ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอปรีดา" ถอด "ภาพรวมการศึกษาระบสุขภาพปฐมภูมิ-ระบบสุขภาพท้องถิ่น" พร้อมขับเคลื่อน 2 โครงการงานวิจัยยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชนเพื่อชุมชน เชื่อมการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ชี้ 4 ปัจจัยความสําเร็จ "กลไกความร่วมมือ-ความชัดเจน-ข้อมูลข่าวสาร-กิจกรรม"

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ “จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมและผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชนและท้องถิ่น ตลอดจนระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมี  นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนโยบายสาธาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อภิปรายถึงหัวข้อ "ภาพรวมความเป็นมาการศึกษาระบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชุมชนและระบบสุขภาพท้องถิ่น"

นพ.ปรีดา กล่าวว่า  ในการศึกษาการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ มองเป็น 2 มิติคือชุมชนและท้องถิ่น อย่างบทเรียนของการระบาดของโรคโควิดหรือโรคต่างๆ ทําให้เห็นว่าชุมชนและท้องถิ่นมีบทบาทสําคัญยิ่งต่อการทํางานร่วมกันในการที่จะตอบสนองต่อพี่น้องประชาชน ประเด็นต่อมาถ้ามองที่ระดับบริการปฐมภูมิ หรือ รพ.สต. เป็นหลัก มีเส้นแบบนี้คือ จากระดับ รพ.สต. ขึ้นไปข้างบนเป็นเรื่องบริการทางการแพทย์ เรื่องความเชี่ยวชาญหรือว่าวิชาชีพบริการต่างๆ ส่วนตั้งแต่ปฐมภูมิลงมาข้างล่างเป็นส่วนที่ชุมชนเป็นฐานและสามารถที่จะทํางานร่วมกันได้ ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดว่า หน่วยบริการที่ถ่ายโอนไป อบจ.นั้น จะทําอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังคงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่น รวมทั้งบริการที่ไปสู่ประชาชนยังสามารถดําเนินการได้ไม่ด้อยไปกว่าเดิมหรืออาจจะดีขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นในสองส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่สําคัญที่นํามาสู่การทํางานโดยการสนับสนุนของ สวรส. ต้องขอบพระคุณ สวรส.ที่ให้การสนับสนุน ว่าถ้าเราให้แนวคิดเรื่องของการระบบบริบาลร่วมกันจะทําอย่างไรถึงจะทําให้การจัดการต่างๆ ทั้งเรื่องการบริการปฐมภูมิตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนได้จริง ตรงส่วนนี้เป็นส่วนที่เราได้ร่วมมือกัน

ทั้งนี้จึงเกิดโครงการที่สำคัญ โดยโครงการที่ 1. เป็นเรื่องของ รพ.สต.และ ชุมชน ซึ่งมีความเข้มแข็งมากในทั้งหมด19 พื้นที่และ 19 พื้นที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ จึงได้มาทํางานร่วมกัน เพื่อให้เห็นว่าทําอย่างไรถึงจะทําให้มีความยั่งยืนและมีชุมชนเข้มแข็งสามารถจัดบริการการปฐมภูมิได้ด้วยชุมชนเอง อันนี้เป็นโจทย์ที่สําคัญเพื่อที่จะบอกว่าถ้ามีเหตุการณ์ครั้งสําคัญไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นวิกฤตครั้งหน้าชุมชนจะสามารถรับมือได้ จากการทํางานมา 10 กว่าเดือนได้เห็นว่าตัวนวัตกรรมซึ่งทํางานผ่านนวัตกรรมของชุมชนเกิดขึ้นได้จริง โดยการออกแบบร่วมกับพี่เลี้ยง และรพ.สต. จึงทําให้เกิดนวัตกรรมหลายเรื่องที่ตอบโจทย์ชุมชน

 

"ปัจจัยที่สําคัญจะพบว่ามี 3 ส่วนที่เป็นเงื่อนไขความสําเร็จ 1. มีทีมจัดการความรู้ของชุมชน คือคนในชุมชนเอง 2. มีโหนดพี่เลี้ยง ซึ่งโหนดพี่เลี้ยงอาจจะเป็นรพ.สต.หรือภาคประชาสังคมก็ได้ทํางานร่วมกัน และ 3. การจัดทําให้ชุมชนมีข้อมูลของชุมชนเอง โดยการผลิตข้อมูลเองและเชื่อมจากข้อมูลภาครัฐ 3 ส่วนนี้เป็นปัจจัยที่สร้างความสําเร็จให้กับตัวนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งหมด 19 ชุมชน ที่เราได้ทำงานร่วมกันมา" นพ.ปรีดา กล่าว

โครงการที่ 2 เรื่องการถ่ายโอนไปอบจ.จะเกิดความสําเร็จได้หรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้อย่างไร ซึ่งการที่เราจะทําให้สำเร็จได้มีอยู่ 4 เรื่องที่จะต้องพิจารณา 1. ทําอย่างไรระดับนโยบายจึงจะทําให้เกิดความชัดเจนมากกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมาใน 6 จังหวัดสร้างความชัดเจนได้ แต่หลายพื้นที่ยังมีความคลุมเครืออยู่ 2. เรื่องกลไกความร่วมมือ ความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนหรือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมหรือข้อตกลงร่วมที่เป็นกรอบ นําไปสู่ 2 เรื่องที่สําคัญ ก็คือ การทํางานของกลไกร่วม และ นโยบายที่ถ่ายระดับลงไปถึงรพ.สต. อันนี้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเกิดขึ้นได้จะอํานวยความสะดวกให้เกิดผลลัพธ์ที่ระดับพื้นที่ที่เป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า sanbox ของทั้ง 6 จังหวัดได้  3. กิจกรรมหรือนวัตกรรม ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน โดยในผลการวิจัยมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะยังไม่มากนักแต่ก็เห็นทิศทางและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นที่จะตอบสนองและแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้  และ 4. เรื่องข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสําคัญมากหลายพื้นที่แต่เดิมไม่มีข้อมูล ผลิตข้อมูลเสร็จแล้วส่งไปแต่ไม่ได้กลับมาถึงชุมชน ทำให้ชุมชนไม่สามารถที่จะวางแผนในภาพรวมในชุมชนได้ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายในทั้งหมด 12 พื้นที่ของโครงการนี้เช่นเดียวกัน 

"โดยข้อสรุปแล้วจาก 2 โครงการนี้ ถ้าเรามองในเชิงบริบทของการกระจายอํานาจ มองในเชิงของการจัดการเรื่องระบบปฐมภูมิโดยชุมชนและท้องถิ่น ก็จะพบว่าตัวกลไกที่ระดับพื้นที่ถ้าปล่อยให้พื้นที่วางกรอบข้างบนก่อน แล้วพื้นที่สามารถทําความร่วมมือได้ ตัวนโยบายในการทํางานร่วมมือจะเป็นกลไกที่สําคัญในการที่จะสร้างความเข้มแข็งของกลไรร่วม และจะเป็นนโยบายที่สําคัญที่จะถ่ายทอดลงไปสู่ระดับล่าง ซึ่งกลไกที่จะเชื่อมในระดับจังหวัดและก็ระดับพื้นที่ที่ชัดเจน มี 2 ส่วนที่ชัดเจน คือ สมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการทํางานนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และ หน่วยวิชาการในพื้นที่ ซึ่งทํางานร่วมกันทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้" นพ.ปรีดา กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

- สช.-สวรส.-สมาคม อบจ. ประกาศเจตนารมณ์ ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ