ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ร่วมกับสสส.-เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่น 3,618 ตำบล เดินหน้าร่วมแก้ปัญหาประเทศ สสส.เผย สานพลัง-สร้างนวัตกรรม-สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน 3 ส่วนสำคัญช่วยสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พร้อมรู้รับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 เป็นประธานในพิธีปิด เวที "สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ประจำปี 2567” วาระ: ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ โดยมีผู้เข้าร่วม 5,725 คน จากเครือข่าย 530 แห่งทั่วประเทศ ทั้ง Onsite และ Online

นายสมศักดิ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ไทยเผชิญกับสถานการณ์เร่งด่วนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกเดือด อุตสาหกรรมปล่อยมลพิษทางอากาศ ความปลอดภัยทางอาหาร นำไปสู่สาเหตุของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์ หรือปัญหาสุขภาพจิต 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือน การว่างงาน เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความซับซ้อน การแก้ปัญหาของแต่ละชุมชน จึงแตกต่างกันไป ที่ผ่านมา ตนได้มอบนโยบายการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกรักษาโรค การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับบริบทและการใช้ชีวิต อาหารปลอดภัย การบำบัดยาเสพติดในชุมชน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และการจัดการบุหรี่ไฟฟ้า การแก้ปัญหาความยากจน ผ่านโครงการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่อื่น ๆ 

“การมีสุขภาวะชุมชนที่ดี คือ การอยู่ดี มีอาชีพ มีรายได้ มีความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง สสส.จึงกำหนดให้แผนสุขภาวะชุมชนเป็น 1 ใน 15 แผนหลัก ที่มีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ (กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ จำนวน 3,618 ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งสถาบันวิชาการ องค์กรภาคเอกชน ศูนย์สนับสนุนวิชาการของแผนสุขภาวะชุมชน เน้นสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน" นายสมศักดิ์ กล่าว

เป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ให้ชุมชนท้องถิ่น มีความเข้มแข็งในการจัดการตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ สามารถรับมือกับวิกฤต ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้ โดยมีความเชื่อมั่นว่าการสานพลัง สร้างนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ และประสบการณ์ของเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพกว่า 4,000 คน จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนได้  

ด้านนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ให้มีความพร้อมรู้รับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกัน 3 ส่วน คือ 

1. สานพลัง เน้นการเพิ่มสมรรถนะ ประยุกต์และนำนโยบายสู่การปฏิบัติ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมของพื้นที่ ได้แก่ พลังพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิชาการ องค์กรร่วมพัฒนาเอกชน พลังผู้นำ พัฒนาเครือข่ายนักสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน สานพลังนวัตกรรม ที่สอดรับปัญหาในพื้นที่ และพลังองค์กร มาหนุนเสริมการทำงาน 

2. สร้างนวัตกรรม โดยใช้ทุนทางสังคม และศักยภาพของชุมชนในการจัดการตนเอง แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อม สุขภาพ และการเมืองการปกครอง 

3. สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน โดยใช้ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการพื้นที่ พัฒนานวัตกรรมชุมชน และเกิดการบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

เผยผลสำเร็จสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ปาฐกถาพิเศษ“พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ” ว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ได้ประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อใช้เป็นทิศทางดำเนินงาน ให้เกิดการสานพลังบูรณาการทั้งภายในองค์กร และเครือข่ายมากยิ่งขึ้น เป็นพลังที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และน้อมนำศาสตร์ของพระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเครื่องมือการทำงาน ครอบคลุม 7 ประเด็น 21 เป้าหมาย ได้แก่

1. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุครบวงจร

2. ส่งเสริมสุขภาพจิตและดูแลผู้ป่วยจิตเวช

3. ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และเฝ้าระวังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

4. ส่งเสริมระบบอาหารชุมชน

5. รับมือภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

6. ลดการสูบบุหรี่

7. เสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนโดยชุมชนท้องถิ่น

เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุน และสานพลังของชุมชนท้องถิ่น สู่การพัฒนาในทุกระดับเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศ

"พลังสำคัญที่ต้องใช้พัฒนาชุมชน คือ วิธีคิด ทุกคนต้องเข้าใจ รู้จักการบริหารจัดการ เพราะความแตกต่างแต่ละชุมชนสามารถนำต้นแบบจากชุมชนที่สำเร็จ ไปประยุกต์ใช้ ไม่ใช่ลอก แต่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ วัฒนธรรม วิถีชีวิต เรียนรู้แล้วนำไปปรับใช้ให้ตรงกับปัญหา" นายสมพร กล่าว

นายสมพร เพิ่มเติมว่า ถ้าจะริเริ่มโครงการ ต้องเริ่มตั้งแต่ข้อมูล สำรวจความคิดเห็น ประชาคมของคนในพื้นที่ โครงการของแต่ละชุมชนจะยั่งยืนได้ คนในชุมชนต้องเห็นพ้องต้องกัน เกิดเป็นความร่วมมือของคนในชุมชน ไม่ใช่คิดคนเดียวแล้วทำ ถ้าคนอื่นไม่เอาด้วยก็ไม่เกิดการมีส่วนร่วม ความร่วมมือกันก็ไม่เกิด

จากการทำงาน สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ คนเปลี่ยนวิธีคิด เข้าใจกระบวนการของการพัฒนา ให้เห็นประเด็นปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน จะเกิดความเป็นพลเมืองขึ้น เกิดพลวัตของชุมชน เพราะคนเป็นปัจจัยพัฒนาที่สำคัญที่สุด "ความสำเร็จ คือ การพัฒนาคน"

"หลายชุมชนที่ชาวบ้านรู้จักบริหารจัดการด้วยตนเองได้ ระเบิดจากข้างใน แล้วใช้พลังในการดูแลชุมชน บริหารจัดการชุมชนได้ มองความสุขที่การอยู่ร่วมกัน เมื่อแก้ปัญหาตนเองได้ จะสามารถแก้ปัญหาครอบครัว ปัญหาชุมชน สู่การแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง ประเทศชาติได้ในที่สุด ถ้าแต่ละคนแก้ปัญหาได้ ความเป็นชาติก็มั่นคงแน่นอนในภาพรวม"

ส่วนชุมชนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชุมชนยั่งยืน ต้องเริ่มด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มอายุ ไม่ใช่เป็นเรื่องผู้สูงอายุแล้วจะแก้แค่เรื่องผู้สูงอายุอย่างเดียว ทุกคนในชุมชนต้องพึ่งพากัน