ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลวิจัย! ออกแบบประเทศไทยรับมือวิกฤตสุขภาพ ส่งเสริม ‘ทุนทางสังคม’ ให้ผลิบาน ยับยั้งการสลายตัวของ ‘นวัตกรรมสังคม’

“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 สิ่งที่เห็นได้ชัดคือสังคมไทยมีต้นทุนทางสังคม” คำกล่าวบางช่วงบางตอนของ ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น’ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 ซึ่งสะท้อนถึงรากฐานสำคัญของประเทศในการรับมือวิกฤตการณ์

รูปธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นจาก ‘ต้นทุนทางสังคม’ คือระบบที่เกิดขึ้นจากการจัดการของท้องถิ่นและชุมชน บนฐานของกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากการลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของภาคประชาชนด้วยตนเอง อาทิ ระบบอาสาสมัครที่เข้มแข็ง ระบบในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง ระบบการจัดการอาหาร ระบบการจัดการศูนย์แยกกัก/ศูนย์พักคอยในชุมชน ระบบการประสานดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ จนเกิดเป็น ‘นวัตกรรมทางสังคม’ ในวิกฤตสุขภาพ

อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง นวัตกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่งก็สลายตัวไปตาม นี่จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของระบบสุขภาพไทยที่จะรักษา ‘ต้นทุนที่ดี’ เหล่านี้เอาไว้ และเป็นโจทย์ตัวโตที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ต้องการหาคำตอบ จึงนำไปสู่การดำเนินโครงการวิจัยในหัวข้อ “ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ผศ.ดร.พรฤดี นิธิรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะนักวิจัยโครงการฯ อธิบายว่า ที่จริงแล้วตามชุนชนจะมีฐานทุนอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทุนทางมนุษย์ ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ หรือทุนทางการเงิน ไปจนถึงทุนทางวัฒนธรรม แต่กลไกสำคัญที่จะทำให้ทุนทุกส่วนถูกนำมาใช้ได้จริงนั้นคือ “ทุนทางสังคม” 

เธอขยายความว่า แม้เราจะมีทุนอื่นๆ อยู่มากมาย แต่หากขาดทุนทางสังคมแล้ว ชุมชนนั้นก็ไม่อาจเกิดความเข้มแข็งขึ้นมาได้ เพราะคนในชุมชนก็จะต่างคนต่างอยู่ ดังที่เราอาจคุ้นเคยกันตามชุมชนเมืองหรือหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป ซึ่งทุนทางสังคมนี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิกในชุมชน และเป็นทุนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

“ทุนทางสังคมจะเป็นเรื่องอย่างเช่น ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจที่มีให้ต่อกันในชุมชน ความรู้สึกว่าเราสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ ความรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชุมชนของเราดี หรือต้องมาร่วมกันทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติ ให้คนในชุมชนเข้ามาทำอะไรร่วมกัน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของความร่วมมือและเครือข่ายทางสังคมที่ชุมชนมี” ผศ.ดร.พรฤดี อธิบาย

แน่นอนว่าเมื่อมีทุนทางสังคมที่ดี ก็จะไปผลักดันให้เกิดการนำทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ในชุมชนออกมาใช้ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา

เช่น ‘ทุนทางมนุษย์’ ซึ่งบางชุมชนอาจมีคนเก่ง คนมีทักษะ ปราชญ์ชาวบ้าน ‘ทุนทางกายภาพ’ บางชุมชนอาจมีวัด โรงเรียน อาคารศูนย์เด็กเล็ก ‘ทุนทางธรรมชาติ’ บางชุมชนอาจมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่ดี ‘ทุนการเงิน’ บางชุมชนก็อาจมีงบประมาณที่หามาได้ หรือได้รับการจัดสรรจากท้องถิ่น ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ บางชุมชนอาจมีประเพณี หรือค่านิยมท้องถิ่นที่สืบทอดมายาวนาน เป็นต้น

สำหรับบทเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 จากการดำเนินการศึกษาวิจัย พบว่า ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ผู้คนต่างเกิดความตระหนกตกใจ มีทั้งความกลัวและความไม่รู้ผสมปนเปกัน โดยใน ‘17 ชุมชนเมือง’ ที่โครงการฯ นี้ได้เข้าไปทำการศึกษา ซึ่งมีทั้งลักษณะที่จัดตั้งเป็นชุมชนในระบบ และชุมชนที่ไม่อยู่ในสารบบ แต่ละชุมชนมีฐานทุน มีความเข้มแข็งที่แตกต่างกัน แต่ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ทั้ง 17 ชุมชนล้วนเป็นชุมชนที่สามารถจัดการตนเองได้ดี

ทั้งนี้ จากการศึกษาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ในภาพรวมของทุกชุมชน พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพของชุมชนในการรับมือกับวิกฤตสุขภาพ สามารถแบ่งเป็น ‘ทุนทางสังคมภายในของชุมชน’ และ ‘ทุนทางสังคมภายนอกชุมชน

สำหรับ ‘ทุนทางสังคมภายในของชุมชน’ มีด้วยกัน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ศักยภาพผู้นำและความศรัทธา (Leader and Trust) โดยทุกชุมชนล้วนมีผู้นำที่มีศักยภาพสูง ทั้งที่เป็นผู้นำตามโครงสร้างและผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งชุมชนรู้สึกศรัทธาและมีความไว้วางใจ ให้ความร่วมมือในการที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการต่างๆ

2. สำนึกรับผิดชอบร่วมต่อปัญหาของคนในชุมชน (Community awareness) ชุมชนตระหนักว่าปัญหาเหล่านั้นคือปัญหาของชุมชนที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา 3. ทุนภายในของชุมชน (Community resources) ผู้นำสามารถวิเคราะห์และประเมินทุนของชุมชนเพื่อนำมาใช้สนับสนุนในการจัดการภาวะวิกฤต เช่น การใช้อาคารศูนย์เด็กเล็กเป็นศูนย์กักกันโรค การดึงศักยภาพของแม่ครัวที่ทำอาหารขายในชุมชน มาเป็นผู้ประกอบอาหารเลี้ยงคนที่กักตัวในชุมชน เป็นต้น

ส่วน ‘ทุนทางสังคมภายนอกชุมชน’ มีด้วยกัน 2 ประเด็น คือ 1. เครือข่ายภายนอก (Social network) เช่น สถานบริการสุขภาพ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่ไม่แสงหากำไร (NGO) ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรศาสนา ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนให้การช่วยเหลือ 2. แหล่งประโยชน์ภายนอกชุมชน (External resources) แสวงหาทรัพยากรจากภายนอกมาสนับสนุนการจัดการปัญหา เพราะทรัพยากรที่แต่ละชุมชนมีอยู่อาจไม่เพียงพอในการจัดการภาวะวิกฤตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีบริบทที่เป็นปัจจัยส่งเสริม คือ 1. ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของคนในชุมชน (Close-knit Relationship) ชุมชนที่สมาชิกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยเฉพาในเชิงเครือญาติหรือความรู้สึกเหมือนเป็นคนในครอบครัว จะทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และมีใจที่พร้อมดูแลกันอย่างเต็มศักยภาพ 2. วัฒนธรรมความเชื่อพื้นฐาน (Community culture and beliefs) เมื่อประสบกับวิกฤติ ชุมชนที่มีทุนทางวัฒนธรรม เช่น พลังสามัคคี ความมีจิตอาสา หรือกลุ่มสายบุญ ฯลฯ จะนำมาซึ่งการผนึกกำลังให้ความร่วมมือเพื่อให้ชุมชนตนเองก้าวผ่านวิกฤตินั้นๆ ไปได้

ผศ.ดร.พรฤดี สะท้อนว่า แม้ทั้ง 17 ชุมชนจะทำได้ดีในช่วงโควิด-19 แต่ภายหลังผ่านเหตุการณ์วิกฤตมาแล้วกลับไม่ได้ดีขนาดนั้น จึงมองว่าหากจะทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาของตนเองอีกครั้ง อาจต้องเลือกปัญหาที่กระทบกับชีวิตเขาเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็อาจมีคนเข้าไปช่วยกระตุ้น ให้คำชี้แนะ กลึงความคิด ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่โครงการฯ นี้เสนอคือการพัฒนาให้เกิดกลไก “ทีมจัดการความรู้ชุมชน” ขึ้นภายในพื้นที่ พร้อมกับที่มี “โหนดพี่เลี้ยง” จากภายนอก ที่จะเข้ามาหนุนเสริมให้เกิดความเข้าใจแนวคิด และเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

“แต่ละชุมชนมีบริบทของตัวเอง มีหนทางแก้วิกฤตที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเราจะกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เราก็ต้องทำให้ชุมชนตระหนักได้ก่อนว่าอะไรคือวิกฤตของเขา อะไรคือปัญหาที่อยากแก้ไข โดยอาจมีการจัดลำดับ ดึงปัญหาที่คิดว่าตอนนี้สมควรทำ มีโอกาสความเป็นไปได้ แล้วก็หยิบปัญหานั้นลุกขึ้นมาแก้ไข โดยใช้ทุนของชุมชนที่มีอยู่ ซึ่งในระยะแรกเราอาจต้องมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยง แต่ต่อไปชุมชนก็จะมีศักยภาพทำได้ด้วยตัวเอง และเป็นภาพฝันของระบบสุขภาพโดยชุมชน ที่ทุกประเทศอยากให้เป็น” ผศ.ดร.พรฤดี สรุป

ด้าน ผศ.ดร.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในฐานะนักวิจัยโครงการฯ กล่าวเสริมว่า ทุนทางสังคมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ บางชุมชนที่เคยเข้มแข็งในช่วงโควิด-19 มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภายนอกชุมชน สามารถช่วยกันดูแลผู้ป่วยได้ดีมาก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แกนนำเปลี่ยน ทุนที่เคยเข้มแข็งก็อาจไม่ถูกนำออกมาใช้ ต้องกลับไปสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนใหม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงยังเป็นการสร้างระบบที่ใหญ่กว่าเพียงชุมชนอย่างเดียว แต่ควรมีการไปเกาะเกี่ยวกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกันด้วย

ผศ.ดร.วีรบูรณ์ กล่าวว่า ภายหลังการศึกษาและถอดบทเรียนจากชุมชนต่างๆ ถึงปัจจัยในเรื่องของทุนทางสังคมแล้ว โครงการฯ นี้จึงยังได้มีการศึกษาวิจัยต่อไปให้เกิดเป็นนวัตกรรมเชิงระบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยยกระดับศักยภาพชุมชนผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และกระบวนการออกแบบบริการ (Service Design) เพื่อให้เกิดระบบที่สามารถรับมือกับวิกฤตสุขภาพ และจัดบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนเองได้ต่อไป