ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นปัญหามานานกับกรณีอัตรากำลังคนด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกจำกัดด้วยกรอบกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังนั้น การผลักดัน(ร่าง)พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ... หรือที่เรียกว่า กฎหมายแยกสธ.ออกจาก ก.พ. เป็นอีกทางออกที่หลายคนในสาธารณสุขรอมานาน

แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกของการผลักดัน แต่เป็นครั้งที่มีความหวัง เพราะรัฐบาลเพื่อไทยสนับสนุนเต็มที่...

ล่าสุด Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ถึงเรื่องนี้ โดยยืนยันว่า  ชมรมรพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป สนับสนุนเต็มที่เพราะเป็นเรื่องที่รอมานานแล้ว สาเหตุเพราะที่ผ่านมาทรัพยากร หรืออัตรากำลังของกระทรวงฯ  ไม่ตอบสนองต่องานที่ทำ  ทั้งเรื่อง คน เงิน ถือเป็นปัจจัยที่กดดันหน่วยบริการเป็นอย่างมาก

อัตรากำลังด้านสุขภาพ มีความจำเพาะ  

อย่างเรื่องคน เมื่ออยู่ใต้กำกับของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ก็จะออกระเบียบเหมารวม แต่ด้วยบริบทของกระทรวงสาธารณสุข ในโรงพยาบาลต่างๆ เป็นระบบที่เรียกว่า labor intensive หรือการใช้แรงงานคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งไม่สามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนได้ทั้งหมด ยังต้องใช้คนที่มีทักษะ และประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ แต่ด้วยกรอบ ก.พ. จะดูแลแบบเหมือนข้าราชการทั่วไป คือ ไม่เพิ่มอัตรากำลัง ไม่เพิ่มข้าราชการ

ขณะที่ของกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลที่ให้บริการดูแลคนไข้ ซึ่งจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นตลอด อย่าง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า แต่กรอบอัตรากำลังข้าราชการ หรือบุคลากรที่จะมาทำงานกลับถูกฟรีซไว้ จึงส่งผลกระทบต่องาน คนที่จะมาทำงานไม่สามารถเพิ่มได้ เนื่องจากติดกรอบ ก.พ. ทำให้คนที่เหลืออยู่รู้สึกเหนื่อยขึ้นเรื่อยๆ เกิดภาวะเบิร์นเอ้าท์ กลายเป็นโดมิโน่ คนออก คนที่อยู่รับงานเพิ่มเรื่อยๆ

ประกอบกับกระทรวงฯ มีบุคลากรหลายวิชาชีพมาก และแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน การจะดึงเขาไว้ในระบบก็จะแตกต่างกัน อย่าง “พยาบาล” มีความต้องการความมั่นคงในการเป็นข้าราชการสูง และหากเป็นพยาบาลที่อาวุโส ก็ต้องการความก้าวหน้า ซึ่งเจอปัญหาว่า ตำแหน่งที่จะบรรจุก็จะไม่ค่อยมี ซึ่งพยาบาลในรพศ./รพท. เป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ 3 ปี ยังไม่มีตำแหน่งบรรจุเลย

“ขณะที่พยาบาลที่ทำงานมานาน ก็ติดเรื่องชำนาญการพิเศษ ขึ้นไม่ได้เสียที และเมื่อมองเพื่อนๆที่เป็นครู กลับโตขึ้น ตรงนี้หากโตไปพร้อมๆกันก็ไม่เท่าไหร่ แต่กลับพบความเหลื่อมล้ำ ต้องทำงานอยู่เวรตลอด ร่างกายทรุดโทรม แต่ติดปัญหาความก้าวหน้า ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ รู้สึกว่า ระบบไม่ได้ดูแลพวกเขา ดังนั้น เห็นว่า พยาบาลหลักๆมี 2 ประเด็น คือ การบรรจุตำแหน่ง ความก้าวหน้า เป็นต้น” นพ.อนุกูล กล่าว

ยังมีอีกหลากหลายวิชาชีพ

ทั้งนี้ ยังยกตัวอย่างกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไป เช่น นักรังสี ประกาศรับสมัครข้าราชการ ยังไม่มีคนมาสมัคร เพราะเอกชน จ้างสูงมาก การจะดึงวิชาชีพต่างๆเข้ามาอยู่ในระบบ และอยู่ได้นานขึ้นต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันไป แต่หากยังอยู่ใน ก.พ. จะไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนดภาพรวมทั้งประเทศ แต่หากเราออกนอกระบบ เราจะบริหารจัดการเองได้อย่างอิสระ และเหมาะสมกับบริบทของสาธารณสุข

“ในเรื่องกรอบอัตรากำลังนั้น ก.พ.จะคุมกรอบทั้งหมด  ซึ่งบางครั้งมีกรอบมาให้เรา เมื่อคำนวณเสร็จแล้ว พบว่าไม่มีเลขตำแหน่งก็ไม่ได้บรรจุหรือจ้างได้ ต้องหลบไปจ้างเป็นรายวัน เมื่อจ้างเป็นรายวัน ความมั่นคงยิ่งน้อย ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถดึงคนไว้ในระบบได้ เพราะเมื่อเขามีทางเลือก เขาก็จะไปที่อื่น เช่น ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เขาไม่ได้ต้องการข้าราชการ เขารู้อยู่แล้ว แต่เขาต้องการความมั่นคง อย่างน้อยสัญญาจ้าง 4 ปีก็ยังดีกว่าจ้างแบบรายวัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาทุกระดับทุกวิชาชีพสะสมมานานหลายสิบปี”  

ความหวังลดความเหลื่อมล้ำ

ประธานชมรม รพศ./รพท. ยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องการให้ความดีความชอบกับคนทำงานว่า  ที่ผ่านมาทำดีแค่ไหนก็จะได้ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนด อย่างทำไม่ดี ก็ไม่สามารถจัดการได้เต็มที่เหมือนเอกชน  ต่างจาก รพ.บ้านแพ้ว ถ้าทำไม่ดี พฤติกรรมไม่ดีก็จะมีพิจารณาอะไรได้ง่ายกว่า แต่เมื่ออยู่ในระบบราชการตามกรอบ ก.พ. หากพิจารณาผลงานไม่ดี ปฏิบัติไม่ดี ขึ้นเงินเดือนต่ำกว่า 2% ก็ต้องทำเรื่องรายงานชี้แจง ทำให้ไม่สามารถให้ขวัญและกำลังใจกับคนตั้งใจทำงานได้ กลายเป็นว่า ตั้งใจทำงานแค่ไหน ก็ได้ไม่แตกต่างจากคนที่ไม่ตั้งใจทำงาน เกิดการเปรียบเทียบอีก สุดท้ายก็กลืนไปกับระบบ ดังนั้น การแยกตัวออกมาจะมีอะไรที่ดีกว่านี้

แยกตัวออกจาก ก.พ.ต้องได้ประโยชน์ไม่เฉพาะข้าราชการ

เมื่อถามว่าการแยกตัวออกจาก ก.พ. หลายคนสงสัยว่าจะมีประโยชน์เฉพาะข้าราชการหรือไม่...

นพ.อนุกูล กล่าวว่า ต้องได้หมด และขึ้นอยู่กับกลไกการตลาด เพราะถ้าออกจากกรอบ ก.พ. เราสามารถดูแลเรื่องกลไกการตลาด อย่างสายสนับสนุน หรือที่รู้จักกันในชื่อ แบคออฟฟิศ มีส่วนสำคัญไม่แตกต่างจากวิชาชีพ เพราะเรายืดหยุ่นได้ ไม่ต้องขอ ก.พ.  ยกตัวอย่าง นิติกร ซึ่งต้องทำกฎหมาย ทำเรื่องสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง อย่างรพ.ใหญ่ๆต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างปีละเป็นพันล้านบาท หากไม่มีนิติกร จะทำอย่างไร รวมไปถึงเรื่องฟ้องร้อง เรื่องร้องเรียนต่างๆ

“นิติกรทุกวันที่ที่เป็นข้าราชการมีจำนวนน้อยมาก อย่างรพศ./รพท. มีนิติกรที่เป็นข้าราชการเพียง 28 แห่งจากทั้งหมด 130 รพ. ความมั่นคงน้อยมาก  ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข อย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นพนักงานราชการ จากความมั่นคงที่ไม่มาก ทำให้นิติกรส่วนใหญ่ มาอยู่กระทรวงฯ ตามรพ.ต่างๆ เพื่อรอสอบเป็นเนติบัณฑิต” นพ.อนุกูล กล่าว

นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า เห็นได้ว่าที่ผ่านมาเมื่อต้องอยู่ในกรอบ ก.พ. ทำให้ติดเรื่องอัตรากำลังมาก ดังนั้น การออกจาก ก.พ. จึงเป็นทางออกที่หลายคนในสาธารณสุขต่างเฝ้ารอ และมองว่าจะตอบโจทย์แก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน

เมื่อแยกตัวออกจาก ก.พ. ในเรื่องเงินเดือนหรืองบประมาณจะเป็นอย่างไร นพ.อนุกูล กล่าวว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มีเฉพาะข้าราชการ ยังมีการจ้างรูปแบบอื่นๆ ทั้งพนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ได้งบฯจากกระทรวงฯ แต่ยังมีกลุ่มพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ฯลฯ ซึ่งใช้เงินนอกงบประมาณ หรือเงินบำรุง แต่ก็ติดระเบียบ ก.พ. ไม่มีเลขจ้าง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินงบประมาณ ก็จะมีคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข หรือ ก.สธ. มาบริหารจัดการ ซึ่งมองว่าดีกว่าอยู่ในกรอบเดิมๆ แน่นอน การแยกตัวออกจาก ก.พ.จะเป็นทางออกที่สำคัญ

เมื่อถามว่าหากแยกออกจาก ก.พ. เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแยกเงินเดือนออกจากเหมาจ่ายรายหัว และบริหารโดย ก.สธ.เอง นพ.อนุกูล กล่าวว่า เสนอหลายรอบแล้วว่า เงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ไม่ควรไปผูกกับการดูแลประชาชน ซึ่งการดูแลประชาชนให้ดีนั้น จะมีคน และมีเงินในการบริหารจัดการต่างๆ

ควรแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่าย จะช่วยบริหารจัดการได้ดี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเงินเดือนที่ไปผูกกับงบเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทอง ทำให้ติดขัดเยอะ อย่างหลายรพ.รักษาคนไข้ไน (IPD)  แต่ไม่ได้เงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพราะไม่พอ เนื่องจากมีการหักเงินเดือนจนหมดแล้ว ก็ไม่มีเงินมาบริหารจัดการอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ เห็นได้จากที่ผ่านมามีการร้องเรียนอยู่เนืองๆ ซึ่งปัจจุบันมี 200 กว่ารพ. ถูกหักเงินเดือนหมด ไม่ได้รับเงิน

ยกตัวอย่าง รักษาคนไข้ผ่าตัดไส้ติ่ง ต้นทุนประมาณ 10,000 กว่าบาท แต่สปสช.จ่ายให้  8 พันกว่าบาท หนำซ้ำตอนท้ายมาลดอีกเหลือ 7 พันกว่าบาท จึงมองว่าถึงเวลาต้องเอาเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งวิธีการจ่ายแบบนี้มาจากแนวคิดเดิมว่า คนกระจุกในเมือง ไม่ค่อยอยู่ตามต่างจังหวัดไกลๆ มองว่าคนในเมืองเยอะ กินค่าแรงเยอะ และมองว่าต่างจังหวัดไกลๆจะไม่ค่อยมาก สมัยนั้นมองว่า หากหักเงินเดือนในงบเหมาจ่าย ในพื้นที่ต่างจังหวัดจะไม่ถูกหักเยอะ ทำให้มีเงินเหลือได้ ซึ่งหวังว่า จะมีกระบวนการไหลของบุคลากรจาก รพ.ที่มีคนเยอะๆ ไปอยู่รพ.ที่มีคนน้อย ตามรายหัว เป็นต้น แต่ปรากฏว่า  20 กว่าปีแล้วไม่มีการไหลของบุคลากรด้วยเหตุผลนี้ และกระทรวงสาธารณสุข มีการทำกรอบอัตรากำลังตามที่กำหนด มีการกำหนดกรอบรพ.ห่างไกลที่ขาดแคลนได้มากกว่ารพ.ที่อยู่ใกล้ๆ ทำให้เป็นการคุมการเพิ่มคนโดยไม่จำเป็น ตรงนี้จะช่วยเกลี่ยอัตรากำลัง ไม่ใช่เอารายหัวไปผูกกับเงินเดือน

“ดังนั้น เมื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ผล 20 กว่าปีที่ผ่านมาแล้ว เมื่อทฤษฎีที่ตั้งไว้ไม่ได้ผล ก็ควรเลิก ควรเปลี่ยนแปลงได้แล้ว” นพ.อนุกูล กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-มุมมอง “ประธาน สพศท.” คนใหม่ ต่อการผลักดันกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ครั้งนี้แตกต่างจากอดีต

-“หมอประดิษฐ์” หนุนร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. มองเชิงบวก ครั้งนี้การเมืองให้ความสำคัญ  

-โฆษกสธ.เผย 93.2% หนุนร่างพรบ.แยกตัวออกจาก ก.พ. - ตั้ง ก.สธ.บริหารกำลังคน เงินเดือน ฯลฯ

-“หมอเมธี” มองการผลักดันร่างกฎหมาย สธ.ออกจาก ก.พ. ตอบโจทย์ Pain Point กระทรวงสาธารณสุข

-สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ชวนแสดงความเห็นแยกตัวออกจาก ก.พ. ปมความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ภาระงาน

-"สมศักดิ์" เร่งดันร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ให้เสร็จในปี 68