ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีดีอาร์ไอ เผยผลวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ชี้ทักษะ AI มาแรง ประกาศรับเกือบ 5 พันตำแหน่ง ใน 3 เดือน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร-การสื่อสาร ต้องการมากที่สุด และ 3 กลุ่มอาชีพหลักที่มีความต้องการมากในทุกอุตสาหกรรม 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ทีม Big Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ภายใต้ "โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ"  สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 

โดยรวบรวมประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงาน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. ปี 2567 (ไตรมาส 2 ปี 2567) และวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีความแม่นยำสูง และพบประกาศรับสมัครงานทั้งสิ้น 238,129 ตำแหน่ง

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานเพื่อสำรวจทิศทางของตลาดแรงงานหลังจากที่มีการใช้ AI กันอย่างแพร่หลาย พบว่า มีประกาศรับสมัครงานที่ต้องการทักษะด้าน AI จำนวน 4,276 ตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของจำนวนการประกาศรับสมัครงานในเว็บไซต์ออนไลน์ทั้งหมด โดยได้กำหนดทักษะด้าน AI ไว้ในประกาศรับสมัครงาน เช่น Artificial intelligence, ChatGPT, Chatbot, Artificial Neural Networks, Deep Learning, Feature Engineering และLanguage Model

อุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะ AI มากที่สุดใน 3 อันดับแรก คือ 1. อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 483 ตำแหน่ง 2. อุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย 398 ตำแหน่ง และ3. อุตสาหกรรมการกิจกรรม การบริหาร และบริการสนับสนุน 394 ตำแหน่ง

ขณะเดียวกันเมื่อนำข้อมูลชุดเดียวกันไปจำแนกตามกลุ่มอาชีพพบว่า กลุ่มอาชีพ 3 อันดับแรกที่ต้องการทักษะ AI มากที่สุด ประกอบด้วย 1. งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 1,098 ตำแหน่ง 2. งานด้านการจัดการ 906 ตำแหน่ง และ 3. งานธุรกิจและการเงิน 584 ตำแหน่ง

อุตสาหกรรมค้าส่ง-ปลีกยังครองแชมป์ประกาศรับสมัครงานมากที่สุด

ส่วนภาพรวมประกาศรับสมัครงานรายกลุ่มอุตสาหกรรม (จำแนกตามข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอ้างอิงกับประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย) ที่มีการประกาศรับสมัครงานมากที่สุดใน 10 อันดับแรกพบว่า กลุ่มอุตสหกรรมขายส่งและขายปลีกมีความต้องการแรงงานมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีจำนวนประกาศรับสมัครงาน 51,698 ตำแหน่ง (22.0%) ตามด้วยอันดับที่ 2 การผลิต 35,270 ตำแหน่ง (15.0%) อันดับที่ 3 การบริหาร และบริการสนับสนุน 23,509 ตำแหน่ง (10%) อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 18,270 ตำแหน่ง (7.8%) อันดับที่ 5 ที่พัก และบริการอาหาร 17,497 ตำแหน่ง (7.5%) 

อันดับที่ 6 การเงิน และการประกันภัย 16,370 ตำแหน่ง (7.0%) อับดับที่ 7 อสังหาริมทรัพย์ 8,216 ตำแหน่ง (3.5%) อันดับที่ 8 ข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร 7,899 ตำแหน่ง (3.4%) อันดับที่ 9 การก่อสร้าง 7,502 ตำแหน่ง (3.2%) และ อันดับที่ 10 การขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 4,992 ตำแหน่ง (2.1%)

สำหรับอุตสาหกรรมสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 3,900 ตำแหน่งงาน (1.7%) ทั้งนี้ มีประกาศรับสมัครงานที่ไม่สามารถระบุกลุ่มอุตสาหกรรมได้ 33,479 ตำแหน่ง (14.3%)

3 กลุ่มอาชีพเนื้อหอมที่ทุกอุตสาหกรรมต้องการ

เมื่อวิเคราะห์ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรม 6 อันดับสูงสุดในประกาศรับสมัครงาน ที่มีตำแหน่งงานเปิดรับมากกว่า 1 หมื่นอัตราพบว่า มี 3 กลุ่มอาชีพหลักที่ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีความต้องการมาก ได้แก่ 1.  งานด้านการขาย 2. งานสนับสนุนออฟฟิศและงานธุรการ และ 3. งานด้านการจัดการ

เช็กลิสต์ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการ

ขณะที่การวิเคราะห์ทักษะต่าง ๆ จากประกาศหางานนั้น ทีมวิจัยได้อ้างอิงฐานข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูลกลุ่มหมวดหมู่ทักษะโดย Lightcast ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตำแหน่งงานและแนวโน้มตลาดแรงงาน พบว่า ทักษะหลัก 5 อันดับแรกที่นายจ้างต้องการ ดังนี้ 1. สมรรถภาพทางกาย 165,371 ตำแหน่ง (69.4%)  เช่น การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ความคิดริเริ่มความเป็นผู้นำ และทักษะทางสังคม 2. ทักษะด้านธุรกิจ 100,572 ตำแหน่ง (42.2%) เช่น การบริหารโครงการ การจัดการธุรกิจ และการจัดการบุคลากร

3. ทักษะด้านสื่อและการสื่อสาร 88,254 ตำแหน่ง (37.1%) เช่น ความสามารถทางภาษา การเขียนและการแก้งานเขียน และการสื่อสาร 4. ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 77,400 ตำแหน่ง(32.5%) เช่น วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ภาษา Scripting และการพัฒนาซอฟต์แวร์ และ 5. ทักษะด้านการเงิน 62,575 ตำแหน่ง (26.3%) เช่น บัญชีทั่วไป การบริหารงบประมาณ และการเงินทั่วไป

และเมื่อนำทักษะหลักมาจากจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มทักษะทั่วไป (common skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในทุกกลุ่มอาชีพ และ กลุ่มทักษะเจาะจง (specialized skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในเฉพาะกลุ่มอาชีพ พบว่า ในกลุ่มทักษะทั่วไป มี 10 อันดับทักษะที่นายจ้างต้องการ ดังนี้ 1. บริการลูกค้า 41,152 ตำแหน่ง (17.3%)  2. ภาษาอังกฤษ 40,550 ตำแหน่ง (17.0%) 3. การแก้ปัญหา 37,560 ตำแหน่ง(15.8%) 4. การขาย 32,987 ตำแหน่ง (13.9%) 5. ทำงานเป็นทีม 22,177 ตำแหน่ง (9.3%) 6. การจัดการเวลา 19,929 ตำแหน่ง (8.4%)  7. ภาวะผู้นำ 16,512 ตำแหน่ง (6.9%) 8. เจรจาต่อรอง 16,143 ตำแหน่ง (6.8%) 9. บริหารจัดการ 14,856 ตำแหน่ง (6.2%) และ 10. ควบคุมคุณภาพ 10,321 ตำแหน่ง (4.3%)

ขณะที่ทักษะเจาะจง 10 อันดับแรก คือ 1. จัดการโครงการ 16,199 ตำแหน่ง (6.8%)  2. จัดการสินค้าคงคลัง 11,419 ตำแหน่ง (4.8%) 3. บัญชี 11,001 ตำแหน่ง (4.6%) 4. โซเชียลมีเดีย 6,337 ตำแหน่ง (2.7%) 5. จัดการเอกสาร 5,521 ตำแหน่ง (2.3%) 6. จัดการความสัมพันธ์ลูกค้า 4,993 ตำแหน่ง (2.1%) 7. ป้อนข้อมูล 4,856 ตำแหน่ง (2.0%) 8. จัดการสต็อก 4,113 ตำแหน่ง (1.7%) 9. ห่วงโซ่อุปทาน 4,078 ตำแหน่ง (1.7%) และ10. การเงิน 4,045 ตำแหน่ง (1.7%)

ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนา Dashboard เพื่อนำเสนอข้อมูลโดยละเอียดในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม และทักษะของกลุ่มอาชีพต่างๆที่นายจ้างต้องการ ซึ่งสามารถค้นหาและอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ TDRI https://tdri.or.th/2024/07/online-job-post-bigdata-q2-2024/

สำหรับการสำรวจและวิเคราะห์ตลาดแรงงานนี้ ทีดีอาร์ไอจะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยในทุกไตรมาสอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าผลการวิเคราะห์จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษา และสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน เพื่อให้ทันต่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง