ชมรม รพศ./รพท. ตีแผ่ปัญหา รพ.ขาดทุน เริ่มขยายวงกว้าง ล่าสุดงบบัตรทองผู้ป่วยใน 1.5 พันล้าน ไม่ถึงรพ. 403 แห่ง มิหนำซ้ำอีก 91 แห่งเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินขั้นวิกฤตเร็วๆนี้ ชมรมรพศ./รพท. เตรียมร้องรมว.สธ. ยื่นข้อเสนอ สปสช.เคลียร์ให้ได้ภายในปีนี้

ตามที่คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) รวมไปถึงโรงพยาบาลสระบุรี ออกมาเผยถึงปัญหาการเงินการคลังที่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่า ขาดทุน โดยส่วนหนึ่งมาจากงบบัตรทองกองทุนผู้ป่วยในที่ได้รับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ และได้จัดสรรงบกว่า 1.5 พันล้านบาทในเดือนส.ค.ลงไปให้รพ.ต่างๆนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : จัดงบ 1,514 ล้านบาท จ่าย “ค่าบริการผู้ป่วยใน” ให้ รพ.ระบบบัตรทอง)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กันยายน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.)  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเตรียมงบประมาณจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในกว่า 1.5 พันล้านบาทให้โรงพยาบาลต่างๆนั้น ต้องอธิบายก่อนว่า เดิมที สปสช.ตั้งงบประมาณกองทุนค่าบริการผู้ป่วยในปีงบประมาณ 2567 ไว้ 40,269.39 ล้านบาท ที่แต่ใช้งบฯไปแล้ว 39,488.55 ล้านบาท ปัจจุบันคงเหลืองบประมาณ 780 ล้านบาท สำหรับการจ่ายในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ทำให้งบเหลือน้อย

นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า หนำซ้ำช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมายังลดอัตราการจ่ายค่า DRGs หรือ ระบบการวินิจฉัยโรคร่วมลง  คิดสัดส่วนการจ่ายเดิมอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักสัมพัทธ์ หรือ adjRW  แต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจ่ายเพียงกว่า 7 พันบาทเท่านั้น ขนาดลดการจ่ายเงินให้รพ.ไปแล้ว งบก็ยังไม่เพียงพอ แม้ล่าสุดสปสช.ออกข่าวว่า จัดสรรงบฯ  1,514 ล้านบาท เพิ่มเติมเพื่อจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในให้กับรพ.สำหรับเดือนกันยายน แต่จ่ายให้เร็วขึ้นคือ สิงหาคมที่ผ่านมานั้น แต่ปรากฎว่า เมื่อรวมเงินทั้งของเดิม 780 ล้านบาทบวกกับ 1,514 ล้านบาท รวมเป็น 2,294 ล้านบาท ให้รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 900 แห่ง แต่ก็ไม่เพียงพอ

403 แห่งไม่ได้งบผู้ป่วยใน อีก 91 แห่งส่อขาดทุนวิกฤต

“จากข้อมูลล่าสุดที่ทาง สปสช.จัดสรรงบประมาณ 1,514 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำหรับค่าบริการผู้ป่วยในช่วง 1-15 สิงหาคม 2567 พบว่า มีโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับเงินผู้ป่วยใน หรือ IP UC รอบที่ 1 เนื่องจากถูกหักเงินเดือนบุคลากร ทำให้ไม่สามารถจัดสรรเงินให้รพ.นั้นๆได้ รวมแล้วมีถึง 403 แห่ง จากโรงพยาบาลกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ และมี 91 รพ.ที่มีความเสี่ยงสูงจะขาดสภาพคล่องทางการเงินขั้นวิกฤตในเร็วๆนี้” ประธานชมรม รพศ.รพท. กล่าว

นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า ปัญหาการหักเงินเดือนบุคลากรจากงบหลักประกันสุขภาพฯ หรืองบเหมาจ่ายรายหัว เป็นปัญหาที่สะสมมานาน เนื่องจากเดิมทีตั้งแต่มีกองทุนฯ มองว่า การรวมเงินเดือนไว้แล้วไปหักออกจากงบรายหัวที่จัดสรรให้โรงพยาบาล เพื่อหวังผลให้มีการกระจายบุคลากรไปยังพื้นที่ห่างไกล แต่ที่ผ่านมาชัดเจนว่า ไม่ได้มีผลต่อการกระจายบุคลากรแล้ว ยังมีผลกระทบต่อ รพ.ในการจัดบริการประชาชนมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ที่มีขนาดเท่ากันและมีบุคลากรเท่ากัน และประชากรรายหัวมีจำนวนน้อย ทำให้สปสช.จ่ายตามรายหัวน้อยตามไปด้วย ขณะที่ต้องหักเงินเดือนออก ทำไปทำมา รพ.นั้นๆ ได้รับงบบัตรทองน้อย หลายแห่งไม่ได้ ยิ่งกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น ชัดเจนว่า 403 รพ.ไม่ได้รับงบผู้ป่วยในจาก สปสช.เลย

ยกตัวอย่างรพ.วิกฤตการเงิน

ผู้สื่อข่าวถามว่า 91 แห่งมีความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินในอนาคตมีที่ไหนบ้าง ส่วนใหญ่เป็นรพ.ระดับใด นพ.อนุกูล กล่าวว่า หลายระดับทั้ง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และรพ.ชุมชน(รพช.) เช่น รพ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี  รพ.ชัยภูมิรพ.กำแพงเพชร  รพช.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก  รพช.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นรพ.ที่จำนวนประชากรน้อย ก็จะได้รับงบประมาณน้อยลง

ภาพจากเฟซบุ๊ก รพ.ราชบุรี

เมื่อถามถึงกรณีอาจต้องรองบกลาง 7.1 พันล้านบาทสำหรับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ มาช่วยแบ่งเบา นพ.อนุกูล กล่าวว่า งบประมาณ 7.1 พันล้านบาทนั้น เป็นงบตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งก่อนหน้านี้สมัยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยขอไป แต่รัฐบาลให้มาเพียง 70 ล้าน ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้ง งบดังกล่าวไม่ใช่งบกองทุนผู้ป่วยใน อาจต้องเอาไปจัดสรรให้กับนวัตกรรมต่างๆ ที่สปสช. จัดบริการไว้หรือไม่ ก็ต้องรอติดตาม

ยื่นข้อเสนอ สปสช.ภายในปีนี้

“ปัญหาคือ สปสช.ต้องจัดการอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ที่ผ่านมาผู้ให้บริการ ยิ่งในส่วนของรพ.ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ จำนวนมากที่สุด กลับมีสัดส่วนในบอร์ดไม่สอดคล้อง การออกมติต่างๆ อาจไม่ได้รับรู้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงก็เป็นได้ คำถามคือ สปสช. คิดจะช่วยรพ.รัฐจริงแค่ไหน เรื่องนี้ต้องมาคุยกันจริงๆ และทางพวกเรา รพ.ต่างๆที่ได้รับผลกระทบ กำลังหารือกันเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ใหญ่ในรัฐบาลต่อไป” ประธานชมรม รพศ./รพท. กล่าว

นพ.อนุกูล กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ข้อเสนอของพวกตน รพ.ที่ได้รับผลกระทบ คือ ถ้าปีนี้ สปสช.ไม่มีเงินเพียงพอจ่าย งบผู้ป่วยใน สปสช.ต้องบันทึกบัญชีเป็นลูกหนี้ของรพ. ด้วย แต่ต้องคำนวณยอดหนี้ในอัตรา 8,350 บาทต่อหนึ่งหน่วยค่าadjRW แล้วปีหน้าหาเงินมาชดเชย   

ตัวเลขเงิน รพ.ราชบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากชมรม รพศ./รพท. ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.2567 ในส่วนของ รพ.ราชบุรี มียอดค่าใช้จ่ายรวม 68.4 ล้านบาท ได้รับงบจากสปสช. 39.9 ล้านบาท ส่วนต่างจากยอดเรียกเก็บ 28.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58 ที่ได้รับจากทั้งหมด  

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวกำลังประสานขอรายละเอียดจาก สปสช. เพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อไป

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สปสช.แจงจ่าย 'งบบัตรทอง' ให้รพ. บรรเทาปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน

-สปสช.แจงปม ‘ยูฮอสเน็ต-ชมรมรพศ./รพท.’ ชี้เหตุผลจัดสรรเงินปลายปิด ถ้าเปลี่ยนต้องคิดถี่ถ้วน

-รพ.สระบุรี ขาดสภาพคล่องหนัก! หลังบัตรทองลดงบ “ผู้ป่วยใน”

-“หมออนุกูล” สุดทน! ติงสปสช.สวนทางนโยบายรัฐบาล จาก “ยกระดับ” เป็น “ลดระดับ” บัตรทอง

-ปลัดสธ.มอบผู้ตรวจฯ รีเช็ก  ‘24 รพ.’ ขาดสภาพคล่อง “เงินบำรุง” เริ่มร่อยหรอ เข้าวิกฤติระดับ 7

-เครือข่ายหมอ รร.แพทย์ -รพศ.รพท.บุกยื่น “สมศักดิ์‘ ร้องปมเงิน สปสช.ทำ รพ.ขาดทุน ล่าสุดกระทบ 236  รพ.