กรมพระศรีสวางควัฒน เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 พระราชทานโล่และเหรียญรางวัล "หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ" ประจำปี 2567 “หมอภาณุพงศ์ ปริยวงศ์กร” อายุ 63 ปี หมอพื้นบ้านชำนาญการตรวจวินิจฉัย รักษาโรคกระดูกหัก ด้าน รมว.สาธารณสุข และข้าราชการสธ. น้อมนำพระราชดำรัสใช้สมุนไพรสร้างตลาดทั้งในและนอกประเทศ เดินหน้าลดนำเข้ายากว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และ การประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 21 “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก” ณ อาคาร 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และผู้เกี่ยวข้อง เฝ้ารับเสด็จฯ
ถัดมา พระราชทานพระวโรกาสให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 21 จากนั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอพระราชทานกราบทูลเบิกผู้ได้รับพระราชทานโล่และเหรียญรางวัลต่าง ๆ ดังนี้
1. รางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ได้แก่ หมอภาณุพงศ์ ปริยวงศ์กร อายุ 63 ปี หมอพื้นบ้านที่มีความชำนาญในการตรวจวินิจฉัย รักษาโรคกระดูกหัก
2.รางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ระดับเพชร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3 ราย
3.รางวัลพื้นที่ต้นแบบดีเด่นชมรมผู้สูงอายุ ด้านการแพทย์แผนไทยประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 2 ราย
4. รางวัลโครงการวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2567 จำนวน 1 ราย และพระราชทานเหรียญ ที่ระลึกการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ จำนวน 80 ราย
ในโอกาสนี้ ทรงมีพระดำรัสเปิดงาน ใจความว่า “การจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติเป็นโอกาสอันดี ที่จะเกิดการพัฒนาและยกระดับการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรไทยสู่ระดับสากล ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และเป็นเวทีในการสร้างคุณค่าให้กับภูมิปัญญาของประเทศไทย ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และรับบริการสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกได้อย่างมีคุณภาพ มาตรฐานและปลอดภัย เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพ รวมถึง เกิดการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย ผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นับเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
จากนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทอดพระเนตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “โครงการทับทิมสยาม 05” จังหวัดสระแก้ว ซึ่งท่านทรงมีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตามแนวชายแดน โดยจัดทำโครงการทับทิมสยาม กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการทับทิมสยาม 05 จังหวัดสระแก้ว เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้น เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือ ให้ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน แก่ราษฎรตามแนวพื้นที่แนวชายแดน และส่งเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เข้าส่งเสริมอาชีพ ให้ความรู้ในเรื่องการปลูกสมุนไพร เพื่อใช้สมุนไพรดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง จากนั้น ขยายผลการดำเนินงาน เข้าส่งเสริมราษฎรปลูกพืชสมุนไพร ตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (IFOAM) เพื่อก่อให้เกิดรายได้
รมว.สธ.ดันยาสมุนไพรใช้รักษาโรคเพิ่มจากยาแผนปัจจุบัน
ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า แพทย์แผนไทยมีตำรับการรักษาที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งสมุดข่อยและบันทึกใบลานมากกว่า 5 หมื่นตำรับ โดย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงให้ความสำคัญและสนพระทัยในตำรับยาหลายอย่างอย่างมาก พระองค์ท่านฯ ทรงมีความรู้อย่างลึกซึ้ง ทรงมีพระราชดำรัสและให้คำแนะนำในการใช้สมุนไพรเพื่อสร้างตลาดสมุนไพรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตนและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมรับใส่เกล้าและเพื่อดำเนินการ อย่างเช่นปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการนำเข้ายาจากต่างประเทศมากกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ตนจะมอบนโยบายให้มีการแบ่งตลาดมาใช้ยาสมุนไพรไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางยา ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ
สำหรับการสร้างตลาดสมุนไพรไทยในต่างประเทศ ทาง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เจรจาร่วมกับประเทศทางตะวันตกและตะวันออกมากขึ้น พร้อมทั้งดูแลเรื่องการปรับปรุงตำรับยามากขึ้น เพราะที่ผ่านมาถูกทอดทิ้งทำให้ขาดช่วงการศึกษาไปนาน ดังนั้น ตอนนี้เราต้องออกตัวอย่างแรง คาดว่าในช่วง 2 ปีนี้จะตามตลาดโลกได้ทัน
สำหรับมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 7 กรกฎาคม ที่ ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพคเมืองทองธานี โดยการจัดงานแบ่งออกเป็นโซนกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1.โซน Service มีคลินิกให้คำปรึกษา ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แก่ คลินิก 5 โรค สะเก็ดเงิน, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ประกอบด้วย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง, โรคปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ, การดูแลคุณแม่หลังคลอด และคลินิกบำบัดยาเสพติด
2.โซน Wisdom พบหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ นวดผู้มีบุตรยาก หมอพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค นวดอัตลักษณ์ไทย อาทิ เหยียบเหล็กแดง นวดน้ำมันลังกาสุกะ นวดนักกีฬา สมุนไพรอัตลักษณ์จาก 76 จังหวัด ซึ่งบางต้นเป็นสมุนไพรหายาก ใกล้สูญพันธุ์มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
3.โซน Product ให้คำปรึกษาเรื่องการส่งออก และภาพรวมตลาดสมุนไพร จัดแสดงนิทรรศการการวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ Premium Product
4.โซน Wellness ให้บริการนวดไทย ในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น นวดเท้า คอบ่าไหล่ โชว์โมเดลการจัดสปาเพื่อสุขภาพ แหล่งผลิตภัณฑ์ชุมชน การให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับสถานประกอบการแหล่งท่องเที่ยวอัตลักษณ์ไทย อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสมุนไพร 4 ภาค สวนสมุนไพรและตรวจรักษาโรคเมตาบอลิกซินโดรม
5.โซน Innovation ให้คำปรึกษา นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา การจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบของกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร และมหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย การสาธิตการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร บริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
6.โซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรคุณภาพ ชิม ชม ช้อป ผลิตภัณฑ์และสินค้าคุณภาพจากสมุนไพรโดยผู้ประกอบการกว่า 400 ร้าน
7.เวทีหลัก กิจกรรมเสวนาสาธิต และการแสดงศิลปวัฒนธรรม และศิลปิน นักแสดง
- 372 views