ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาเอาใจช่วยดัน ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข หรือ พรบ.ก.สธ. แยกตัวออกจาก ก.พ. ส่วนหนึ่งแก้ปัญหาอัตรากำลังด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ เหมือน “ครู-ตำรวจ” เป็นตัวอย่างที่ทำสำเร็จ พร้อมเสนอเมื่อมีพรบ.ก.สธ. สิ่งสำคัญต้องควบคู่ “ค่าตอบแทน-ภาระงาน-ความก้าวหน้า” ดึงคนให้อยู่ในระบบด้วยเช่นกัน

 

ถูกจับตามองอีกครั้งสำหรับการเดินหน้าผลักดันกฎหมายสาธารณสุข ที่ต้องการแยกตัวออกจากกรอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) หรือที่เรียกว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ... ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะมีการผลักดันมานาน แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน กระทั่งมาถึงยุครัฐบาลเพื่อไทย มีการจุดไฟอีกครั้ง 

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้จัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จ และได้นำขึ้นเว็ปไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบุคลากรสาธารณสุข ประชาชนทั่วไป เข้ามาแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ส.ค.67 ก่อนจะรวบรวม เสนอต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

(อ่านข่าว :เริ่มแล้ว! เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. พร้อมรายละเอียดร่างพรบ.)

“การผลักดันกฎหมายดังกล่าว ทำกันมานาน แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนมาเกิดการขับเคลื่อนอีกครั้งในรัฐบาลนี้ ตั้งแต่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็น รมว.สาธารณสุข  กระทั่งมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีฯ เป็นท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน  ซึ่งโชคดีมากที่ท่านให้ความสำคัญ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ.ก็ให้ความสำคัญมากเรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีมาก นี่ถือว่าจะตอบโจทย์ pain point ของกระทรวงสาธารณสุขจริงๆ

ถ้อยคำของ  รศ.(พิเศษ)นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้ความเห็นกับสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ถึงร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. หรือ พ.ร.บ.ก.สธ. ที่กำลังถูกขับเคลื่อนอีกครั้ง...

คน เงิน ของ ปัญหาค้างคา

ทั้งนี้ รศ.(พิเศษ)  นพ.เมธี อธิบายว่า  ด้วยปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งบุคลากรที่ขาดแคลน ภาระงานที่หนัก การเพิ่มการผลิตแพทย์อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เพราะในเรื่องอัตรากำลังต้องดำเนินการภาพรวม ดูหลายปัจจัย ที่สำคัญเมื่อคนทำงานไม่พอ ภาระงานล้น ค่าตอบแทนไม่เหมาะสม ก็เกิดปัญหาสมองไหล ลาออกกันเรื่อยๆ การผลิตออกมาก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาอยู่ในระบบได้นาน

ดังนั้น  การนำข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข  ออกจากร่มเงาของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็น pain point เพราะ ก.พ.ยืนยันว่าไม่สามารถเพิ่มกรอบอัตรากำลังให้กับโรงพยาบาล โดยเฉพาะตำแหน่งพยาบาลให้อีกแล้ว เหตุเพราะ..เงินไม่พอ อัตราเต็มแล้ว เป็นต้น ทั้ง ๆที่ความจริงในหน้างานหรือสถานการณ์จริงคือ คนไม่พอ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ทุกวันนี้พยาบาล 1  คน ต้องทำงานเสมือน 2-5 คน แต่กลับได้รับค่าแรงค่าตอบแทนเท่ากับคนเพียงคนเดียว (1 FTE: ค่าภาระงาน) แต่เมื่อเกิดปัญหากลับต้องถูกตำหนิจากผู้ป่วยหรือญาติ หรือถูกตั้งกรรมการสอบฐานบกพร่อง หรือประมาทเลินเล่อ

โรงพยาบาลหลายแห่ง พยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินบำรุง จ้างหมอ จ้างพยาบาลเพิ่มเติม แต่ปัญหาคือ เงินไม่พอ หรือไม่มีเงินจะจ้าง เพราะเงินที่ได้จากหน่วยงานจัดสรรบางแห่งนั้นไม่ตรงกับต้นทุนจริงของรพ. หลายกรณีถูกปฏิเสธการจ่าย ทั้ง ๆที่ให้การรักษาไปแล้ว ดังตัวอย่างที่ โรงเรียนแพทย์ และ UHOSNET ออกมารวมตัวเรียกร้องจนเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญคือ เมื่อรพ.พยายามหาช่องทางเพิ่มรายได้ ก็มีแรงต่อต้าน ทั้ง ๆที่วัตถุประสงค์หลัก คือ พยายามหาเงินมาปรับปรุงคุณภาพบริการ ไม่ใช่เพื่อค้ากำไร

ตำรวจ ครู อัยการ ผู้พิพากษา ออกจาก ก.พ.สำเร็จ

“หลายวิชาชีพ คือ ตำรวจ ครู อัยการ ผู้พิพากษา ล้วนแต่ผ่านขั้นตอนนี้จนออกไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ของตนเองนานแล้ว ...วิชาชีพเหล่านี้ สามารถกำหนดกรอบอัตรากำลังพลของตนเองได้อย่างอิสระ ตรงกับภาระงานและความต้องการจริง ที่สำคัญคือ ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่ต้องอิงกับกรอบคำนวณแบบเดิม ๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลกับความหนักหน่วงของงาน และความรับผิดชอบ” ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าว

อย่างไรก็ตาม รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี ย้ำว่า การนำข้าราชการออกจาก ก.พ. ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผลักดันมาหลายปี แต่ไม่สำเร็จ การที่รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน รมต.สธ. และท่านปลัด สธ. และทีมผู้บริหารปัจจุบันของกระทรวงฯ  ผลักดันจนมาถึงขั้นตอนประชาพิจารณ์ได้ นับเป็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนที่สุด

ส่วนคำถามว่ากฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ.จะตอบโจทย์เรื่องแพทย์ขาดแคลนหรือไม่ รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่า เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ต้องมาพิจารณาเรื่องความก้าวหน้า ภาระงาน ค่าตอบแทน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการมีกฎหมายถือว่าดี อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องแพทย์ ไม่ใช่ว่าต้องผลิตเพิ่มอย่างเดียว แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องเน้นเรื่องการกระจายให้เหมาะสมด้วย

ผลิตแพทย์เพิ่มขาเดียวไม่ได้ ต้องกระจายตัวให้เหมาะสม

ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแพทย์ทั้งประเทศมีประมาณ 7 หมื่นคน แต่คนทำงานจริงๆ อายุ 20 ปีขึ้นไปไม่ถึง 50 กว่าปี ที่สามารถทำงานหนักๆ อดหลับอดนอนได้ มีประมาณ 50,000 คน ทีเหลือก็จะเป็นฝ่ายบริหาร หรือไม่ค่อยลงมาดูคนไข้แล้ว ซึ่งภาระงานหนักจะอยู่ที่ 5 หมื่นคน  โดยอยู่ในระบบภาครัฐทั้งหมดราว 2-3 หมื่นคน ไม่ใช่แค่ในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ถามว่ายังขาดหรือไม่ ก็ยังขาด แต่อัตราการผลิตแพทย์ ณ ปัจจุบันอยู่ปีละราว 3 พันคน และแนวโน้มจะเป็น 3.5 พันคนในอนาคต ดังนั้น จากอัตราการผลิตแบบนี้ไม่เกิน 5-10 ปี จะมีหมอเพิ่มขึ้นมาอีกราว 3 หมื่นคน ซึ่งยังไม่รวมนโยบายที่รัฐบาลประกาศผลิตเพิ่มอีก

การผลิตแพทย์เพิ่มก็ต้องพิจารณาดีๆ เพราะจะมีเรื่องคุณภาพ มีเรื่องคนไข้ อย่างหมอจบใหม่จะไม่ค่อยได้ทำหัตถการ เหมือนสมัยก่อน อย่างตน ตอนจบใหม่ๆ ผ่าคลอดเองก่อนจบถึง 20 คน ปัจจุบันหมอจบใหม่แทบไม่ได้ผ่าคลอดเลย ส่วนใหญ่เรียนทฤษฎี ทำเองน้อย พูดง่ายๆ การผลิตบุคลากร ต้องมีชั่วโมงบิน ชั่วโมงงานเพิ่มประสบการณ์ด้วย ระหว่างรอกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. อย่างหมอเสริมสวย เป็นไปได้หรือไม่ดึงกลุ่มนี้กลับเข้าระบบ โดยต้องปรับค่าตอบแทน ภาระงานให้เหมาะสม

ทัศนคติหมอรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม การผลิตแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในการแก้ปัญหา แต่จะแก้ขาเดียวไม่ได้ อย่างเรื่องการกระจายตัวแพทย์ให้เหมาะสมก็สำคัญ และที่สำคัญกว่าคือ ค่าตอบแทน ภาระงาน ความก้าวหน้า ทุกอย่างต้องสอดคล้องกันด้วย เพราะหมอมี ภาระงานหนักมาก รวมทั้งความเสี่ยงในการทำงานสูงแต่ได้ค่าตอบแทนน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงและปริมาณงาน ที่หนักกว่าคือหากผิดพลาด โดยไม่เจตนา ก็มีโอกาสถูกฟ้องร้องหรือร้องเรียนอยู่ตลอดเวลา  นี่ก็เป็นอีกจุดที่หมอรุ่นใหม่ไม่ทน ซึ่งนักศึกษาแพทย์ และน้องๆหมอรุ่นใหม่ มองว่า เมื่อทำงานหนักแล้ว และเมื่อเกิดปัญหา ทำไมถึงต้องมารับผิดชอบ ทั้งเสี่ยงคดีความ แถมเสี่ยงโดนตั้งคณะกรรมการสอบ แพทย์พยาบาลรุ่นใหม่ หลายคน มีทัศนคติที่ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายที่ถูกบังคับให้ทำงานแต่ไม่มีการคุ้มครองเหมือนพรบแรงงานที่คุ้มครองอาชีพอื่น   

หลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อนโยบาย ที่บังคับให้อยู่เวรโดยที่ค่าตอบแทนน้อยแบบนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แล้วทำไมเมื่อเกิดปัญหา จึงต้องมาลงที่ผู้ปฏิบัติงาน เพียงกลุ่มเดียว จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย ลงมาช่วยรับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหานี้ด้วย ดังนั้นเมื่อ มีความพยายามแก้ไขโดยการออกกฎหมายนี้ ก็น่าจะ ตอบโจทย์ของผู้ทำงานไม่มากก็น้อยและแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของฝ่ายบริหาร   

รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่า กฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. เป็นสัญญาณที่ดี แต่สิ่งสำคัญในร่างกฎหมายต้องมีเรื่องค่าตอบแทบ ภาระงาน ความก้าวหน้าอย่างชัดเจนด้วย เพราะทุกวันนี้ ปัญหาเหล่านี้คือเรื่องใหญ่ทำให้บุคลากรไม่อยู่ในระบบ แม้จะผลิต มีกรอบอัตรากำลัง แต่ภาระงานก็ต้องเหมาะสมกับค่าตอบแทนเช่นกัน ทุกวันนี้ค่าตอบแทนต่ำกว่าความเป็นจริงมาก  พยาบาล อยู่เวรดึกหรือนอกเวลาราชการได้ค่าตอบแทนเพียงชั่วโมงละ 40-60 บาท  ในขณะที่แพทย์ ได้ค่าตอบแทน ชั่วโมงละ 100 บาท ต้นๆ ซึ่งต่ำกว่า เกณฑ์ตามพรบแรงงานเยอะมาก

“จากสัญญาณที่ส่งมาจากทางท่านรัฐมนตรีฯ สมศักดิ์ และท่านปลัดโอภาส ดูเหมือนให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ถึงขนาดกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน และตอนนี้มีประชาพิจารณ์   จึงเอาใจช่วยท่านสมศักดิ์ และรัฐบาลเพื่อไทย ให้มีเวลามากพอในการผลักดันจนสำเร็จ เพราะหลายครั้งที่ไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะสำเร็จได้ในรัฐบาลนี้” รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับพรบ.ก.สธ. ได้ที่เฟซบุ๊กรศ.(พิเศษ) นพ.เมธี ที่  Methee Wong 

อ่านรายละเอียดร่างพ.ร.บ. ก.สธ. ที่ไฟล์แนบด้านล่าง

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ชวนแสดงความเห็นแยกตัวออกจาก ก.พ. ปมความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ภาระงาน

-"สมศักดิ์" เร่งดันร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ให้เสร็จในปี 68

-“สมศักดิ์” ลงนามแก้ระเบียบสธ. ดึงเงินบำรุงรพ. สร้าง-ปรับปรุงบ้านพัก