ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอเกรียงศักดิ์ - หมอสุภัทร" เผยทางออกปัญหา รพ.ขาดทุน ไม่จำเป็นต้องแก้ด้วย "การร่วมจ่าย" อย่างเดียว หวั่นเป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ-ระบบล้มเหลว ชี้ถ้าจะร่วมจ่ายได้ต้องร่วมจ่ายก่อนป่วย 

ตามที่คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) รวมไปถึงโรงพยาบาลสระบุรี ออกมาเผยถึงปัญหาการเงินการคลังที่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่า ขาดทุน โดยส่วนหนึ่งมาจากงบบัตรทองกองทุนผู้ป่วยในที่ได้รับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ตีแผ่ รพ.ขาดทุน จากงบผู้ป่วยใน ล่าสุด 403 รพ.ไม่ได้เงินบัตรทอง อีก 91 แห่งส่อวิกฤตการเงิน )

ล่าสุดวันนี้ 2 ก.ย. 2567 ภายในงานประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบายครั้งที่ 9/2567 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท  ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงก็เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันขับเคลื่อน เพราะว่าจริงๆแล้วหัวใจสําคัญที่สุดก็คือ ชาวบ้านได้เข้าถึงบริการมากขึ้นจากระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าจะทํายังไงให้ดีขึ้นเข้าถึงบริการมากขึ้นอีกภายใต้งบประมาณที่มีจํากัด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก และเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันก้าวข้ามไปให้ได้ 

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า เรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นปัญหาและเป็นเรื่องปกติของระบบหลักประกันสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่เราจะมีระบบหลักประกันแห่งชาตินั้น ในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่สมัยก่อนได้มีระบบหลักประกันสุขภาพเป็นกฎหมายออกมา แต่กว่าจะมีผลบังคับใช้ก็เกือบ 50 ปีเพราะมีการต่อต้านจากบางกลุ่มที่อาจจะไม่ได้เข้าใจในระบบนั้นอย่างแท้จริง ถ้าถามว่าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ตอนนี้ปัจจุบัน เวลาสถานการณ์ทางการเงินติดลบนั้นติดลบจากอะไรจะต้องดูจากหลายสาเหตุ อย่างติดลบจากที่มีอยู่น้อยลงไปกว่าเดิม เพราะว่าจากเดิมก่อนที่จะมีระบบหลักกันฯ เงินบํารุงหักด้วยหนี้สินของโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะก่อนจะมีโควิดมีอยู่แค่ประมาณหมื่นล้าน แต่หลังจากโควิดมีถึง 90,000 ล้านบาท

"ฉะนั้นถ้าสมมุติว่ามันติดลบจริงเราก็ต้องดูว่าเราจะอยู่ได้ยังไง เพราะเรามีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตลอด 20 กว่าปีแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเวลาการคิดต้องถามว่าติดลบนั้นติดลบจากอะไร.. ติดลบจากต้นทุนหรือติดลบจากราคาขาย ดังนั้นต้องเอาตรงนี้ไปนั่งคุยกัน" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในเรื่องของหลักประกันสุขภาพที่ต้องให้มันดีขึ้นไปกว่าเดิมภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจํากัด แต่ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่างบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2544 ขณะนั้นมีงบประมาณเฉลี่ยต่อหัว 1,202 บาทต่อหัวประชากร ปัจจุบัน 4,000 กว่าบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่ขณะเดียวกันเราก็เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีมากขึ้น

เมื่อถามว่าอย่างตอนนี้ รพ.เริ่มมีภาวะเงินติดลบจะทำอย่างไร...

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นสถานการณ์ปกติที่มันมีอยู่ เพราะว่าปกติมันต้องดูตัวดัชนีชี้วัดทางการเงินหลายตัว ไม่ใช่ดูแต่เงินสดอย่างเดียว เงินสดลบหนี้สินอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องดูว่าเงินสดบวกกับลูกหนี้เราด้วยที่มีอยู่ 

ตอนนี้มีข้อเสนอเรื่องให้ร่วมจ่ายควรทำหรือไม่...

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราถกเถียงกันมานานมาก ถ้าเกิดจะร่วมจ่ายได้มันมีอยู่ทางเดียวคือต้องร่วมจ่ายก่อนป่วย ถ้าจะร่วมจ่ายหลังป่วยตนคิดว่าจะเป็นระบบที่ล้มเหลวหรือไม่ เหมือนเช่น ระบบปัจจุบันที่ประเทศไทยเรามีอยู่ก็คือ ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ของสวัสดิการข้าราชการที่มีอยู่ขณะนี้ที่เรามีการร่วมจ่าย ซึ่งการร่วมจ่ายตรงนั้นไปจะนําไปสู่การที่ข้อมูลที่ไม่เสมอภาคกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เราจะสังเกตดูได้ง่ายคือ ระบบของประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เราจะไม่ให้มีการร่วมจ่าย เนื่องจากว่าเรากําหนดสิทธิประโยชน์ว่าจะต้องใช้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี เพราะฉะนั้นการร่วมจ่ายบางทีเป็นเรื่องของการที่จะบอกข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน

"การร่วมจ่าย" ทําให้ประชาชนไม่ได้รับความเสมอภาค

"อย่างการร่วมจ่ายบางทีมันจะทําให้ประชาชนไม่ได้รับความเสมอภาค จะทําให้เกิดมีบริการ 2 มาตรฐานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน มันจะเกิดประเด็นเช่นว่า ร่วมจ่ายยาตัวนี้ไหมเพราะว่าคุณภาพดีกว่า เราไม่ต้องการให้เกิดภาพอย่างนั้นเกิดขึ้นอยู่ในโรงพยาบาลในเวลาเดียวกัน" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

เราสามารถใช้วิธีอื่นได้ อย่างเช่น ใช้กลไกในการต่อรองรวมของประเทศ เราเคยต่อรองรวมรายการหลายรายการราคาลดลงไปกว่าเดิมกว่า 3 เท่าตัวได้ยกตัวอย่างเช่น แก้วประสาทหูเทียมจากราคาที่กรมบัญชีกลางเคยจ่ายให้ 850,000 บาท สปสช.เอามาต่อรองตอนนี้ปัจจุบันเหลือประมาณ 350,000 บาท โดยให้โรงเรียนแพทย์ต่างๆมาช่วยกันวางระบบมาตรฐานตรงนี้ขึ้นมา เพราะว่าเมื่อเราปรับกลไกให้เป็นอํานาจของผู้ซื้อที่มีอํานาจในการต่อรองเพิ่มมากขึ้นไม่ใช่เป็นอํานาจของผู้ขาย 

ด้านนพ.สุภัทร กล่าวว่า การร่วมจ่ายนี้ก็เพื่อรายได้ของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าหัวใจที่เราให้ความสําคัญกว่าก็คือ จะวางระบบหลักประกันสุขภาพอย่างไรไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าถ้าการร่วมจ่ายแล้วเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้องในหลักการ แต่ว่าจะทํายังไงให้งบประมาณหรือให้โรงพยาบาลต่างๆมีงบประมาณเพิ่มขึ้น อันนี้อีกโจทย์นึงซึ่งอาจจะแก้ได้ด้วยการไม่ร่วมจ่ายก็ได้

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

"นิมิตร์" ค้าน ร่วมจ่าย ผู้ป่วยไม่ควรจ่ายเกิน 30 บาท รพ.ควรบริหารในต้นทุนที่มีอยู่

- "หมอประเสริฐ" หนุนระบบประกันสุขภาพระยะยาว ถึงเวลาไทยต้องร่วมจ่ายหรือยัง..

- "หมอสมศักดิ์" แนะ สปสช.ให้ ปชช.ร่วมจ่าย ค่ายานอกบัญชียาหลักฯ

- ถึงเวลาร่วมจ่ายหรือยัง? “หมอสุรศักดิ์” ติงสปสช.ปิดทางบัตรทองจ่าย On top ทั้งที่กฎหมายไม่ห้าม (คลิป)