ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สมศักดิ์’ พอใจ ผลรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ข้าราชการสธ.ออกจากก.พ. มีคนแสดงความคิดเห็นเกือบแสนราย เพื่อความเป็นอิสระและความคล่อง แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร  

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ….ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ถึง 1 สิงหาคม2567 ผ่านระบบกลางทางกฎหมายและผ่านเว็บไซต์กระทรวง สธ. รวมทั้งสิ้น สรุปยอดผู้แสดงความคิดเห็นพรบ.กสธ.จำนวน 90,348 คน เห็นด้วย 82,224 คนคิดเป็น. 91 % ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย 11,232 ราย  ผ่านเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข 79,025 รายแบ่งเป็นบุคลากรในสังกัดกระทรวงสธ. บุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวหลายหน่วยงาน เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นต้น ประชาชนทั่วไป โดยสภาเภสัชกรรมได้มีหนังสือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 1 ฉบับ 

“จากนี้ไป สธ.จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงร่างพ.ร.บ. จากนั้นจะนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจะได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาตามกระบวนการต่อไป” น.ส.ตรีชฎา กล่าว

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขใหัความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก และพอใจต่อผลการแสดงความเห็นของประชาชน เหตุผลสำคัญในการผลักดันให้มี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ สธ. เนื่องจากกระทรวงสธ.ประสงค์ให้มีการบริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวง สธ.เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการกำกลังคนที่สอดคล้องเหมาะสม มีความเป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทน และสวัสดิการ ยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวง สธ. 

สำหรับโครงสร้างการบริหารงานที่มีคณะกรรมการข้าราชการ สธ. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สธ.เป็นประธาน ปลัดกระทรวง สธ.เป็นรองประธาน, อธิบดีกรมหรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัดกระทรวง สธ., กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 ราย, คณะกรรมการสายงานวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน และคณะกรรมการสายงานสนับสนุนจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน  

ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เช่น บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอนย้าย ขรก.สธ., กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ, กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการกระทรวง สธ., เสนอแนะและให้คำปรึกษาคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย มาตรฐาน และการจัดระบบ ระเบียบการบริหารงานบุคคลของขรก. สธ, เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการ สธ.ฯลฯ