สรุปสถานการณ์ วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม 7 จว. มีผู้บาดเจ็บ 53 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 29 ราย รมว.สธ.สั่งกรมสุขภาพจิตเร่งเยียวยา ผลประเมินสุขภาพจิตพบ! เครียดสูง 439 คน เสี่ยงซึมเศร้า 21 คน แนะให้คำปรึกษา-เพิ่มทักษะความเข้มแข็งทางใจ เยียวยากลุ่มเสี่ยงที่คนใกล้ชิดเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายงานสรุปสถานการณ์ วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม ล่าสุดวันที่ 8 ก.ย.ของกระทรวงฯ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย
- สุโขทัย
- พระนครศรีอยุธยา
- สระบุรี
- นครนายก
- นครสวรรค์
- พิษณุโลก
- พิจิตร
พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 53 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 29 ราย ขณะที่สถานบริการสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ 36 แห่ง มีการสนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 1,300 ชุด โดยตนได้เกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าช่วยเหลือเยียวยาประชาชน พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะทราบดีว่าเมื่อประสบภัย ประชาชนย่อมจะเกิดความเครียด จึงได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตเข้าไปพูดคุยตั้งแต่ช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียด เข้าไปประเมินกลุ่มเสี่ยง เน้นดูแลจิตใจ ฟื้นฟูจิตใจ เพิ่มทักษะความเข้มแข็งทางใจ สื่อสารช่องทางการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา โฟกัสกรุ๊ป แลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝ่าฟันวิกฤต เพื่อให้กำลังใจประชาชนในวงกว้าง พร้อมกับให้ติดตามผลในระยะฟื้นฟู หลังเกิดเหตุ 3 เดือน เพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต วิกฤตสุขภาพจิต ในกลุ่มที่สูญเสียคนใกล้ชิด ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนวางแผนเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต มีการประเมินสุขภาพจิตแล้ว 16,546 คน พบว่ามีความเครียดสูง 439 คน เสี่ยงซึมเศร้า 21 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 7 คน ได้สั่งการให้จับตาใกล้ชิดและเยียวยาช่วยเหลือ โดยพบว่าประชาชนมีความเครียด เกี่ยวกับบ้านพังเสียหาย เกี่ยวกับการทำมาหากิน หวั่นเกรงว่าจะขาดสภาพคล่อง เป็นต้น
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในระยะฟื้นฟู กรมอนามัยยังได้จัดทำคู่มือหลังน้ำลด เน้นเรื่องการทำความสะอาด และดูและระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมพื้นฐานต่างๆ ที่อาจเสียหาย เช่น ระบบน้ำประปา ห้องน้ำ ห้องส้วม ทั้งในบ้านเรือน ตลาด โรงเรียน หรือสถานที่สาธารณะ ที่พักขยะ ทั้งนี้หากจะสำรวจตรวจดูและรื้อล้างบ้าน ต้องสวมถุงมือ รองเท้าบูธเพื่อความปลอดภัย ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยมีข้อแนะนำการตรวจระบบไฟฟ้า ตรวจสอบความเสียหายโครงสร้างบ้านเรือน เตรียมการก่อนรื้อ ล้าง การคัดแยกขยะ สิ่งของภายในบ้านที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เช่น ฟูก ที่นอน หากเปียกหรือแช่น้ำ ควรจะทิ้ง เพราะอาจจะมีเชื้อรา เชื้อโรคอาศัยอยู่ แม้ว่าจะตากให้แห้งแล้วก็ตาม
- 104 views