“รักชนก” ตั้งกระทู้ถาม “สมศักดิ์” หลังตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดไม่ชัดเจน! จะส่งผลต่อการดูแลบำบัดรักษาอย่างไร ชี้ระบบบำบัดรักษาจิตเวชของสาธารณสุข มีช่องโหว่ ทำลักลั่น ไร้การติดตามต่อเนื่อง มองมาจากบุคลากรไม่เพียงพอ ด้าน รมว.สาธารณสุข แจงยิบ! มีแผนดูแล พร้อมควบรวมงาน “จิตเวชทั่วไป กับจิตเวชยาเสพติด” ให้กรมสุขภาพจิตดูแล ปรับเปลี่ยนเป็น  “กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด” พร้อมทุ่มงบ 73 ล้าน ตั้ง “ศูนย์ดูแลสุขภาพจิตก่อนป่วย” ทุกจังหวัด

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา ฯ  น.ส.รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถาม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ขอทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวช ว่า ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรี และต้องเอ่ยชื่นชมที่มาตอบกระทู้ด้วยตนเอง เพราะหายากที่จะมีรมต.มาตอบด้วยตัวเอง  และอยากให้รมต.อื่นๆเอาบรรทัดฐานนี้เป็นเยี่ยงอย่าง

ปัจจุบันผู้ป่วยจิตเวชในไทยมีประมาณ 2. 9 แสนคน ที่เข้ารับการรักษา แต่ยังมีไม่ได้เข้ารับการรักษาที่อาจสูงถึง 10 ล้านคน ซึ่งมาจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ และอีกส่วนคนที่เข้าถึงบริการได้ ถ้ามีเงินในกระเป๋าก็ไปใช้บริการเอกชน สามารถเลือกหมอ เลือกยาได้ แต่ประชาชนผู้ยากไร้ ที่ต้องใช้บริการรพ.รัฐ หรือใช้บริการ 30 บาทฯ อาจต้องลุ้นว่ายาที่ใช้จะเจอเอฟเฟคหรือผลข้างเคียงหรือไม่ เพราะปัจจุบันที่พบคือ คนที่เจอเอฟเฟคจากยาจะทำให้มีอาการแย่ลง และบัญชีในยาหลักก็จำกัดมาก

ขณะนี้มีข้อมูลที่พูดไม่ตรงกัน อย่างกรมสุขภาพจิตบอกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด 70% แต่ต่อมาให้ข้อมูลเดือนเมษายนว่า มีประมาณ 20-25% ตัวเลขตรงนี้จะส่งผลต่อการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้หรือไม่ เพราะตัวเลขไม่ตรง ซึ่งเคยอ่านคู่มือการดูแลว่า ควรรักษาอย่างน้อย 1 ปี และหลังจากนั้นต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด แต่หน้างานจริง ไม่เป็นเช่นนั้น จึงอยากสอบถามแนวทาง อย่างการดูแลผู้ป่วยจิตเวช และแนวทางดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติดทั้งระยะสั้น และระยะยาว

 

ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ตอบกระทู้ดังกล่าว ว่า  ต้องยอมรับเรื่องข้อมูลทั้งหลาย ตัวเลขไม่ค่อยตรงกัน จากที่ตนมาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ตนไม่ใช่แพทย์ ตนเป็นวิศวกร ก็ต้องดูตัวเลข เพราะถ้าตัวเลขไม่ตรงกัน ก็จะปวดหัวมากในแง่การบริหารจัดการ ว่า จะเติมอะไรตรงไหนอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ประเทศชาติ สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ที่เกี่ยวกับยาเสพติดและทั่วไปในปีนี้มี 5.7 ล้านคน เป็นจิตเวชจากยาเสพติดประมาณ 40%   

อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ในภาพรวม ไม่ใช่เรื่องจิตเวชเท่านั้น ภาพรวมไม่เพียงพอ โดยในกระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรทั้งหมดรวม 5 แสนคน มีอสม. อีกกว่า 1 ล้านคน เป็นองค์กรที่ใหญ่มาก มีงานทับถม หากไม่สามารถแยกหรือบริหารจัดการให้เป็นแนวทางที่ชัดเจน ก็จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานงบประมาณของประเทศ โดยมีงบประมาณ 3.4 แสนล้านที่ได้ขอมา

ทั้งนี้ ในเรื่องงานจิตเวช มีกรมสุขภาพจิต ที่ผ่านมาจะดูแลผู้ป่วยจิตเวช ไม่เกี่ยวข้องยาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ ความแตกต่างของผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด มีความแตกต่างกันตรงที่ ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดมีโรคอื่นมาด้วย ผู้ดูแลเกี่ยวกับจิตเวชอย่างเดียวไม่สามารถรักษาได้ครอบคลุม จึงมีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการในการควบรวม งานจิตเวชธรรมดาทั่วไป กับจิตเวชยาเสพติด หรือในส่วนเหล้า แอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ยาบ้า เข้าไปรวมใน “กรมสุขภาพจิต” และหากเป็นไปได้ก็จะปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ “กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด”

ต้องเรียนว่า อาคารสถานที่กรมสุขภาพจิต ไม่ใช่เล็กๆ อย่างจำนวนเตียงดูแลคนไข้ มีตั้ง 4,469 เตียง และในเตียงที่ดูแลจิตเวชสองอย่างรวมกัน 1,625 เตียงรวมของสำนักงานปลัดฯ ส่วนรพ.ทั่วไป และกรมการแพทย์มี 1,840 เตียง จะเห็นว่ากรมสุขภาพจิต มีหน้าที่ดูแลส่วนนี้ชัดเจน เป็นหน้าที่โดยตรง หากเราเพิ่มยาเสพติดเข้าไป จะทำให้ดูแลตรงยิ่งขึ้น

“สำหรับงานใหม่ที่ผมได้ประชุมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวานนี้ ได้ตั้งสิทธิประโยชน์ใหม่ในปี 68 คือ ศูนย์ปรึกษาสุขภาพจิตก่อนป่วย จะตั้งเพิ่มทุกจังหวัด โดยเป็นงบประมาณ 73 ล้านบาท เพราะจิตเวชส่วนใหญ่ต้องพูดคุย สื่อสารรับฟัง เพื่อให้หลีกเลี่ยงการเกิดความรุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันยาฉีดจิตเวชชนิดออกฤทธิ์ยาวอีกเช่นกัน และยังมีแผนดูแลระยะยาวอีกเช่นกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว

โดยแผนดูแลระยะยาวมี 4 แผน คือ

1. แผนบุคลากรสุขภาพจิต จะอยู่ในภาพรวม ที่กำลังดำเนินการร่างพ.ร.บ.เฉพาะ เพื่อปลดล็อกให้กระทรวงสาธารณสุขผลิตบุคลากรที่จำเป็น เนื่องจากตนได้ให้นโยบายกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ในกฎของสำนักงาน ก.พ. ทำให้มีข้อจำกัดในอัตรากำลัง ทำให้บุคลากรถูกจำกัดความก้าวหน้า จึงมอบนโยบายให้ออกนอกระบบของ ก.พ. โดยทำร่างพ.ร.บ.ข้าราชการบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ทำคล้ายๆ กระทรวงศึกษาธิการ  ซึ่งคาดว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะสามารถเข้าสภาได้ในสมัยนี้

ส่วนจำนวนบุคลากร นักจิตวิทยา  นักสังคมสงเคราะห์การดูแลคุณภาพประชาชนใน รพ.สต. ก็ต้องปรับเพิ่มเช่นกัน

2.เพิ่มการบริการให้ทั่วถึงในกทม. ให้ทั่วถึงทุกที่ เพิ่มจำนวนหอผู้ป่วยจิตเวช ยาเสพติด เพิ่มมินิธัญญารักษ์ให้ครบทุกจังหวัด 100% เพิ่มชุมชนล้อมรักษ์ เพิ่มศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม

3.เพิ่มการช่วยเหลือผู้ป่วยคลุ้มคลั่งรุนแรง แบบเชิงรุก

4.เพิ่มการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมสุขภาพจิต

น.ส.รักชนก กล่าวเพิ่มเติมหลังรมว.สาธารณสุข ตอบกระทู้ว่า เข้าใจสำหรับเอกสารที่ข้าราชการเตรียมข้อมูลให้รมว.สธ. แต่อยากให้ท่านเข้าใจว่า อย่างคนเมายา คนที่มีปัญหาและไปทำอนาจาร ทำความรุนแรงเด็กๆก็มี ปัญหาคือ เมื่อเกิดเหตุไปแจ้งตำรวจ ตำรวจกลับบอกว่า ยังไม่เกิดความรุนแรง ต้องให้รอมีเหตุร้ายก่อน และเมื่อไปแจ้งสาธารณสุขก็จะเกิดปัญหาว่า ใครจะนำตัวคนเหล่านี้ไปบำบัด เพราะคนกลุ่มนี้บางทีไม่มีครอบครัว แล้วจะทำอย่างไรในการนำส่งรักษาได้ ระเบียบทางสาธารณสุขอาจไม่เอื้อรับตัวคนเหล่านี้ไปรักษา และเวลาพาไปรักษา กลับถูกให้พาไปรพ.ตามสิทธิก่อน กว่าจะได้รักษา ขั้นตอนเยอะมาก ที่สำคัญพอไปหน้างาน อาการไม่กำเริบ ไม่รักษา พอกลับมาบ้านอาการกำเริบ นี่คือปัญหาจริงๆ

“ส่วนคนที่เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว แต่ระยะเวลาในการดูแลคนเหล่านี้บอกว่า ต้องรักษา 1 ปี ต้องมีการดูแลติดตามอย่างน้อย 6 ครั้ง นี่คือคู่มือการรักษาเลย แต่ความเป็นจริง แค่ 2-3 เดือนก็ปล่อยกลับมา ก็ทำพฤติกรรมเหมือนเดิม เพราะไม่มีการติดตามอะไรเหมือนที่กระทรวงฯ โฆษณาการดูแลรักษาไว้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะเคยไปส่งผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดเอง ดิฉันเชื่อว่าในพื้นที่ของ สส. ย่อมมีเคสแบบนี้ และไม่รู้ใครจะไปจัดการ นี่คือความลักลั่น ช่องโหว่ รูรั่วในกระบวนการสาธารณสุข ” สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กล่าว

นายสมศักดิ์ ตอบว่า เป็นคำถามที่ดีมาก สังคมทั่วไปก็ติดตาม ขณะนี้นายกฯ มีนโยบายในการจัดการเรื่องยาเสพติด เรื่องของผู้คนเกี่ยวข้อง เรื่องบำบัดรักษาถือเป็นนโยบายหลักและให้ความสนใจ อย่างผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ฉุกเฉิน สามารถรักษาได้ทุกที่ หากแพทย์ไม่รับให้โทร 1667 เพื่อแก้ปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่จะบูรณาการเรื่องนี้ ทั้งปกครอง และรักษา ขอเรียนว่า เมื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้ จะรับเรื่องและดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจยังไม่เข้าใจภารกิจของหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน แต่สิ่งใหม่ต้องมีการทำงานร่วมกัน ก็จะมีการปรับเปลี่ยนทำให้ดีที่สุด