ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด 67 คน เรียกร้องนายกฯ -ประธานบอร์ดป.ป.ส. เร่งเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข นำ “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติดทันที แล้วจึงทำกฎหมายกัญชาโดยเร็ว หากดันแต่ร่าง พ.ร.บ.ฯ กัญชาจะอยู่ในสภาวะเพื่อสันทนาการ ยาวนานถึง 4 ปี ผู้ป่วยติดกัญชาและจิตเวชจะเพิ่มขึ้นถึง 6-29 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปลดกัญชาเสรีในปี 2565

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด 67 คน เผยแพร่แถลงการณ์ให้สื่อมวลชนประเด็น บทวิเคราะห์ “เปรียบเทียบทางเลือกนโยบายกัญชา: นำหรือไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” ระบุว่า

ในประเทศไทย กัญชาถูกควบคุมแบบเข้มงวด ด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่ปี 2522 ไม่สามารถใช้กัญชาทั้งเพื่อสันทนาการและเพื่อการแพทย์   ต่อมาให้เริ่มใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ แต่ยังคงห้ามใช้เพื่อสันทนาการ ตั้งแต่ปี 2562   หลังจากนั้นกัญชาถูกควบคุมด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งยังคงห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แต่ยกเว้นให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้เช่นเดิม  

ล่าสุด กัญชา ถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นที่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ในประเทศไทย แม้แต่เด็ก (แม้ต่อมาประเทศไทยจะมีมาตรการห้ามจำหน่ายกัญชาแก่เด็ก แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามเด็กสูบกัญชาเลย)   นับจนถึงวันนี้ 30 กรกฎาคม 2567 ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะกัญชาเสรี “ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้” เป็นเวลากว่าสองปีแล้ว แม้เหตุผลของการปลดกัญชาจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการก็ตาม แต่ผลกระทบจากการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และการเสพกัญชาของเยาวชน (ดูภาคผนวก)

ขณะนี้มีทางเลือกของนโยบายกัญชาสองทางเลือก คือ (ดูรูปที่ 1 ประกอบการทำความเข้าใจปฏิทินเวลาของช่วงเวลาที่ “ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้” เปรียบเทียบระหว่างนโยบายไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดระหว่างที่ทำกฎหมายกัญชา และนโยบายนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดระหว่างที่ทำกฎหมายกัญชา)

ทางเลือกที่ 1: “ใช้กฎหมายกัญชาควบคุม โดยไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด”  

สมมติว่าประเทศไทยนำร่างกฎหมายกัญชาเข้าพิจารณาในครึ่งปีหลังของปี 2567 และใช้เวลาสองปีจึงผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะได้กฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ปลายปี 2569   ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะ “ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้” เป็นเวลาถึง 4 ปี ปัญหากัญชาจะเต็มประเทศไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2570  

ผลกระทบที่ตามมาจะมากมายมหาศาล ตัวอย่างเช่น ดูรูปที่ 2 ประกอบการประมาณการจำนวนผู้ป่วยติดกัญชาและโรคจิตจากกัญชาต่อเดือน ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เมื่อการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดครบสี่ปี (ปี 2569) จะมีผู้ป่วยติดกัญชาที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำนวนปีละ 95,148 คน และ 21,048 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6 และ 15 เท่า ตามลำดับ และ จำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชาที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำนวนปีละ 54,048 คน และ 29,052 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 7 และ 29 เท่า ตามลำดับ   กล่าวโดยย่อ “หากปล่อยให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้เป็นเวลา 4 ปี จะมีผู้ป่วยติดกัญชาและผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึง 6-29 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปลดกัญชาเสรีในปี 2565”

ทางเลือกที่ 2: “นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทันที แล้วเร่งทำกฎหมายกัญชา”  

ทำเช่นนี้กัญชาจะกลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมของประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แต่ให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้   จำนวนผู้ป่วยทั้งสี่กลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นจะลดกลับลงมาสู่สภาวะปกติก่อนปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดในปี 2565   แล้วเมื่อกฎหมายกัญชาผ่านสองสภาออกมาบังคับใช้ ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้สภาวะ “ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้” เป็นเวลาเพียง 2 ปี  

เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด จึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ส. เร่งพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทันที แล้วเร่งทำกฎหมายกัญชาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ปัญหากัญชาเพื่อสันทนาการลุกลามจนไม่อาจแก้ไขได้ในภายหลัง

รูปที่ 1 ปฏิทินเวลาของช่วงเวลาที่ “ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้” เปรียบเทียบระหว่างนโยบายไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และนโยบายนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ระหว่างที่ทำกฎหมายกัญชา

 

รูปที่ 2 ประมาณการจำนวนผู้ป่วยติดกัญชาและโรคจิตจากกัญชาต่อเดือน ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เมื่อการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดครบสี่ปี (ปี 2569)

หมายเหตุ:

  • กราฟแท่งที่เป็นเส้นปะ เป็นการคำนวณของผู้เขียนบทความวิชาการนี้ โดยอ้างอิงอัตราการเพิ่มขึ้นที่คำนวณจากตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วที่เป็นกราฟแท่งเส้นทึบ
  • ในปี 2569 ปีที่ 4 หลังปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด จำนวนผู้ป่วยเสพติดกัญชารักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จะเพิ่มเป็น 95,148 คน (7,929 x 12 เดือน) และ 21,048 คน (1,754 x 12 เดือน) คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6 และ 15 เท่า ตามลำดับ และ จำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชารักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จะเพิ่มเป็น 54,048 คน (4,504 x 12 เดือน) และ 29,052 คน (2,421 x 12 เดือน) คิดเป็นเพิ่มขึ้น 7 และ 29 เท่า ตามลำดับ   กล่าวโดยย่อจะมีผู้ป่วยติดกัญชาและผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึง 6-29 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปลดกัญชาเสรีในปี 2565

 

ทั้งนี้ รายชื่อเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด ประกอบด้วย

  • นพ.ชาตรี บานชื่น

อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

  • นายนิยม เติมศรีสุข

อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. และ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม

  • นายเพิ่มพงษ์ เขาวลิต

อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส.

  • ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่

ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ

  • ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล

นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada

  • รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น

และ ผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย

  • ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์

ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์

ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • พล.ต.นพ.พิชัย แสงชาญชัย

ประธานชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย

  • รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหิดล

  • รศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์

นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย

  • รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ

อายุรแพทย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

  • ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน

ที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร

หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  • นายไฟซ้อน บุญรอด

ประธานเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันภัยยาเสพติด

  • นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น

นักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ

  • รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี

ภาควิชาจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

  • นพ.ไพศาล ปัณฑุกำพล

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี

  • นพ.วิทยา จารุพูนผล

อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนเก่น

  • นพ.วิโรจน์ เยาวพลกุล

แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • นพ.วัฒนา สุพรหมจักร

แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พล.อ.นพ.ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล

แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พล.อ.ท.นพ.วิศิษฏ์ ดุสิตนานนท์

แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • นพ.เจริญ ปฏิภาณเทวา

แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พญ.ภาพิส เสงี่ยมพรพาณิชย์

ข้าราชการบำนาญ

  • พญ.อรพินธ์ พจน์พริ้ง

อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • พล.อ.นพ.อิสสระชัย จุลโมกข์

ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ รพ.บางโพ  และอดีตผู้อำนวยการ รพ.พระมงกุฏเกล้าฯ

  • นพ.พงษ์สันติ์ ลี้สัมพันธ์

ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ รพ.หัวเฉียว

  • นพ.ณัฐกุล แย้มประเสริฐ

กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครราชสีมา

  • รศ.นพ.กำธร มาลาธรรม

อายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

  • นพสรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์

แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • นพ.อธิคม สงวนตระกูล

กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา

  • พญ.สริฐา มหาศิริมงคล

นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.กลาง

  • นพ.ปฏิเวช งามวิจิตวงศ์

นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.กลาง

  • พญ.วิภัสรา สวัสดี

นายแพทย์ชำนาญการ รพ.บุรีรัมย์

  • นายยศกร ขุนภักดี

ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด (YNAC)

  • พญ.เสาวลักษณ์ นาคะพงษ์

อดีตผู้อำนวยการรพ.มหาสารคาม

  • นพ.เสถียร เตชะไพฑูรย์

แพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์

  • นายวิฑูรย์ เตชะพัฒนสุนทร

Auditor บริษัทมหาชนหลายแห่ง

  • นายวันชัย ตุลาธมุตติ

วิศวกร

  • นายชัยโรจน์ วัฒนวรรณเวชช์

เจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับกระจก

  • นพ.ซื่อตรง เจียมจรรยา

แพทย์เกษียณ อดีตอาจารย์คณะแพทย์ รามาธิบดี

  • พญ.ดวงเดือน ศิลปสุวรรณ

แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • นพ.ธนวรรฒน์ โชติมา

ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • นพ.นคร ภิญญาวัฒน์

ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • นพ.พรเทพ จันทวานิช

ที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

  • พอ.นพ.ศักดิ์ชัย อติโพธิ

แพทย์เกษียณ กรมการแพทย์ทหารบก

  • พญ.สุรภี เรืองสุวรรณ

อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

  • ศ.เกียรติคุณ พญ.อังกาป ปราการรัตน์

อดีตอาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • ศ.เกียรติคุณ พญ.กฤษณา เพ็งสา

อดีตอาจารย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

  • พญ.อุไภยพรรณ ลุวีระ

ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พญ.สุนันท์ ไรวา

ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พลตรี พญ.ยุพาพิน จุลโมกข์

แพทย์เกษียณ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า กรมแพทย์ทหารบก

  • นพ.วรพล ชีรณานนท์

ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, แพทย์ รพ.สุขุมวิท

  • พญ.กาญจนา ชัยกิตติศิลป์

ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, แพทย์ รพ.กรุงเทพ

  • พล.อ. นพ.สีมา ศุภเกษม

แพทย์เกษียณ รพ.พระมงกุฏเกล้า กรมแพทย์ทหารบก

  • ศ.เกียรติคุณ นพ.เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์

ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • ผศ.นพ.เอื้อพงศ์ จตุรธำรง

อดีตรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พลโท.พญ.ทิพย์สุรีย์ นาคประสิทธิ์

ข้าราชการเกษียณ รพ.พระมงกุฏเกล้า กรมแพทย์ทหารบก

  • รศ.พญ.ชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย

กรรมการและเหรัญญิก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

  • นพ.ภิญโญ เปลี่ยนรังษี

แพทย์โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน

  • พญ.ประภาพรรณ นาควัชระ

ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พญ.รุ่งเรือง กาญจนภูมิ

แพทย์แผนภูมิแพ้ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ศูนย์การแพทย์

  • นพ.สมหวัง อภิชัยรักษ์

ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

  • พลโท พญ.กมลพร สวนสมจิตร

อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานแพทย์ทหาร กองบัญชาการ กองทัพไทย

  • พญ.พูนศรี เลขะกุล

อดีตอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์

  • นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล

อดีตประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกฯ และ อดีตเลขาธิการมูลนิธิหูคอจมูกชนบทฯ และ รางวัลคนไทยตัวอย่างมูลนิธิธารน้ำใจ

 

ภาคผนวก

“สรุปข้อมูลใหม่ที่สะท้อนปัญหาของนโยบายปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด 9 มิ.ย. 2567”

 

การขยายตัวของอุปทานกัญชาเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังปลดกัญชาเสรี และเป็นการจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการ

  1. จากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต จุดจำหน่ายกัญชาในประเทศไทย เพิ่มจาก 5,600 จุด ในเดือนสิงหาคม 2566 เป็น 8,132 จุด ในเดือนมิถุนายน 2567 1
  2. จากการสำรวจพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ด้วย Google Maps ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 พบว่ามีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ 11 คลินิก ส่วนร้านจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการมีมากถึง 49 ร้าน   เมื่อตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตเปิดคลินิกจาก อย. และข้อมูลวันเปิดร้านจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการ พบว่าคลินิกกัญชาทั้งหมดขออนุญาตเปิดก่อนการปลดกัญชาเสรี ขณะที่ร้านจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการทั้งหมดเริ่มเปิดจำหน่ายกัญชาหลังการปลดกัญชาเสรีในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 2  

ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนเข้าถึงกัญชาเพื่อสันทนาการสะดวกขึ้น

  1. ประชาชน ร้อยละ 24 (หรือ 1 ใน 4`) เข้าถึงจุดจำหน่ายกัญชาอย่างน้อย 1 จุด ภายในเวลา 5 นาที 1
  2. ประชาชน ร้อยละ 9 (หรือ 1 ใน 11) ปลูกกัญชาในบ้านตนเอง โดยร้อยละ 50 (หรือ ครึ่งหนึ่ง) ของผู้ปลูกกัญชาในบ้าน ได้ปลูกไว้ 1-2 ต้น 1   สามในสี่ของผู้ปลูกกัญชาไม่จดแจ้งต่อกระทรวงสาธารณสุข 3
  3. ที่สำคัญมาก คือ ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ปลูกต้นกัญชามีโอกาสเป็นผู้ใช้กัญชาในปัจจุบันมากกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่ปลูกกัญชาถึง 4.4 เท่า 1

ประชาชนและเยาวชนเสพใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากขึ้น

  1. อัตราการใช้กัญชาในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนทั่วประเทศอยู่ในระดับที่น่าตกใจ ได้แก่ ในปี 2566 ร้อยละ 47.6 ของเยาวชนนอกสถานศึกษา   ร้อยละ 17.1 ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี และ ร้อยละ 11.8 ของนักเรียนมัธยมศึกษา ใช้กัญชาในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 1
  2. เยาวชนอายุ 18-19 ปี ใช้กัญชาแบบสูบเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้น 10 เท่าในสามปี จากที่มีเพียงร้อยละ 1-2 ในปี 2563 เป็น ร้อยละ 9.7 ในปี 2565 หลังปลดกัญชาเสรี 3
  3. ข้อมูลของ TDRI ที่เผยแพร่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ระบุว่า หลังปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด มีผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน จาก 1 ล้านคน (ในปี 2563) เป็น 11 ล้านคน (ในปี 2565) แต่ผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเพียง 1 แสนคนเท่านั้น คือ จาก 4.3 แสนคน เป็น 5.4 แสนคน 4

ผลกระทบจากการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นทันทีและมากมายหลังปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด

  1. คดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าว เพิ่มขึ้นจาก 22 ครั้งใน 17 เดือนก่อนปลดกัญชาเสรี เป็น 95 ครั้งใน 19 เดือนหลังปลดกัญชาเสรี 1
  2. จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการเป็นพิษจากกัญชาเพิ่มขึ้น 6-7 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี 5
  3. จำนวนผู้ป่วยเสพติดกัญชา เพิ่มขึ้น 2-5 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี 5
  4. จำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชา เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี 5
  5. จำนวนผู้ป่วยจากการใช้กัญชาในจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี 5
  6. ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ป่วยจากการใช้กัญชา เพิ่มขึ้น 5 เท่า หลังปลดกัญชาเสรี 6

หากไม่รีบนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทันที ผลกระทบจะขยายตัวมหาศาล

  1. หากปล่อยให้กัญชาไปเป็นยาเสพติดนานถึง 4 ปี ในปี 2569 จะมีผู้ป่วยเสพติดกัญชารักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำนวนปีละ 95,148 คน และ 21,048 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6 และ 15 เท่า ตามลำดับ และ ผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชารักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำนวนปีละ 54,048 คน และ 29,052 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 7 และ 29 เท่า ตามลำดับ   กล่าวโดยย่อจะมีผู้ป่วยติดกัญชาและผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึง 6-29 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปลดกัญชาเสรีในปี 2565

1 สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และ คณะ. (2567) ภาพรวมผลกระทบจากการปลดล็อคกัญชา: ผลการศึกษาจากชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา. ประเทศไทย: สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  

2 บัณฑิต ศรไพศาล และคณะ. (2566). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายการให้บริการกัญชาทางการแพทย์สำหรับประเทศไทย กรณีการศึกษาความเป็นไปได้ของการหารือการดำเนินการวิจัยประเด็นกัญชาร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน. ประเทศไทย: มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.

3 รัศมน กัลยาศิริ และคณะ. (2566). รายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสารเสพติด. ประเทศไทย: ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด. https://www.hfocus.org/content/2022/12/26694

4 ทีดีอาร์ไอ. (2567). กัญชาไทย... จะไปทางไหน? ประเทศไทย: ทีดีอาร์ไอ. https://tdri.or.th/2024/03/seminar-cannabis-suggestion/