เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ ชมรม รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป บุกยื่น “สมศักดิ์” แก้ปม สปสช. จ่ายเงินลดลง กระทบ รพ.236 แห่ง ด้าน หมอสุรศักดิ์ จวกสปสช.ไม่ดูกฎหมาย ปิดทางเลือกสิทธิ์ผู้ป่วย On Top สวนทางประกันสังคม จี้ของบฯ เพิ่มจ่ายหนี้ รพ. ด้าน “รมว.สมศักดิ์” ปัดไม่รู้ตัวเลข 24 รพ.ขาดทุนระดับ 7
เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) นำโดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ และนพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมรพศ./รพท. พร้อมตัวแทนเครือข่ายจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายเพื่อบริการประชาชน ก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เรามาขอความช่วยเหลือรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสปสช. (บอร์ด สปสช.) ในเรื่องการจัดสรรงบฯ ให้หน่วยบริการไม่สอดคล้องกับต้นทุน เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา สปสช.ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ขาดไปจำนวนมากส่งผลกระทบ เนื่องจากในภาวะปกติ แม้รพ.ของรัฐจะไม่แสวงหากำไร แต่ก็ต้องมีเงินไว้พัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่งบฯ กลับไม่เพียงพอ เช่น งบฯ ผู้ป่วยใน ให้เพียง 8,350 บาท/AdjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน)แต่ต้นทุนจริง อย่าง รพ.รัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นบาท ส่วนต้นทุนโรงเรียนแพทย์อยู่ที่ 2.5 -3 หมื่นบาท ทั้งหมด 8 เดือน เงินก็ไม่พอแล้ว แสดงว่า เมื่อครบปีงบฯ จะจ่ายเราแค่ 4,500 บาท ยิ่งทำให้รพ.แบกรับไม่ไหว จึงต้องแบกขอความช่วยเหลือรัฐมนตรี
“จึงฝาก รมว.สาธารณสุขช่วยเรื่องนี้ และอยากให้สปสช. คำนึงถึงข้อเท็จจริง ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก การขับเคลื่อนนโยบายต้องดูให้รอบด้าน ครบถ้วน การที่มีนโยบายรักษาทุกที่ในปีที่ผ่านมา ตั้งงบฯ 400-500 ล้านบาท แต่ใช้ไป 900 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดของโครงการตั้งแต่เฟสแรก จนถึงเฟสสี่ รวม 7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้มีการใช้ก่อนหน้านี้แล้ว 4 พันล้านบาท ส่วนปี 2567 รัฐให้งบประมาณ 74 ล้านบาท คาดการณ์ว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 6 พันล้านบาทแน่ ถามว่า จะเอางบมาจากที่ไหน สปสช.เตรียมรบมืออย่างไร” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้นทางออกคือ สปสช.ควรเสนองบฯ เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาจัดสรรตามต้นทุนจริงหรือใกล้เคียงต้นทุนของหน่วยบริการ ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ป่วยนั้น ทางสปสช.ควรกลับไปดูที่พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการเพิ่มเติมจากสิทธิ์ที่ได้รับ คล้ายกับสิทธิประกันสังคมที่ให้ผู้ประกันตนสามารถออนท็อป (On Top) เพื่อรับบริการเพิ่มเติม
ขณะที่ นพ.อนุกูล กล่าวว่า ที่ผ่านมารพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สปสช.จ่ายให้ไม่เต็ม โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยใน ทำให้หลายแห่งขาดสภาพคล่อง ที่อยู่ได้เพราะมีเงินบริจาค และการหาเงินจากแหล่งอื่น รวมถึงนโยบายการช่วยเหลือกันภายในเขตสุขภาพ (พี่ช่วยน้อง) ซึ่งสามารถช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ล่าสุดเดือน มิ.ย.2567 ได้รับเงินจากสปสช.ในอัตรา 7,000 บาท ลดจากข้อตกลงเดิมที่ให้มาในอัตรา 8,350 บาท ในขณะที่ต้นทุนรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 13,412 บาท ส่งผลกระทบต่อรายรับของรพ.ทำให้เดือน มิ.ย. 2567 มีรพ.ถึง 236 จาก 902 แห่ง ที่ให้บริการผู้ป่วยใน ไม่ได้รับเงินชดเชยค่ารักษา เนื่องจากอัตราจ่ายปรับลดลงมาก และถูกหักเป็นเงินเดือนบุคลากรจนหมด ดังนั้น จึงขอให้ สปสช.ประกันอัตราจ่ายขั้นต่ำที่ 8,350 บาท และกรณีที่งบฯ พอให้สปสช.จัดสรรงบฯ เหลือจ่ายจากกองทุนอื่นมาช่วยเหลือ กรณีที่ไม่สามารถชดเชยได้เพียงพอ สปสช.ต้องเป็นลูกหนี้เพื่อทำเรื่องของบฯ มาสนับสนุน ชดเชยต่อไป ที่สำคัญ ขอให้นำเงินบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์หลังการรับหนังสือ ว่า จากความกังวลเรื่องงบประมาณไม่พอจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นถึง 300-400 ล้านครั้ง ทาง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. จะนำเรื่องเข้าบอร์ดสปสช.ในวันนี้ (5 ส.ค.) ด้วย ส่วนตัวได้มอบนโยบายให้หานวัตกรรมที่จะเข้ามาเพื่อช่วยให้ประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง ก็จะช่วยให้ไม่ต้องเข้ารพ.เพิ่ม อย่างไรก็ตาม จะตอบอะไรทั้งหมดตอนนี้คงไม่ได้ ก็ต้องใช้เวลา
เมื่อถามว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางเครือข่ายรพ.มาร้องว่า สปสช.จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลไม่ครบ จะมีวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ช่วยกันดู 1.การเพิ่มงบประมาณ 2.ใช้นวัตกรรมช่วยลดจำนวนคนป่วยน้อยลง ซึ่งก็คงไม่เห็นผลในเร็ววัน และ 3.ดูเรื่องงบฯ ว่า เพิ่มหรือลดส่วนไหนได้บ้าง ส่วนที่มีรายงานว่ารพ.ขาดสภาพคล่อง ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้ ยังไม่ได้เห็น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สปสช.แจงปม ‘ยูฮอสเน็ต-ชมรมรพศ./รพท.’ ชี้เหตุผลจัดสรรเงินปลายปิด ถ้าเปลี่ยนต้องคิดถี่ถ้วน)
- 7358 views