถือเป็นการได้ให้ชีวิตใหม่กับผู้อื่นที่ขาดโอกาส

คุณพลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้กับสภากาชาดไทย พร้อมกล่าวว่า บริจาคอวัยวะภายในทั้งหมด ปอด หัวใจ ตับ ลำไส้ กระดูก ก็จะมีดวงตาด้วย คิดว่าร่างกายของคนเราน่าจะใช้อะไรได้เยอะ เราคิดว่าตายไปคงเอาไปไม่ได้ คือ ณ ตอนนั้นอวัยวะที่มีน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะว่ายังมีคนที่เขาต้องการ อย่าง ไต หัวใจ หรือ ดวงตา ก็เหมือนกันซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ได้ 

ความสุขของ “ผู้รับ” สู่การเป็น “ผู้ให้” ของ คุณเต้ย – จรินทร์พร จุนเกียรติ

คุณเต้ย - จรินทร์พร จุนเกียรติ และคุณพ่อ (คุณพงษ์ จุนเกียรติ)

“คุณพ่อป่วยเป็นโรคไต (Kidney Failure) เนื่องมาจากกรรมพันธุ์เพราะทางคุณย่าป่วยเป็นโรคไตและได้รับการปลูกถ่ายไตแล้วเช่นกัน เต้ยมองว่าทั้งคุณย่าและคุณพ่อได้รับการปลูกถ่ายไตซึ่งคุณพ่อต้องฟอกไตอยู่ประมาณ 1-2 ปี จากนั้นคุณพ่อก็ได้รับการบริจาคไต คือได้เปลี่ยนไตใหม่ จากผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ต้องขอบคุณ ‘คุณคนใจดี' เมื่อตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้บริจาคอวัยวะเอาไว้ และสามารถเข้ากับคุณพ่อพอดีเลย ตั้งแต่วันที่คุณพ่อได้เปลี่ยนไต เต้ยตั้งใจบริจาคอวัยวะ มันสำคัญมากเพราะพอเราเสียชีวิตไป ไม่สามารถเอาอะไรไปได้เลยจริงๆ แต่อวัยวะของเราอาจจะสามารถช่วยหรือต่อชีวิตให้ใครหลายๆ คนได้อีก ผู้ที่สนใจบริจาคอวัยวะสามารถยื่นความจำนงกันได้ทางออนไลน์หรือที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย”

บุญครั้งใหญ่ของผู้ให้ จากใจแม่ผู้เสียสละ

คุณธันยพรรษ เกตุคง มารดาของนายณัฐกฤษฎ์ พงษ์ประเสริฐ หรือ“น้องกฤษฎ์” ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนราวสะพานจนศีรษะได้รับบาดเจ็บรุนแรง สมองตาย ไม่รู้สึกตัวแพทย์แจ้งว่าลูกสมองตาย คือน้องจะไม่ฟื้นอีกแล้ว ถ้าฟื้นก็คือเป็นเจ้าชายนิทรา ไม่มีโอกาสจะกลับมาเหมือนเดิมได้ รู้สึกช็อค ทำอะไรไม่ถูก ไม่คิดว่าลูกตาย และไม่มีข้อมูลความรู้เรื่องภาวะสมองตายเลย ความรู้สึก ตอนนั้น จุก และเหมือนฝันเรื่องไม่จริงเกิดขึ้นกับครอบครัว แต่หลังจาก คุณหมอให้ความรู้เกี่ยวกับสมองตาย และขั้นตอนการบริจาค อย่างละเอียด ทำให้มั่นใจว่าก่อนจะรับบริจาค จะมีการส่งรายงานต่างๆ ถึง ผอ. รพ. และการช่วยเหลือของสภากาชาดไทย ใช้เวลาตัดสินใจเพียง 2 ชั่วโมง เท่านั้น “รู้สึกตื้นตันมาก ที่ลูกชายได้สละอวัยวะช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังรอคอยอย่างมีความหวังได้หลายชีวิตลูกเราจากไป แต่อวัยวะของลูกเรากำลังช่วยคนอื่นให้มีชีวิต ไม่มีบุญไหนที่เขาจะทำได้มากไปกว่านี้ เป็นบุญครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเขา ความรู้สึกตอนนี้คิดถึงอยากกอด อยากหอมลูกมาก” คุณธันยพรรษกล่าว

เรื่องจริงสุดประทับใจของ “ผู้ให้”และ “ผู้รับ”

คุณศิวพร บุญจันทึก หรือ คุณบุ๋ม (ผู้บริจาค) และคุณฉลอง บุญจันทึก (ผู้รับ) ซึ่งเป็นสามี ภรรยากัน เริ่มจากที่คุณฉลองสามีป่วยเป็นโรคไต ภาวะไตวายระยะที่ 4 กำลังไปสู่ระยะที่ 5 การรักษาจำเป็นต้องปลูกถ่ายไต ซึ่งต้องรอคิวสักพักไม่รู้ว่านานแค่ไหนเพราะต้องรอจากผู้ป่วยสมองตายเท่านั้นแต่ยังมีอีกวิธีคือปลูกถ่ายกับคนในครอบครัว หรือสามี ภรรยาที่อยู่ด้วยกันนานถึง 3 ปีเป็นต้นไป ต้องมีหมู่เลือดที่เข้ากันได้และมีความเข้ากันได้ทางเนื้อเยื่อ คุณบุ๋มจึงตัดสินใจบริจาคอวัยวะไตให้กับ คุณฉลอง (ผู้รับ) ซึ่งเป็นสามี “ยินดีแบ่งชีวิตที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้เค้า เพราะถ้าต้องใช้ชีวิตอีกครึ่งนึงคนเดียวมันก็ไม่มีความหมาย” คุณบุ๋มกล่าว

“ผู้รับ” ได้ชีวิตใหม่

คุณคณินณัฎฐ์ ตั้งสำเร็จวงศ์ หรือคุณ “ปิ่น” เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ตั้งแต่อายุ 17 ปี ชีวิตหลังได้ปลูกถ่ายไต ร่างกายแข็งแรงขึ้นกว่าช่วงที่ฟอกไตหรือช่วงที่เป็น SLE อย่างเห็นได้ชัดและที่สำคัญปิ่นได้กลับมาทำตามความฝัน ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติ ตามที่คิดไว้แล้ว ได้ไปเที่ยวเมืองนอก ได้แต่งงาน ได้เริ่มทำงาน ได้ไปเที่ยวที่ต่างๆตามต้องการไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยเหมือนเมื่อก่อนและตั้งมั่นว่าจะใช้ชีวิตใหม่ที่ได้รับมานี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะถือว่าได้ใช้ชีวิตแทนผู้บริจาคที่ได้รับบริจาคไตมา

“การที่ปิ่นได้รับโอกาสในการปลูกถ่ายไตในครั้งนี้ ยังทำให้ปิ่นได้เห็นคุณค่าของชีวิตและคุณค่าของเวลามากขึ้น เห็นคุณค่าของคนที่รักเรารอบตัว และตั้งมั่นว่าจะใช้ชีวิตใหม่ที่ได้รับมานี้ ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และปิ่นจะไม่มีโอกาสนี้ได้เลย หากไม่ได้รับไตบริจาคมาเพื่อปลูกถ่ายไต” 

นอกจากนี้คุณจตุพร สุกจม ผู้ได้รับการปลูกถ่ายตับ พ.ศ. 2541 เป็นนักกีฬาโบว์ลิ่ง ร่วมแข่งกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะโลกหลายครั้ง และคุณชนิกานต์ กุลท้วม ผู้ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ ตุลาคม 2566 เป็นนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาถ่ายทอดความรู้สึกหลังจากได้ปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว

ภายในงาน พบกับเสวนา Give LIFE : สร้างกุศลผู้ให้ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ. สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ ,พญ.กรทิพย์ ผลโลภ และ พญ.พิชมญฐ์ อินกอง กิจกรรม “Give for GIFTS” ผู้ที่แสดงเจตจำนงบริจาคอวัยวะ รับสิทธิ์ร่วมลุ้นรับของรักดารา

นักแสดง คุณณฐ ณฐสิชณ์ แบบ Exclusive สุดๆ  และทุกๆ 1 การแสดงเจตจำนงในการบริจาคอวัยวะมีสิทธิ์ลุ้นรับพวงกุญแจ Pop Bean และ รับชม “มินิคอนเสิร์ต” จากศิลปิน “แว่นใหญ่” คุณโอฬาร ชูใจ  พบกับ Music VDO ประกอบเพลง “รักของเธอคือของขวัญ” บทเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวจริงทั้งหมดของทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ”

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคอวัยวะสามารถบริจาคผ่านช่องทางได้ดังนี้
บริจาคออนไลน์ :
- เว็บไซต์ www.organdonate.in.th หรือ เว็บไซต์ https://eyeorgandonate.redcross.or.th/ และ แอปพลิเคชัน "บริจาคดวงตา-อวัยวะ"
บริจาคด้วยตนเอง :
- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ

-บริจาคผ่านเครือข่ายฯ อาทิ
- สำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาด ทุกจังหวัด
- โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
- สำนักงานเขต เทศบาล และเมืองพัทยา ที่ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน
- ผ่าน แอปพลิเคชัน และ Line OA “หมอพร้อม”
- กรมการขนส่งทางบก สำหรับผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้วสามารถแจ้งความประสงค์ขอเพิ่มสัญลักษณ์ ของสภากาชาดไทย “กากบาทแดงบนพื้นสีขาว” และเพิ่มข้อความ “บริจาคอวัยวะ” ให้แสดงบนหน้าใบอนุญาตขับรถ