ทีม MCATT บูรณาการภายใต้เขตสุขภาพที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา เตรียมดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสีย เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ลดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือได้รับผลกระทบใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ น่าน และพะเยา ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระยะวิกฤตและฉุกเฉิน (ตั้งแต่เกิดเหตุ – 2 สัปดาห์) จากการที่ทีมช่วยเหลือเยียวยำจิตใจผู้ประสบภำวะวิกฤต หรือทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 ได้ลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ ประเมินกลุ่มเสี่ยง พบว่าประชาชนได้รับผลกระทบมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตตามมาจำนวนมาก ทีมได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นโดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid : PFA) โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเครียด วิตกกังวล เศร้า เสียใจ หรือมีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า ไปแล้วทุกราย แต่อาจยังไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด จึงให้ทีมวางแผนบูรณาการการทำงานกับพื้นที่เพื่อประเมินสุขภาพใจ
นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าระยะนี้ผู้ประสบภาวะวิกฤต ทั้งผู้สูญเสียหรือผู้รอดชีวิตจะได้รับช่วยเหลือหลั่งไหลเข้ามามากมาย ซึ่งทำให้เกิดกำลังใจว่าทั้งตนเอง ครอบครัวและชุมชนจะสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งทีมยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสำรวจข้อมูล สถานการณ์และความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาวางแผนในการให้ความช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภาวะวิกฤต และประเมินคัดกรองภาวะสุขภาพจิตเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสีย เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ เน้นย้ำการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ หากได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาทางด้านจิตใจทันทีหลังเหตุการณ์อย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังหรือเจ็บป่วยทางจิตเวชลงได้
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมจากผลปฏิบัติงานดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบสะสม ณ วันที่ 25 สิงหาคม ประเมินสุขภาพจิตรวม 7,404 ราย พบกลุ่มเสี่ยงสะสม 108 ราย แบ่งเป็น เครียด 105 ราย ซึมเศร้า 3 ราย ทีมได้มีการวางแนวทางการแบ่งกลุ่มผู้ประสบภาวะวิกฤต ที่มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง (Psychological Triage) เพื่อการติดตาม เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มเสี่ยงสูง (แดง) ได้แก่ ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย
- กลุ่มเสี่ยงปานกลาง (เหลือง) ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุติดบ้านหรือติดเตียง ผู้มีประวัติใช้สารเสพติด ผู้มีประวัติการรักษาทางจิตเวช หรือผู้มีความเครียด กังวล ท้อแท้ สิ้นหวัง จนรบกวนการดำเนินชีวิต ในช่วง 2 สัปดาห์ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงปานกลางขึ้นไป จะต้องได้รับการติดตามต่อในระยะหลังได้รับผลกระทบ
- กลุ่มเสี่ยงต่ำ/ไม่เสี่ยง (เขียว) ได้แก่ กลุ่มที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น กรณีพบกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีความคิดทำร้ายตนเองให้ส่งพบบุคลากรทางการแพทย์ทันที และติดตามต่อในระยะหลังได้รับผลกระทบ (2 สัปดาห์–3 เดือน)
ทั้งนี้ ทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร นักกิจกรรมบำบัด ฯลฯ และวางแผนประเมินสถานการณ์เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในสัปดาห์ต่อไป
ทุกคนสามารถช่วยสังเกตและเฝ้าระวังดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3 ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง” พบเห็นคนรอบข้างหรือคนใกล้ชิด เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริง สามารถเข้าพูดคุย ให้เขาระบายความในใจออกมา แสดงความรักความห่วงใยสัมผัสมือ โอบกอบ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยบรรเทาสาธารณภัยหรือกู้ชีพกู้ภัย โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อทีม MCATT โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขในพื้นที่ต่อไป
- 182 views