ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 แนะวิธีรับมือกับความเครียดเมื่อเสพข่าวที่เป็นลบ ชี้หากจัดการตนเองไม่ได้ติดต่อสายด่วน 1323 เพื่อขอความช่วยเหลือ พร้อมวอน "สื่อมวลชน“  อย่านำเสนอวิธีการทำร้ายตนเอง หรือ รูปภาพที่ทำให้เกิดความสะเทือนใจต่อประชาชน 

หลังจากที่มีข่าวกรณีราชประสงค์ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์และแชร์ข้อมูลอย่างกว้างขวาง  ถึงขนาดขึ้นเทรนด์ทวิต ระหว่างวันที่ 16 -17 ก.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด นางเดือนเพ็ญ ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 กรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus สอบถามถึงวิธีรับมือกับความเครียดอย่างไร เมื่อเสพข่าวที่เป็นลบมากเกินไป ภายในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต : Mental Influence Team เขตสุขภาพที่ 3 เขตสุขภาพที่ 4 และเขตสุขภาพที่ 13  
ที่โรงแรมเดอะ พาราดิโซ เจเค ดีไซน์    เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567  ที่ผ่านมา

นางเดือนเพ็ญ  กล่าวว่า  อย่างแรกคือ 1. ต้องตั้งสติก่อนตอนที่รับข่าว เพื่อจะได้รู้อารมณ์ของตัวเอง ประเมินอารมณ์ตัวเองได้ด้วยว่าหากรับข่าวบ่อยๆแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้าเริ่มรู้สึกหดหู่หรือมีความเครียดจะได้จัดการอารมณ์ของตัวเองได้ 2.เมื่อรับรู้บ่อยๆแล้วใช้เวลามากเกินไป หากเกิดอารมณ์เครียด ก็ต้องแบ่งเวลาต้องหยุดเสพข่าวก่อน โดยต้องไปหากิจกรรมหรือกิจวัตรประจําวันที่เคยทำอยู่ประจำเพื่อหันเหความสนใจกับเรื่องข่าว บางคนอยู่หน้าจอตลอดติดตามตลอดกับเรื่องที่มันทําให้รู้สึกหดหู่อารมณ์ก็จะดิ่งลงไปเรื่อยๆ เมื่อรู้อารมณ์ของตัวเองแล้วก็ต้องเอาเวลาไปทําอย่างอื่น จัดสรรเวลาให้ถูกอย่าอยู่กับข่าวด้านลบนานๆ 

3. หลังจากแบ่งเวลาบางส่วนไปทําอย่างอื่นแล้ว บางเรื่องเวลาที่เราเห็นสิ่งที่เป็นความคิดเห็นไม่ตรงกันบางคนรู้สึกโกรธว่าไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดหรือสิ่งที่เราคาดหวัง เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักปรับวิธีคิดของตัวเองว่า "คนเรามุมมองมันต่างกันได้วิธีคิดมันก็แตกต่างกันเพราะฉะนั้นก็อย่าไปเกิดอารมณ์ความโกรธหรือความเครียดกับสิ่งที่มันเป็นความคิดเห็นต่างๆที่เขาส่งมาให้" และอีกอย่าง คือ ไม่ควรแชร์สิ่งที่รู้สึกว่าหดหู่ โดยไม่ควรแชร์ไปให้คนอื่นหดหู่ด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรแชร์สิ่งพวกนี้ ยิ่งรูปที่มีความรุนแรงหรือทำให้รู้สึกมีอารมณ์เราก็ไม่ควรแชร์

อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้วกับอารมณ์ความเครียดที่เกิดขึ้น สามารถติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อที่จะได้ขอความช่วยเหลือหรืออาจใช้วิธีการประเมินตนเองก่อนก็ได้ ถ้าเราไม่แน่ใจว่าตอนนี้อารมณ์อยู่ระดับไหน โดยสามารถประเมินตัวเองได้จาก "MENTAL HEALTH CHECK IN ตรวจเช็คสุขภาพใจ" 

ซึ่งสามารถเข้าประเมินตัวเองได้ว่าตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์แบบที่เรารับข่าวด้านลบบ่อยเรารู้สึกพลังใจนลดลงหรือไม่ เรารู้สึกอ่อนล้าหรือไม่ เรารู้สึกซึมเศร้า หรือเรารู้สึกมีความเครียดหรือเปล่า แล้วถ้าระดับคะแนนมีความผิดปกติอะไร ก็จะมีคำแนะนำให้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือหากอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถ้ายินยอมให้เบอร์โทรติดต่อกลับไปจะมีผู้เชี่ยวชาญโทรติดต่อกลับไปเพื่อให้ความช่วยเหลือเอง

"สำหรับในส่วนของการนำเสนอข่าว บางครั้งที่สื่อออกมานำเสนอในบางเรื่องอาจส่งผลกระต่อจิตใจของคนที่รับสารด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเรื่องการทำร้ายตนเองหรือการฆ่าตัวตาย ถ้าสื่อสารมวลชนสื่อสารถึงวิธีการฆ่าตัวตายไปด้วยอาจจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบสำหรับคนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะได้เห็นวิธีการทําแล้วก็ทําให้เขาเกิด “พฤติกรรมเลียนแบบ” หรือ Copycat เขาก็จะเลียนแบบในการที่ใช้วิธีการเดียวกันในการทำร้ายตนเอง รวมถึงการสื่อสารรูปภาพที่มันทำให้เกิดความสะเทือนใจหรือความรุนแรง สิ่งที่เราอยากขอร้องสื่อมวลชน คือ ถ้าภาพไหนที่มันดูแล้วมันสื่อถึงความรู้สึกที่ทำให้กระทบกับจิตใจของคนที่รับสารก็ไม่ควรสื่อสารภาพพวกนี้ ควรใช้วิธีการอย่างอื่นดีกว่า เพราะว่ามันจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและส่งผลกระทบการเลียนแบบในพฤติกรรมต่างๆที่ใช้ความรุนแรงตามมาด้วย" นางเดือนเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย