ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับถอยหลัง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ “กทม.” 26 ส.ค.นี้ ด้านผู้ว่าฯกทม.รับได้หน่วยบริการปฐมภูมิ “ศูนย์บริการสาธารณสุข”  แต่ไม่สะดวกออกใบส่งตัวต่างคลินิก ขณะที่สปสช.เตรียมหาหน่วยนวัตกรรมเพิ่ม จากปัจจุบันมีกว่า 1 พันแห่งในกรุงเทพฯ ดึงรพ.เอกชนอีก 22 แห่ง ย้ำ! ขอปชช.รับบริการใกล้บ้าน เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไป รพ.ใหญ่ ส่วน รพ.มหาวิทยาลัยหากต้องการใบส่งตัว เตรียมทำเป็นอิเล็กทรอนิกส์    

 

ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขและการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว  โดยหลักหน่วยบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนฯ ให้ติดตราสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย30 บาทรักษาทุกที่ตามที่สปสช.กําหนด และต้องแสดงบัตรประชาชนทุกครั้ง หรือตามเงื่อนไขของสปสช.กำหนดนั้น

เมื่อเร็วๆนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการมติที่ประชุม บอร์ด สปสช. ถึงประเด็น 30 บาทรักษาทุกที่ในเขต “กรุงเทพมหานคร”  ซึ่งจะเปิดโครงการอย่างเป็นทางการวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่ลานเอนกประสงค์ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ร่วมเปิดงานดังกล่าว

สปสช.พร้อมรันระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ “กทม.” 26 ส.ค.นี้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า มีความมั่นใจระดับหนึ่งในการเปิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในเขต กทม. แต่ก็ต้องเตรียมพร้อม อย่างผู้ว่าฯ บอกว่าเชื่อมระบบข้อมูลเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ก็จะเหลืออีก 100 กว่าแห่งจาก 1,400 แห่ง ซึ่งวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ก็จะต้องเรียบร้อย เราก็คิดว่ามีความพร้อมระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องสื่อสารให้กับประชาชนอย่างชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไร  

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่เป็นจังหวัดที่ 46 จากที่เคยมีกำหนดว่าจะใช้เป็นจังหวัดสุดท้ายของโครงการ โดยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจะตัดสินใจว่าจังหวัดไหนมีความพร้อมมากน้อย ขึ้นอยู่กับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เช่น เลือกจากจังหวัดที่มีความพร้อมต่อการเชื่อมระบบข้อมูล ความพร้อมของหน่วยให้บริการต่างๆ เป็นต้น

อย่างหน่วยบริการระดับสูง ยังคงต้องการให้มีระบบส่งตัวนั้น แต่ในอนาคตจะเป็นระบบส่งตัวผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมายังไม่มี ทำให้ประชาชนต้องเดินทางไปรับใบส่งตัวที่เป็นกระดาษ  แต่อนาคตจะแก้ปัญหาตรงนี้ ส่วนระบบบริการ เราเน้นบริการใกล้บ้าน ตามหน่วยนวัตกรรมที่จัดไว้ให้

“ บอร์ดสปสช. จะออกประกาศอนุญาตให้สามารถใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งหน่วยงานในสังกัด กทม.เชื่อมข้อมูลแล้ว แต่เราก็ยังอยากให้ไปรับบริการตามความจำเป็น ตามความเหมาะสม    ซึ่งใบส่งตัว เกี่ยวกับประวัติรักษาคนไข้ ยังจำเป็นแต่จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่ใบที่เป็นกระดาษ โดยต่อไปหน่วยบริการไหนพร้อมระบบตรงนี้ จะมีป้าย มีโลโก้ติดไว้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ” นพ.จเด็จ กล่าว

ศูนย์สาธารณสุขรับ 30 บ.รักษาทุกที่ฯได้ แต่ไม่สะดวกใบส่งตัวต่างคลินิก

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับหลักการศูนย์บริการสาธารณสุข ของกทม. หากใครเจ็บป่วยเดินเข้ามาก็รักษาอยู่แล้ว  แต่การส่งต่อก็ต้องไปดูว่าต้นสังกัดอยู่ที่ปฐมภูมิที่ไหนก็จะส่งต่อตรงนั้น  เราไม่ได้ปฏิเสธการบริการปฐมภูมิ แต่เรื่องการส่งต่อที่จำเป็นก็ต้องดูเงื่อนไข สปสช.ด้วยว่า กำหนดอย่างไร ต้นทางต้องทำอย่างไร กล่าวคือ ศบส.ให้บริการรักษาประชาชนกทม.ได้ แต่หากมาจากคลินิกอื่นๆอาจไม่สะดวกเรื่องส่งตัวไปรพ.ขนาดใหญ่ได้  ส่วนการเชื่อมข้อมูลนั้น ทางกทม.เชื่อมหมดแล้ว ยังเหลือบ้างแต่ทันในในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

 “ปกติศูนย์บริการสาธารณสุขรับรักษาคนไข้หมด แต่หากอยู่คลินิกอื่นแต่มาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือศบส. ก็ต้องมาดูเงื่อนไขว่า จะส่งต่อได้หรือไม่ อย่างไร ก็ต้องมาหารือแนวทางต่อไป แต่อยากให้ทำความเข้าใจเรื่อง รักษาทุกที่ก่อน ไม่ใช่เจ็บป่วยเล็กน้อย ปวดหัว เดินทางไปรักษา รพ.จุฬาฯ คงไม่ใช่ หากเจ็บป่วยเล็กน้อยขอให้รักษาหน่วยบริการปฐมภูมิก่อน ซึ่งสปสช.จะมีสติ๊กเกอร์ มีโลโก้ติดไว้ให้ เบื้องต้นเข้าใจว่าเข้าร่วมกับสปสช.ราว 1,000 กว่าแห่งแล้ว หากมีสติ๊กเกอร์ก็เข้าได้ทุกที่ แต่ไม่ใช่จะไปรักษาทุกที่ในรพ.มหาวิทยาลัย” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

สปสช.หาหน่วยนวัตกรรมเพิ่ม!

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับหน่วยบริการที่จะเข้าโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ในเขต กทม. จะมีตราสัญลักษณ์ติดไว้ ปัจจุบันมีกว่า 1 พันแห่ง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1.มีความพร้อมเชื่อมข้อมูลก่อน หากเชื่อมไม่ได้ จะดูประวัติคนไข้ไม่ได้ 2.ต้องทราบกติกาการให้บริการ และ3.ประชาชนจะรับทราบว่าต้องทำอย่างไรได้ คือ พิสูจน์ตัวตนผ่านบัตรประชาชน หรือแอปพลิเคชั่นที่จะทำขึ้นมาเฉพาะ ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ต่อไป

“เราจะเพิ่มหน่วยนวัตกรรมขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ในกทม.มี 1,200 แห่งแล้ว เช่น ร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแลป ที่อาจเจาะเลือดที่บ้าน หรือเปิดที่ปั้มน้ำมัน เปิดที่สถานที่รถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกดูแลคนไข้เจ็บป่วยเล็กน้อย หรือแม้แต่โรงเรียนต่างๆ ก็จะมีเทเลเมดิซีนเข้าไป  นอกจากนี้ จะนำเข้ารพ.เอกชนอีก 22 แห่งเข้ามารองรับ เช่น รพ.เกษมราษฎร์ ส่วนรพ.มงกุฎวัฒนะ เข้าร่วมอยู่แล้ว” เลขาธิการสปสช.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามทาง สปสช. เรื่องรูปแบบตราสัญลักษณ์สำหรับติดหน่วยนวัตกรรม และหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.นั้น จะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะในเร็วๆนี้ คาดว่าไม่เกินวันที่ 13 สิงหาคม 2567

ข่าวเกี่ยวข้อง: 

- สมศักดิ์ ประชุมบอร์ดสปสช. ชุดใหม่ อนุมัติหลักเกณฑ์ฯ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ "กทม."