ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. นั่งประธานประชุม บอร์ด สปสช.ชุดใหม่ ประเดิมอนุมัติประกาศหลักเกณฑ์ฯ รองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่ กทม. พร้อมเห็นชอบใช้ “ตราสัญลักษณ์ใหม่” สำหรับหน่วยบริการเข้าร่วมให้บริการตามนโยบาย ด้าน ผู้ว่าฯ กทม.ฝากเน้นย้ำ รักษาทุกที่ใน กทม. เฉพาะบริการปฐมภูมิ หวั่นแห่เข้ารักษา รพ.ใหญ่ 
  
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2567 ซึ่งเป็นการประชุมฯ นัดแรกของคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ วาระปี 2567- 2571 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและเห็นชอบ “การกำหนดมาตรการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) 
 
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยครอบคลุมพื้นที่ กทม. เป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 และมีกำหนดการ Kick off ในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 นี้ เพื่อรองรับการดำเนินการขับเคลื่อนและเป็นไปตามมติ บอร์ด สปสช. ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่ให้ สปสช. จัดทำร่างประกาศต่างๆ ในการดำเนินการ และนำมาสู่การนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. ในวันนี้ เพื่อพิจารณาร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขและการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ตลอดจนการติดตราสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่ชาติ พ.ศ. 2545
  
ทั้งนี้ ร่างประกาศหลักเกณฑ์ฯ ในวันนี้ที่ บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบมีจำนวน 4 ฉบับ ดังนี้ 

1.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2545 

2.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการรับบริการของประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567 

3.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตราสัญลักษณ์และการใช้ตราสัญลักษณ์ ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ พ.ศ. 2567 

4.ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และการดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“ภาพรวมเนื้อหาของร่างประกาศฯ ใน 2 ฉบับแรกข้างต้น เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้บริการของหน่วยบริการ และการเข้ารับบริการของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยกรณีที่เจ็บป่วยทั่วไปหรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจำ ที่ได้รับการรับรองและติดป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมให้บริการนโยบาย 30 บาทรักษาที่ทุกที่” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประกาศฯ ฉบับที่ 3 เป็นการกำหนดตราสัญลักษณ์และหลักเกณฑ์ใช้ตราสัญลักษณ์ตามนโยบายฯ ในพื้นที่ กทม. โดยกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุข และทราบถึงหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ที่ทำหน้าที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขดังกล่าว โดยผู้ที่นำตราสัญลักษณ์นี้ไปใช้ต้องเป็นหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขตามนโยบาย 30 บาทฯ ที่ผ่านการรับรองจาก สปสช.   

ส่วนประกาศฯ ฉบับที่ 4 เป็นการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการรับบริการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวกเพื่อประโยชน์ในการบริการสาธารณสุขให้แก่ประชาชน มีการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบถ้วนและไร้รอยต่อ โดยมีการยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย 

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าว สิ่งที่อยากฝากคือ อยากให้ สปสช. ทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนใน กทม. ให้ชัดเจนว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ใน กทม. เป็นการเข้ารับบริการเฉพาะกรณีที่ปฐมภูมิเท่านั้น เพราะกังวลว่าหากไม่ชัดเจน โดยประชาชนเข้าใจว่าไปที่ไหนก็ได้ก็จะมุ่งไปรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นจึงขอให้ สปสช. ทำการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เลขาฯสปสช.) กล่าวว่า ประกาศทั้งหมดนี้ เป็นการองรับการเดินหน้า “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.” โดยประชาชนที่จะเข้ารับบริการต้องเป็นหน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ให้บริการ 30 บาทฯ ติดอยู่เท่านั้น และหน่วยบริการที่จะได้รับตราสัญลักษณ์นี้ได้ต้องผ่านการรับรองจาก สปสช. ก่อน ต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลในระบบก่อน อย่างไรก็ตามจากที่กรรมการในที่ประชุมได้มีข้อสังเกต ทาง สปสช. ก็จะรับไปดำเนินกาต่อไป รวมถึงการจัดให้มีการประเมินผลนโยบายฯ เพื่อการดำเนินการต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายละเอียดหลักเกณฑ์ 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.

อนึ่ง สำหรับการกำหนดมาตรการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่  ในส่วนของ 2 หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่  การให้บริการของหน่วยบริการ และการรับบริการของประชาชน ตามนโยบาย 30บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

1.กําหนดหลักเกณฑ์และการดําเนินการให้บริการของหน่วยบริการ "30 บาทรักษาทุกที่" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

-หน่วยบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนฯ ให้ติดตราสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย30 บาทรักษาทุกที่ตามที่สปสช.กําหนด

 -ให้มีการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล

-จัดให้มีจุดคัดกรองผู้ป่วย

-เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชน หน่วยบริการอาจประสานงานกับสายด่วน 1330เพื่อค้นหารายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็น หน่วยบริการภายใต้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

-หน่วยบริการต้องจัดให้ผู้รับบริการแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการเพื่อประกอบการขอรับค่าใช้จ่ายในการให้บริการ สาธารณสุข ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการในการดําเนินงานเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

-ให้บริการสาธารณสุขตามความจําเป็นต่อสุขภาพและการดํารงชีวิต โดยคํานึงถึงความสะดวกของผู้รับบริการเป็นสําคัญ

-ในกรณีที่หน่วยบริการไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากเกินศักยภาพในการให้บริการ ให้หน่วยบริการพิจารณาส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการให้บริการ หรือให้หน่วยบริการแจ้งสายด่วน สปสช. 1330 เกี่ยวกับการดําเนินการดังกล่าว

-ในกรณีที่ไม่ใช่การเข้ารับบริการในกรณีฉุกเฉิน หากหน่วยบริการไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากเกินขีดจํากัดด้านจํานวน ผู้รับบริการในการให้บริการในแต่ละวัน ให้หน่วยบริการพิจารณาดําเนินการประสานนัดวันให้ผู้รับบริการเข้ารับบริการใหม่ในภายหลัง หรือ ให้หน่วยบริการแจ้งสายด่วน สปสช. 1330 เกี่ยวกับการดําเนินการดังกล่าว

-หน่วยบริการต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ตลอดจนข้อมูลการให้บริการกับหน่วยบริการอื่น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่สปสช.กําหนด

-หน่วยบริการที่ได้ให้บริการตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการ สาธารณสุขตามที่บอร์ดสปสช.หรือสปสช.กําหนด

2. กําหนดหลักเกณฑ์และการรับบริการของประชาชน " 30บาทรักษาทุกที่" ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ

-แสดงบัตรประชาชนหรือวิธีการอื่นที่จําเป็นตามที่สปสช.กําหนด หรือสูติบัตรคู่กับ บัตรประชาชนของผ็ปกครองกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีทุกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้สิทธิในการเข้ารับบริการ

-เข้ารับบริการสาธารณสุขตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนด

-กรณีเจ็บป่วยทั่วไป หรือเจ็บป่วยเรื้อรังทั่วไปที่มีการรับยาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการนวัตกรรม หรือหน่วยบริการประจํา ที่ได้รับการรับรองและมีป้ายสัญลักษณ์การเข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ตามที่สปสช.กําหนด

-แสดงบัตรประชาชนหรือวิธีการอื่นที่จําเป็นตามที่สปสช.กําหนด หรือสูติบัตรคู่กับบัตรประชาชนของผู้ปกครองกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีทุกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้สิทธิเมื่อสิ้นสุดการบริการ

-ในกรณีที่ผู้รับบริการเห็นว่าในการเข้ารับบริการสาธารณสุขต้องใช้ระยะเวลาในการรอเพื่อรับบริการนาน เกินสมควร ให้ผู้รับบริการสอบถามระยะเวลาในการได้รับบริการจากหน่วยบริการ หากไม่สามารถรับบริการในวัน ดังกล่าวได้ ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อนัดหมายวันเวลาที่สามารถเข้ารับบริการในภายหลัง