“ มนตรี กูดอั้ว ” ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง ถ่ายทอดการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน พร้อมเผยเคล็ดลับการทำงานในเชิงพื้นที่ ด้วยการสร้างสัญลักษณ์และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยการนำทั้ง 4 องค์กรเข้ามาร่วมมือแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน และ เน้นทำงานเชิงบูรณาการทั้งภายในองค์กรและภาคีเครือข่ายให้มีความสามัคคี เป็นพลังที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ ต่อไป
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ณ ห้อง Royal Jubilee ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สสส. จัดเวที “ สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ” โดยมี เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,500 คน เข้าร่วมงาน ซึ่ง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 ประธานเปิดงาน และภายในงาน นายมนตรี กูดอั้ว ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง จังหวัดขอนแก่น และนางดวงมณี ทัพขวา อาสาสมัครชุมชน จังหวัดขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับบทบาทในการทำงานในครั้งนี้ด้วย
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีสมาชิกกว่า 3,000 ตำบล เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ และวิถีปฏิบัติแบบมุ่งใช้พื้นที่เป็นฐานพัฒนา และใช้สุขภาวะชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของทุกนโยบาย ดึงทุกภาคส่วนร่วมสร้างสุขภาวะชุมชน ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน รวมถึงองค์กรภาครัฐ เอกชน องค์กรทางสังคม เสริมความเข้มแข็งให้ระบบปฐมภูมิ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินและวิกฤต ระบบการดูแลในระยะยาว ระบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อ ครอบคลุมประชากร 100% โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการดูแลพิเศษ เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ
“สสส. ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 20 ปี ทำงานเชิงรุกในชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน หนุนเสริมการทำงานการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการจัดระเบียบชุมชนและการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่การสร้างชุมชนท้องถิ่นฐานรากที่มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม” ดร.สาธิต กล่าว
ด้าน นายมนตรี กูดอั้ว ปลัดเทศบาลตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า เราได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ให้ทางเทศบาลเป็นแม่ข่ายในการดูแลบริหารงานและดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 4 แห่ง ซึ่งการดำเนินงานในตำบลโนนฆ้องนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากโดยพื้นที่ของตำบลโนนฆ้องนั้นจัดได้ว่าชุมชนในพื้นที่มีความรักใครสามัคคีกัน ร่วมแรง ร่วมมือร่วมใจ ในการบูรณาการช่วยกันในทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี จนกระทั่งได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลเลิศรัฐ โดย รพ.สต. ตำบลโนนฆ้องส่งเข้าประกวด
อย่างในวันนี้ก็ถูกส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัล รพ.สต. ระดับดีเด่นของภาค ซึ่งในการทำงานเราจะเน้นการมีส่วนร่วมของ 4 องค์กรเป็นหลัก ประกอบไปด้วยเทศบาลตำบลโนนฆ้อง กลุ่มผู้นำท้องที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนฆ้อง รวมถึงภาครัฐในเขตพื้นที่ ในการทำงานนั้นเราจะเน้นประเด็นแรกคือ การตัดสินใจร่วมกัน โดยการระดมความคิดมีการนัดหมายประชุมตามสภาพสถานการณ์ในปัจจุบัน
อย่างที่ผ่านมามีการเกิดโควิดในพื้นที่เราก็มีการแก้ไขปัญหา การวางแผนร่วมกัน ซึ่งในการทำงานเรามีแอพพลิเคชั่น LINE ที่เข้ามาช่วยในการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ดูแลประชาชนได้ทันท่วงที เรามีการแบ่งระยะของการระบาดในเขตพื้นที่ เพื่อการดูแลที่ง่ายและเข้าถึงการช่วยเหลือประชาชนให้เร็วที่สุด ซึ่งการทำแบบนี้สามารถแก้ไขปัญหาและทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือและพอใจมากพอสมควร
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการประชาสัมพันธ์ การรณรงค์การรับวัคซีนในพื้นที่ด้วย ซึ่งเรามีการแบ่งหน้าที่อาสาสมัครชุมชนให้เคาะประตูและดูแลรับผิดชอบอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ซึ่ง อสม. เรามีความเข้มแข็งและมีทักษะในการให้ความรู้การอธิบายทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะที่ผ่านมาเคยมีข่าวปลอมทำให้ประชาชนไม่มั่นใจที่จะกล้ารับวัคซีนเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก ซึ่งเราต้องรีบให้ความรู้และอธิบายให้เข้าใจถูกต้องด้วย ซึ่งการทำในครั้งนี้สามารถให้ประชาชนในพื้นที่รับวัคซีนได้ถึง 87% จนมาถึงในช่วงระบาดครั้งล่าสุด เราพยายามระดมกำลังคน สิ่งของ อุปกรณ์ งบประมาณอย่างเต็มที่ พบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 500 คนแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
ด้าน นางดวงมณี ทัพขวา อาสาสมัครชุมชนตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น กล่าวเสริมว่า สำหรับในส่วนของ อสม. จะมีการดูแลประชาชนโดยการกำหนดธง จำนวน 4 สี เป็นสัญลักษณ์ ประกอบไปด้วย สีแดง สีส้ม สีฟ้า สีเขียว สีแดงคือหลังคาเรือนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด โดยเราจะเป็นการบอกเตือนให้รู้ว่าให้อยู่ห่างและอยากเข้าไปใกล้บริเวณพื้นที่เสี่ยง ส่วนสีส้มจะเป็นผู้สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงสูง ส่วนสีฟ้าเราจะใช้สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และสีเขียวเราจะใช้สำหรับครอบครัวที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
ในการปักธง เราจะใช้ 4 องค์กรหลัก เช่นกัน คือใช้เทศบาลและ อสม. รพ.สต. เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ส่วนกลาง รวมถึงผู้นำชุมชนด้วย ซึ่งเราได้สร้างความเข้าใจกับชุมชนว่า ให้ตระหนักถึงความสำคัญและต้องปฏิบัติเป็นกฎระเบียบด้วยกันทุกคน ซึ่งแรกๆอาจมีปัญหาบ้างเล็กน้อย บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือ แต่ตอนนี้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามเป็นอย่างดี ให้ความร่วมมือและสามัคคีกันดีมาก
- 165 views