ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เล็งเดินหน้า "ร่าง พรบ.การบริจาคอวัยวะ" เผย ยอดผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มขึ้นทุกปี พบ 95% เป็นผู้ป่วยที่รอ “ไต”  6,619 ราย พร้อมเตรียมจัดงาน “Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” 30 ส.ค.นี้  ชี้บริจาคอวัยวะ 1 ผู้ให้ช่วยได้ 8 ชีวิต  

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า วันที่ 13 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวัน World Organ Donation Day โดยมีจุดมุ่งหมายให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอคอยการการบริจาคอวัยวะ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 มากถึง 7,133 ราย โดย 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ป่วยที่รอ “ไต” มีจำนวนมากถึง 6,619 ราย ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ขาดแคลนที่สุด รองลงมา คือ ตับ หัวใจ ปอด และตับอ่อน ขณะเดียวกันมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วเพียง 465 ราย และทุกๆสัปดาห์จะมีผู้เสียชีวิต 2 รายจากการรอปลูกถ่ายอวัยวะ และมีแนวโน้มจำนวน  ผู้รอรับอวัยวะเพิ่มขึ้น แม้ว่า 1 ผู้บริจาคจะสามารถบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อเพื่อนำไปปลูกถ่ายอาจนำไปช่วยเหลือชีวิตคนได้ 8-9 ชีวิต

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย จึงได้ร่วมกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุของค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชนเตรียมจัดงาน World Transplant Month 2024 ในวันที่ 30 สิงหาคมศกนี้ ภายใต้แคมเปญ “Give LIFE  Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” ตั้งแต่เวลา 14.00 -18.00 น. ณ โซน Eden ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจสามารถแสดงความจำนงบริจาคได้ทั้ง 2 ประเภท คือ 1.บริจาคอวัยวะและดวงตาเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยและ 2.บริจาคอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา รวมทั้งให้ความรู้เรื่องการบริจาคอวัยวะ เพราะหลายคนยังคงเชื่อว่าถ้าบริจาคอวัยวะแล้วชาติหน้าจะเกิดมามีอวัยวะไม่ครบ แต่หากเรามองข้ามผ่านความเชื่อดังกล่าวและดูข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของการบริจาคอวัยวะแล้วจะพบว่า การบริจาคอวัยวะโดยผู้บริจาคเพียงหนึ่งราย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้สูงสุดถึง รวมถึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายที่ดีและอายุยืนยาวขึ้นได้

ภาวะขาดแคลนอวัยวะในประเทศไทย

รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวว่า จากภาวะการขาดแคลนอวัยวะในประเทศไทย แม้ว่าจะมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะกว่าปีละ 50,000 ราย แต่ส่วนใหญ่การเสียชีวิตมิใช่เกิดจากสมองตาย หรือมีข้อห้ามของการบริจาคอวัยวะเช่น เสียชีวิตหัวใจหยุดเต้นหรือมีการติดเชื้อ อวัยวะได้รับบาดเจ็บทำให้ไม่สามารถนำอวัยวะไปใช้ปลูกถ่ายได้ รวมทั้งปัญหาอวัยวะที่นำไปปลูกถ่ายหรือทำงานได้ไม่ดี เข้ากันไม่ได้กับร่างกายของผู้รับ เนื่องจากอายุของผู้บริจาค, ขนาดของอวัยวะ, การทำงานของอวัยวะ, ระยะเวลาขาดเลือดของอวัยว ะและความแตกต่างของเนื้อเยื่อเป็นต้น โดยอวัยวะที่นำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้มาจากผู้บริจาค 2 กลุ่ม เท่านั้น ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง ผู้บริจาคที่มีชีวิต ได้แก่ ไตและตับ ผู้บริจาคกลุ่มนี้ต้องเป็นญาติโดยสายโลหิตหรือเป็นสามีภรรยาที่อยู่กินกันเปิดเผยอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้นหากผู้รอรับอวัยวะไม่มีญาติที่สามารถบริจาคอวัยวะให้กันได้ เช่น หมู่เลือดหรือเนื้อเยื่อเข้ากันไม่ได้ ผู้บริจาคมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ฯลฯ จึงต้องรออวัยวะจากผู้บริจาคเท่านั้น

กลุ่มที่สอง คือผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ซึ่งสามารถบริจาคได้ทุกอวัยวะได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน และลำไส้เล็ก แพทย์ต้องวินิจฉัยว่ามีภาวะก้านสมองตาย และญาติลงนามยินยอมบริจาคอวัยวะ ซึ่งอวัยวะ ที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ไต 2 ข้าง, ปอด 2 ข้าง, หัวใจ, ตับ ตับอ่อน และลำไส้เล็ก นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระจกตา, ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูกและเส้นเอ็น  

คุณสมบัติของผู้บริจาคอวัยวะ ดังนี้ 1. อายุไม่เกิน 65 ปี 2. เสียชีวิตจากสภาวะสมองตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ   3.ปราศจากโรคติดเชื้อรุนแรง และโรคมะเร็ง 4.ไม่เป็นโรคเรื้อรังซึ่งทำให้อวัยวะเสื่อม เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา 5. อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดี 6.ปราศจากเชื้อโรคซึ่งอาจจะถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือซี ไวรัสโรคเอดส์ ฯลฯ

“การบริจาคอวัยวะไม่ทำให้เราตาย แต่ความตายทำให้เกิดการบริจาคอวัยวะ ก่อนที่เราจะบริจาคอวัยวะได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าร่างกายของคนเราจะเริ่มมีความเสื่อมเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 1 ปี ร่างกายจะมีความเสื่อมลงไป 1 % อวัยวะของคนเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ยิ่งใช้ไปนานเท่าไหร่ความเสื่อม ดังนั้นอวัยวะของหนุ่มสาวจึงเป็นอวัยวะทีมีคุณภาพที่ดีทีสุด ทางศูนย์ฯ จะรับแค่เพียงอายุสูงสุด 65 ปีเท่านั้น ส่วนหัวใจ 45 ปี ถ้าอายุมากกว่านั้นอวัยวะที่ได้รับบริจาคจะไม่คุ้มค่าแก่การปลูกถ่าย อย่างไรก็ดีการบริจาคอวัยวะถือเป็นการสร้างประโยชน์และความสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการให้ชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยได้กลับคืนสู่สังคมด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป ” รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าว

ขั้นตอนหลังเสียชีวิตเมื่อแจ้งความจำนงบริจาคอวัยวะ

รศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในการบริจาคอวัยวะนั้นถึงแม้เราจะมีความจำนงและมีบัตรแสดงตนว่ามีการบริจาคอวัยวะ แต่ขั้นตอนนั้นเมื่อเสียชีวิตแล้วส่วนมากต้องพูดคุยกับญาติและต้องขอให้ญาติเซ็นยินยอมก่อนตามกฎหมายถึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังร่างพ.ร.บ.กฎหมายในการบริจาคหรือปลูกถ่ายอวัยวะ โดยจะมีการให้แสดงความคิดเห็นอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทำร่างกฏหมายอยู่ ซึ่งจากที่รับฟังความคิดเห็นมาส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ถ้าคนที่แสดงความจำนงไปแล้วเมื่อเสียชีวิตญาติไม่ควรมีสิทธิ์คัดค้านในความตั้งใจ เพราะในปัจจุบันเราต้องขอญาติอีกทีก่อน ถ้าญาติไม่ยินยอมก็ไม่สามารถเอาได้ ซึ่งจะขัดต่อวัตถุประสงค์ของคนแสดงความจำนง 

ขณะที่ ผศ.นพ.สุวศิน อุดมกาญจนนันท์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า   ตนเห็นคนไข้โรคไตมาเยอะ ตั้งแต่ระยะต้นจนถึงระยะท้าย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายอวัยวะเพราะในขณะที่ฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องทำให้เสียเวลา แต่ถ้าคนไข้ได้รับการปลูกถ่ายไต จะเป็นเหมือนการต่อชีวิตทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และที่สำคัญคือคนไข้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตอายุขัยจะยืนยาวกว่าคนไข้ที่ยังไม่ได้รับการปลูกถ่ายไต ดังนั้นถ้าดูเส้นทางของคนไข้ตั้งแต่ระยะต้นจนถึงระยะท้ายคนไข้เหล่านี้ค่อนข้างน่าสงสารซึ่งแต่ละคนพยายามมาเข้าคิวเพื่อรอการปลูกถ่ายไต 

"ปัญหาคือตอนนี้จำนวนผู้บริจาคน้อย จริงๆแล้วเรามีผู้ที่รอบริจาคหรือมีความสามารถที่จะบริจาคได้เยอะเพียงแต่ว่าต้องอาศัยสื่อมวลชนให้ช่วยประชาสัมพันธ์ว่าการบริจาคอวัยวะคืออะไร เพราะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ปัจจุบันยอดบริจาคในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่คงจะดีกว่าถ้าเกิดให้คนไทยรู้ทั่วกันว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่ว่าลงทะเบียนขอเป็นผู้บริจาคอวัยวะแล้ว เป็นการแช่งตัวเองให้เสียชีวิต แต่มันเป็นการประกันมากกว่าว่าถ้าเราเสียชีวิตไปหรือสมองตายไปโดยที่อวัยวะอื่นยังใช้ได้ดีอยู่ เราจะได้ส่งต่ออวัยวะนี้ให้กับคนที่ต้องการ เป็นการประกาศว่าอวัยวะจะถูกไปใช้ต่ออย่างเหมาะสม" ผศ.นพ.สุวศิน

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคอวัยวะสามารถบริจาคผ่านช่องทางได้ดังนี้ 

บริจาคออนไลน์ : 

- เว็บไซต์ www.organdonate.in.th หรือ เว็บไซต์ https://eyeorgandonate.redcross.or.th/ และแอปพลิเคชัน "บริจาคดวงตา-อวัยวะ"

บริจาคด้วยตนเอง :

- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ

บริจาคผ่านเครือข่ายฯ อาทิสำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาด ทุกจังหวัด, โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ, สำนักงานเขต เทศบาล และเมืองพัทยา ที่ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน  กรมการขนส่งทางบก โดยผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้วสามารถขอเพิ่มสัญลักษณ์ ของสภากาชาดไทย “กากบาทแดงบนพื้นสีขาว” และเพิ่มข้อความ “บริจาคอวัยวะ” ให้แสดงบนหน้าใบอนุญาตขับรถ

และในเร็วๆ นี้ยังสามารถแสดงความจำนงผ่าน แอปพลิเคชัน“หมอพร้อม” ได้ด้วย