“ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด- นายก อบจ.กาญฯ” เสนอสธ. ยกระดับ "รพ.ชุมชน" ให้มีศักยภาพมากขึ้น ผอ.รพ.ร้อยเอ็ดมอง "30 บ.รักษาทุกที่" คนแห่ใช้บริการรพ.รร.แพทย์ ชี้ควรเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรให้เร้าใจ มั่นใจนโยบายนี้ตอบโจทย์การเข้าถึงบริการ-ลดแออัดในรพ.
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ในการประชุม "สรุปผลและข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567" โดย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด และ นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมเสวนา ภายใต้หัวข้อ "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว"
นพ.ชาญชัย กล่าวว่า มองว่า "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ประชาชนจะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของการเข้าถึงบริการ รวมถึงสถานบริการแต่ละระดับ นอกจากนั้นยังมองภาพกว้างในระดับประเทศจะเป็นอย่างไร "ถ้าเกิดว่าคนร้อยมาขับแท็กซี่อยู่กรุงเทพแล้วไม่ได้ย้ายสิทธิบัตรทอง ถ้าเจ็บป่วยแล้วต้องไปเข้าที่ร้อยเอ็ดก็ลําบาก" ตรงนี้ก็จะสามารถเข้ารับบริการได้สะดวกขึ้น ถ้าหากสามารถลิงค์ข้อมูลกันได้สามารถเปิดเผยประวัติได้หรือว่าจะเข้าไปสู่แอพหมอพร้อมแล้วก็ดูประวัติว่าคนไข้เคยได้ยาอะไรจากโรงบาลร้อยเอ็ด หมอที่จะให้การบริการรักษาพยาบาลก็จะสะดวกขึ้น และจะได้รับการดูแลต่อเนื่อง
ผอ.รพ.ร้อยเอ็ดมอง "30 บ.รักษาทุกที่" คนแห่ใช้บริการรพ.รร.แพทย์
"อย่างภาคอีสานโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงคือโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีอาจารย์เก่งๆเยอะไปหมด อย่างคนไข้ตาเป็นต้อเนื้อมองไม่ค่อยชัด แต่ยังไม่เข้าลูกตาดําถ้าพูดแล้วก็คือรักษาอยู่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ แต่ชาวบ้านคิดว่าหมอที่นี่เก่งก็ไป อันนี้โหลดมาก เชื่อว่าต้องโหลดแน่นอนเพราะฉะนั้นอาจจะเป็นปัญหาได้ว่าถ้าเกิดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับ 30 บาทเมื่อไหร่ก็ต้องมีหน่วยที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ดี" นพ.ชาญชัย กล่าว
ในส่วนโรงพยาบาลร้อยเอ็ดมีการเตรียมความพร้อม คือ เพิ่มอัตรากําลังทั้งหมอและพยาบาล แต่จริงๆแล้วปรากฎว่าประชาชนเข้ารับบริการไม่เยอะ เหตุผลที่ไม่เยอะก็มีหลายส่วน ส่วนหนึ่งประชาชนเลือกไปโรงพยาบาลชุมชน เพราะอยู่ห่างจากตัวเมือง 50 กิโลไม่มีใครอยากเหมารถมาอยู่แล้ว แต่มีบ้างเช่น เมื่อไปโรงพยาบาลชุมชน 2-3 รอบแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็อยากจะมาที่รพ.ร้อยเอ็ดเหมือนกัน ทั้งนี้ดูสถิติแล้วเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% โดยการเพิ่มจริงๆของโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ประมาณ 5-6% เท่านั้น
ยกระดับ "รพ.ชุมชน" ให้มีศักยภาพ
นพ.ชาญชัย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายว่าจะต้องมีการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้ก้าวกระโดด เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า หมอจะจบมาอีก 30,000 คน แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะเอาหมอไปไว้ไหน นี่เป็นความจริงของชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราวางแผนดี ก็คือเราต้องอัพเกรดโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนให้ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าคลอดลูกก็ต้องส่งมาโรงพยาบาลจังหวัด ความจริงไม่ต้องส่งเพราะชาวบ้านเขาอยากมาเอง เพราะว่าที่นั่นไม่มีหมอสูตินรีเวช ซึ่งสมัยเมื่อ 50 ปีก่อนคลอดลูกกับหมอตําแยได้แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว
เพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์ต้องเพิ่มให้เร้าใจ
"เพราะฉะนั้นใน 10 ปีข้างหน้ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำให้มีหมอที่สามารถดูแลอย่างนี้ได้ เพื่ออัพสแตนดาร์ดให้กับพี่น้องประชาชน อันนี้เป็นความท้าทาย คุณจะเอาหมอให้อยู่กับโรงพยาบาลชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน แน่นอนสิ่งสําคัญก็คือต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์ส่วนหนึ่งแล้วก็ต้องเพิ่มให้เร้าใจ" นพ.ชาญชัย กล่าว
ด้าน นพ.ประวัติ กล่าวว่า ตอนนี้มาเป็นนักการเมืองก็พลิกชีวิตเหมือนกันแต่ได้รู้อะไรบางอย่างมากขึ้น ท้องถิ่นมีพลังมาก มีทุกอย่างทั้ง คน เงิน ของ สามารถพลิกบริการสาธารณสุขได้ทั้งหมด จริงๆการกระจายอํานาจถูกต้องอยู่แล้ว อย่างการถ่ายโอนรพ.สต.มาสู่ท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเคยเป็นผอ.โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ที่เรียกว่า "smart hospital" ต้องขอบคุณ "smart hospital" เมื่อวันนั้นถ้าไม่ได้ smart hospital วันนั้นทุกคนยังเป็นอนาล็อกอยู่เลยเพราะฉะนั้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ไปไม่ได้เพราะข้อมูลไม่สามารถถ่ายไปให้คนอื่นได้ ถ่ายไปในโรงพยาบาลอื่นหรือถ่ายไปให้ประชาชนก็ไม่ได้
"นโยบายเรื่องสาธารณสุขเป็นเรื่องสําคัญ ทุกคนจะเห็นว่าสุขภาพหรือบริการที่เขาได้รับมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ถ้ามีนักการเมืองที่มีคุณภาพและสามารถทําให้ท้องถิ่นเจริญขึ้นได้วันนี้ผมว่าบทบาทมันน่าจะเปลี่ยนไปเยอะการเลือกตั้ง อบจ. ปลายปีนี้คงจะมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร คงได้นักการเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้นและผลักดันนโยบายต่างๆให้ดีขึ้นได้" นพ.ประวัติ กล่าว
นพ.ประวัติ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กาญจนบุรีไม่ได้ราบรื่นสักเท่าไหร่ ปัญหาก็อาจจะเป็นเบื้องต้นของประเทศไทยด้วยซ้ำไป กว่าจะได้รับงบประมาณจากสปสช. รอประมาณเกือบปีนึงเต็มๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ ทั้งนี้เรื่องของการถ่ายโอนรพ.สต.ก็ทุรักทุเรมาจนถึงปัจจุบัน แต่เชื่อได้ว่าความก้าวหน้าของรพ.สต.ต่อจากนี้ จะเป็นแบบลักษณะก้าวกระโดด เราไม่เคยมีระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ Primary Care ที่สามารถก้าวข้าม รพ.สต. หรือสถานีอนามัยดั้งเดิมไปได้เลย วันนี้จะเป็นที่แรกโดยใช้ชื่อว่า "รพ.สต.พรีเมี่ยม" ซึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบสาธารณสุขได้จริงๆ
ในส่วนเรื่องของ "30 บาทรักษาทุกที่" แน่นอนเป็นภาพในฝันของนักการเมืองเลยเราอยากได้แบบนี้มานานแล้วด้วยซ้ำไปเราเคยพยายามเชื่อมโยงข้อมูลกันในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเราสามารถลิงค์ข้อมูลเชื่อมกันเรียบร้อยง่ายมาก รพ.สต.สามารถดูข้อมูลที่โรงพยาบาลได้ โรงพยาบาลดูข้อมูลรพ.สต.ได้ แต่ว่าจริงๆนโยบาย 30 บาทรักษาที่ ควรจะเกิดจากข้าราชการ ซึ่งต้องคิดเป็นด้วยว่าเรื่องนี้ต้องถึงประชาชนอยู่แล้ว แต่ว่าไม่สามารถผลักดันออกมาได้ แต่การเมืองทําได้
ท้องถิ่นมีการเตรียมพร้อมในการรองรับ "30 บาทรักษาทุกที่"
"สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่เชื่อว่าท้องถิ่นมีการเตรียมพร้อมในการรองรับไม่ว่าจะเป็นเฟส1 เฟส2 เฟส3 หรือว่าเฟสที่เหลือก็พร้อมอยู่แล้ว พร้อมที่จะส่งข้อมูลให้กับทางส่วนกลางไม่ว่าจะเป็น หมอพร้อม หรือ กระทรวงสาธารณสุข แต่ว่าสิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือขบวนการเคลมมันยากไปหน่อย ผมว่ากองทุนมันเริ่มย่อยเอยะแยะไปหมด มันน่าจะลดลงได้แล้วมันเยอะเกินไปแล้ว ฝากสปสช.ด้วย ให้มันเคลมได้ง่ายๆ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างพวกนี้การกระจายอํานาจแบบนี้มันถูกอยู่แล้ว ไม่จําเป็นต้องซื้อจากภาครัฐ ยังมีภาคเอกชน ยังมีคลินิก ยังมีร้านยาที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการที่สามารถบริการให้กับประชาชนได้ เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการเข้าถึงบริการของประชาชน" นพ.ประวัติ กล่าว
นพ.ประวัติ กล่าวในช่วงท้ายว่า เห็นด้วยกับการยกระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นมา เพราะเรื่องนี้จะตอบโจทย์ได้หลายๆอย่าง อย่างตอนที่ตนบริหารโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง จะมีบริการทั้ง CT scan หรือ แมมโมแกรม ด้วยซ้ำไป จริงๆไม่มีข้อห้ามว่าจะทำอะไรได้ไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับความกล้าของผู้บริหารมากกว่าว่าจะกล้าทำหรือไม่ ส่วนรพ.สต.ที่ถ่ายโอนมาท้องถิ่นไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้รับการดูแลหรือทอดทิ้ง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับคนหมู่มากเกี่ยวกับมวลชลนักการเมืองชอบ ถ้าทำไม่ดีครั้งหน้าก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เชื่อว่าการยกระดับ รพ.สต.จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้
- 375 views