สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ชวนแสดงความเห็น ร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. สรุปประเด็นสำคัญ มีอำนาจมากขึ้น เติบโตในสายงาน กำลังพล เงินค่าตอบแทน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม เฟซบุ๊กเพจสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน โพสต์ชวนร่วมแสดงความเห็นแยกตัวออกจาก ก.พ. รายละเอียดว่า 

[เหลือเวลาอีก 11 วัน! ร่วมแสดงความเห็นร่างกฏหมายพาสาสุขออกจากกพ.!]

หลังจากการขับเคลื่อนยาวนานนับสิบปี ในที่สุด การเกิดขึ้นของร่างพรบ.นี้ก็มาถึงหน้าประตูคนทำงานในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเวลาอีกแค่ 11 วันเท่านั้นในการแสดงความเห็น! เราสรุปประเด็นสำคัญมาให้ทุกคนก่อนจะร่วมแสดงความเห็นไว้แล้วที่นี่ ก่อนจะไปร่วมแสดงความเห็นได้ที่: https://shorturl.at/FNEys

[มีอะไรใหม่ในพรบ.ฉบับนี้ ที่เราควรจับตามองและร่วมแสดงความเห็น?]

1. พรบ.นี้ครอบคลุมใครบ้าง? 
ในร่างนี้ เพิ่มคำว่า “ข้าราชการสาธารณสุข” โดยหมายถึงทุกคนที่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือน รวมสายวิชาชีพ และสายงานสนับสนุนทั้งหมดตามนิยาม ซึ่งเราก็ยังตั้งขอสังเกตว่า นับรวมถึงลูกจ้างโรงพยาบาล หรือลูกจ้างชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเรื่องการทำงานและค่าตอบแทนมากสุด หากตามคำนิยามดังกล่าว อาจจะไม่ครอบคลุมคนที่เปราะบางที่สุดในกระทรวง

2. เพิ่มอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขในการตัดสินใจมากขึ้นด้วย “คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข”
ในร่างพรบ. ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. ...นี้ เปิดโอกาสให้กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจใน มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ที่มีตัวแทนของอธิบดีกรมต่างๆตามตำแหน่ง กรรมการจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี ตัวแทนจากสายงานวิชาชีพ และตัวแทนจากสายงานสนับสนุน ทำให้คนทำงานทุกฝ่ายมีปากมีเสียงมากขึ้น ซึ่งจะพิจารณาเสนอสิทธิประโยชน์ของคนทำงานในข้ออื่นๆต่อไป

3. ค่าตอบแทน
คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุขนี้ สามารถ เสนอปรับเพิ่มเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ เงินค่าครองชีพต่อคณะรัฐมนตรีได้อย่างอิสระมากขึ้นไม่ต้องพึ่งกฏก.พ. แต่ไม่สามารถประกาศเพิ่มเองได้ และไม่ครอบคลุมถึงค่าเวรที่ขึ้นกับเงินบำรุงโรงพยาบาล 

4. ตำแหน่งคนทำงานในสาธารณสุข 
สามารถกำหนดแผน กำหนดตำแหน่ง กำหนดการบรรจุ กรอบอัตรากำลัง ความรับผิดชอบ และคุณสมบัติเฉพาะ

5. ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ
คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข มีอำนาจในการพิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่คนทำงาน ซึ่งเราหวังว่าจะมีการเปิดทุนให้เรียนต่อโดยเฉพาะของพี่ๆพยาบาล เพื่อการเติบโตในสายงานและมีความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆมาเพื่อดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาการรับรองวุฒิเพื่อการบรรจุ และให้เหมาะสมกับค่าตอบแทนได้อีกด้วย

6. ทำงานจนตัวตาย ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม
มีการเลื่อนเงินเดือนเพื่อใช้คำนวณบำเหน็จบำนาญให้หากเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงาน รวมถึงจัดสวัสดิการให้แก่ครอบครัวตามคณะกรรมการกำหนด ซึ่งที่ผ่านมา มีบุคลากรเสียชีวิตระหว่างการทำงานหลายต่อหลายครั้ง เป็นสวัสดิการที่ไม่มีใครต้องการใช้ ไม่มีใครอยากเห็นข่าวว่ามีคนใช้สิทธิ แต่นับว่าเป็นการเพิ่มให้ที่ดีกว่าของเดิม 

โดยสรุป มีอำนาจมากขึ้น ในเรื่องการเติบโตสายงาน กำลังพล เงินค่าตอบแทนต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องงานที่เหมาะสมกับคนทำงาน ชั่วโมงการทำงาน และไม่ได้พูดถึงกลุ่มคนทำงานที่เปราะบางที่สุดในกระทรวงอย่างลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างโรงพยาบาล 
แต่อย่างน้อย ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญในสิทธิแรงงาน ที่ลูกจ้างรัฐอย่างพวกเราถูกละเลยมานาน
ความคิดพวกเราทุกคนมีค่า รวมแสดงความเห็นได้ที่ : https://shorturl.at/FNEys

เพราะทุกเสียงของพวกเรามีคุณค่าได้มากกว่านี้