ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อ.ปานเทพ-หมอธีระวัฒน์”-รสนา”  ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกฯ และคกก.ป.ป.ส. ทบทวน “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติด  เหตุข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขคลาดเคลื่อน  การยืนยันว่าได้รับผลกระทบจากกัญชาอาจจะสูงกว่าความเป็นจริง

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล  นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และน.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา เดินทางเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อ “ทบทวนกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” พิจารณาข้อเสนอใหม่ ซึ่งเป็นการเสนอก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมีผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รับเรื่อง

โดย นายปานเทพ เผยแผร่หนังสือเปิดผนึกถึงคณะกรรมการป.ป.ส จากเครือข่ายวิชาการทางการแพทย์ด้านกัญชา ระบุว่า  ข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอนั้นคลาดเคลื่อนและสูงอย่างผิดปกติในด้านจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากกัญชา ในปีงบประมาณ 2565 ถึง 2566 จำนวน 48,138 ถึง 48,195 คน และยังเพิ่มจากข้อมูลที่เคยนำเสนอเบื้องต้นว่ามีเพียง 1,630 ถึง 2,079 คนเท่านั้น

ความเป็นจริง สถิติข้อมูลการรับเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติจากกัญชานั้น มีเพียง 2,323 ถึง 5,935 ครั้ง เท่านั้น แตกต่างจากตัวเลขของการสาธารณสุขว่ามีสูงถึง 48,138-48,195 คน แตกต่างกัน 800 ถึง 2,100%

ค่าบริการที่เรียกเก็บ จาก สปสช. มีเพียง 26 -69 ล้านบาทเท่านั้น ต่างจากข้อมูลที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อ้างงานของ นพ. ปราการ ถมยางกูร ที่ว่ามูลค่าสูงถึง 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท

การยืนยันว่าได้รับผลกระทบจากกัญชานั้นอาจจะสูงกว่าความเป็นจริงโดยใช้คำบอกเล่าของผู้ป่วยแต่ไม่ได้ยืนยันสาเหตุที่แท้จริง การนำเข้ายาและการแพทย์จากต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 136,950 ล้านบาทคิดเป็น 68.9% ของค่าใช้จ่ายด้านยาทั้งหมดตามสถิติปี 2564 และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกินความเป็นจริงหลาย 100 เท่า และความรุนแรงไม่ได้มาก อยู่โรงพยาบาลเพียงหนึ่งคืน โดยเฉลี่ย

อีกทั้ง หลักฐานที่พิสูจน์ว่าเกิดจาก กัญชานั้นคลุมเครือนอกจากนั้นยังไม่ได้พิจารณาถึงประโยชน์ทางการแพทย์ในการลดมูลค่าการนำเข้าของผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศ