เริ่มแล้ว! เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. 18 ก.ค.-1 ส.ค.67  พร้อมรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ.

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข จัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. หรือร่างกฎหมายแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) โดยระบุว่า จัดทำร่างดังกล่าวเสร็จแล้ว พร้อมขึ้นเว็บไซต์เปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเดือนหน้า

ล่าสุดวันที่ 18 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย ได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. แล้ว โดยประกาศให้เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2567

 

1. สภาพปัญหาสาเหตุของปัญหา และความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาหรือทำภารกิจในเรื่องนั้น

1.1 สภาพปัญหาสาเหตุของปัญหา

โดยที่กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนมีการควบคุมโรคติดต่ออันตรายซึ่งเป็นงานที่มีอันตรายต่อผู้ให้บริการ และการให้บริการรักษาประชาชนต้องจัดบุคลากรปฏิบัติงานต่อเนื่องตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ทำให้บุคลากรที่มีอยู่อย่างจำนวนจำกัดต้องรับภาระงานหนักมากขึ้น และปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่ผิดปกติของวิถีการดำรงชีวิตประจำวันอันเป็นการส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากหน่วยงานอื่น และในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังประสบกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรในสายงานวิชาชีพอันเนื่องมาจากการลาออก การกระจายบุคลากรไม่เหมาะสม หน่วยบริการมีกรอบอัตราตำแหน่งไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน

1.2 ความจำเป็น

กระทรวงสาธารณสุขมีความประสงค์ให้มีการบริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว และอิสระในการบริหารจัดการกำลังคนที่สอดคล้องเหมาะสม มีความเป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ และสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทน และสวัสดิการ และเพื่อยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. ....   

2. คำอธิบายหลักการหรือประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย

2.1 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. .... ใช้บังคับกับข้าราชการสาธารณสุขทั้งสายงานวิชาชีพและสายงานสนับสนุน

2.2 มีคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (กสธ.) ในการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ภายในกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย

        (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

        (2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน

        (3) อธิบดีกรม หรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

        (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 3 คน

        (5) คณะกรรมการสายงานวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน

        (6) คณะกรรมการสายงานสนับสนุนจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน

เข้าแสดงความคิดเห็นได้ที่ : ร่วมแสดงความคิดเห็นร่าง พรบ.ข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ.

 

 

2.3 คณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (กสธ.) มีอำนาจหน้าที่

1. บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอนข้าราชการสาธารณสุข

2. กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ

3. ออกกฎ ก.สธ. ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือมีมติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล

4. กำกับ ดูแล ตรวจสอบ แนะนำกระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

5. กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการกระทรวงสาธารณสุข

6. กำหนดการให้ทุนการศึกษา

7. พิจารณารับรองคุณวุฒิเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการสาธารณสุข

8. จัดระบบทะเบียนประวัติข้าราชการสาธารณสุข

9. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย มาตรฐาน และการจัดระบบระเบียบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการสาธารณสุข

10. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการสาธารณสุข

11. กำหนดเรื่องการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจ และความก้าวหน้าให้แก่ข้าราชการสาธารณสุข

12. กำหนดเรื่องการศึกษาเพิ่มเติม ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยในประเทศหรือต่างประเทศ

13. ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้

14. พิจารณาผู้ถูกสั่งลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ

 

2.4 วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์กำหนดให้มีหลักเกณฑ์เหมือนกับกฎหมายข้าราชการพลเรือน 

ผู้เกี่ยวข้อง

3. บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบ 

3.1 ข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

3.2 บุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

3.3 ประชาชน

เหตุผลความจำเป็นของการให้มีระบบอนุญาต ระบบคณะกรรมการหรือการกำหนดโทษอาญา รวมทั้งหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ

4. เหตุผลความจำเป็นในการกำหนดให้มีระบบคณะกรรมการ

   โดยที่การบริหารงานบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข ต้องการผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีความหลากหลายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

แผนการผลิตกำลังคนสุขภาพจิตปี 2567-2570 ความท้าทายรองรับผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มขึ้น