ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. สานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 3,618 แห่ง ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ “ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่มีชีวิต” บูรณาการการทำงานหนุนเสริมพลังสร้างการเรียนรู้-ส่วนร่วม-เปลี่ยนแปลง เกิดชุมชนท้องถิ่นที่สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ที่ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่จัด เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ  ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ปี 2565-2570 และประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth In Charge กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในระดับประเทศ ดังนั้นโจทย์ของการสร้างสุขภาวะชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย จำเป็นต้องสร้างสุขภาวะเชิงระบบที่ครอบคลุม คือ 1. สุขภาวะของบุคคล (Individual Wellbeing) 2. สุขภาวะสังคม (Social Wellbeing) 3. สุขภาวะของสภาพแวดล้อม (Planetary Wellbeing) 

“การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ต้องอาศัยชุมชนท้องถิ่นเป็น “โซ่ข้อกลาง” เป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านมิติของมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาชีพ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์บุคคล ครอบครัว กับภูมิภาค ประเทศ กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้ชุมชนท้องถิ่นแข็งแรง ที่ไม่เพียงแต่เป็น “ชุมชนที่น่าอยู่” (Liveable Community) แต่ต้องเป็น “ชุมชนที่มีชีวิต” (Lively Community) สร้างการมีส่วมร่วมของคนในชุมชน ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา เพื่อการดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับองค์ความรู้เพื่อการดำรงชีพ ที่มีความเอื้ออาทร และแบ่งปัน สร้างวัฒนธรรมระดับชุมชน” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ความท้าทายของการใช้พื้นที่เป็นฐาน คือ ความแตกต่างของบริบทพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจ และการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และกลไกทำงาน ให้เกิดห่วงโซ่ผลลัพธ์ในการกำหนดมาตรการสุขภาพ ทั้งด้านวิถีชีวิต และพฤติกรรม ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม และกายภาพ แผนสุขภาวะชุมชน ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น ผ่านทุนทางสังคม ศักยภาพของพื้นที่ สถานการณ์ และปัญหาของพื้นที่ ด้วยแนวทาง 1. เสริมความเข้มแข็งระบบการจัดการ พัฒนาพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้ รูปแบบ การทำงาน ที่มีความหลากหลาย 2. ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ และสถาบันวิชาการ พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือกลไกในรูปแบบต่าง ๆ 3. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน และบูรณาการ สานพลังและบูรณาการงานของ สสส. อาทิ เหล้า-บุหรี่ ผู้สูงอายุ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม

“ปัจจุบัน สสส. ทำงานผ่านเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 3,618 แห่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้ข้อมูลพื้นที่เป็นฐานในงานวิจัยชุมชน ด้วยการเก็บ วิเคราะห์ ใช้งาน และเป็นเจ้าของ ผ่าน 4 องค์หลัก ท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ องค์กรชุมชน ผ่านประเด็นสุขภาวะ อาทิ อาหารปลอดภัย ปลูกผักกินเองในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน  สร้างอาชีพระดับครัวเรือน ส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย จัดการสิ่งแวดล้อม สุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วม นำมาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น และปัจจัยเสริมในการทำงาน ให้เกิดชุมชนท้องถิ่นที่สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้ และสามารถแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นได้ อาทิ ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ลดดื่ม สามารถลดหนี้ครัวเรือน ต.งิม อ.แม่เงา จ.พะเยา เกิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนลดหนี้ ต.ชากไทย อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทรบุรี สามารถจัดตั้งกองทุนการเงินชุมชน ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้” ดร.นิสา กล่าว