ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

30 บาทรักษาทุกที่ ปลดล็อก “คลินิกกายภาพบำบัดเอกชน” ที่เข้าร่วมตามนโยบายฯ เริ่ม 28 มิ.ย. เป็นต้นไป ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค เข้ารับบริการคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น  ไม่ต้องรอให้แพทย์ส่งตัวผู้ป่วย

 

เมื่อวันที่  26 มิถุนายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สระบุรี และ ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานของหน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่  “คลินิกกายภาพบำบัดเมอรี่มูฟ” ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น จากการรับฟังพบว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องแก้ไข คือ

1. การขึ้นทะเบียนของคลินิกกายภาพบำบัดในระบบของ สปสช. ยังใช้เวลานานเกินไป ซึ่ง สปสช.จะปรับปรุงให้เป็น One stop service ที่ขึ้นทะเบียนได้ใน 1 วัน ลดขั้นตอนการรับรอง คาดว่าจะทำให้คลินิกกายภาพบำบัดที่รอขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

อย่างพื้นที่ จ. ปทุมธานี มีคลินิกกายภาพบำบัดร่วมลงทะเบียน 10% ของจำนวนคลินิกกายภาพฯ ทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป โดยควรที่อยู่ที่ 50% ของจำนวนคลินิกในพื้นที่นั้น ดังนั้น สปสช. ตั้งเป้าว่าเมื่อปรับระบบการลงทะเบียนแล้วจะมีคลินิกกายภาพฯ ในระบบเพิ่มขึ้นที่จำนวน 50% ของจำนวนคลินิกกายภาพฯ ในพื้นที่ โดยในพื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี มีคลินิกกายภาพฯ จำนวน 150 แห่ง ตั้งเป้าว่าจะมีสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยนวัตกรรมของ สปสช. ที่จำนวน 75 แห่ง เป็นต้น

 

2. ผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายที่ต้องรับบริการกายภาพบำบัด 4 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนเข้าสู่ภาวะคงที่ และผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip ) ซึ่งมีจำนวนกว่า 100,000 รายทั่วประเทศ แต่เข้ารับบริการได้เพียงแค่ 19,000 ราย สาเหตุเพราะต้องรอให้แพทย์ทำการส่งตัวมารับบริการที่คลินิก ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงจะเปลี่ยนระบบใหม่ให้ผู้ป่วยมาแจ้งความประสงค์เข้ารับบริการที่คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่นได้ คลินิกฯ สามารถลงทะเบียนตัวผู้ป่วยเพื่อให้บริการได้เลย

 

"ช่วงเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดีที่สุด คือ 6 เดือนหลังจากได้รับการรักษา ถ้าไม่ได้ทำการฟื้นฟูภายในช่วง golden period นี้ ก็อาจพิการเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาตถาวร ซึ่งปกติผู้ป่วยไปรับบริการโรงพยาบาลก่อนอยู่แล้ว แต่ด้วยผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรค ดังนั้น สปสช. จึงปรับเปลี่ยนขั้นตอนใหม่ โดยผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง ให้ผู้ป่วยมาติดต่อรับบริการที่คลินิกกายภาพฯ เลย ไม่ต้องรอให้แพทย์ส่งตัว โดยคลินิกกายภาพฯ จะประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ป่วย ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ส่วนเรื่องที่ 3. นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในระยะต่อไปอาจมีการขยายกลุ่มโรคให้คลินิกกายภาพบำบัดเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้ให้มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า หรือผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการกายภาพบำบัดในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น เป็นต้น

 

ทั้งนี้ 2 ประเด็นแรกที่กล่าวมา สปสช. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 มิ.ย. 2567 เพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยบริการรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่โดยเร็วที่สุด ดังนั้นขอประชาสัมพันธ์ไปยังคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศให้สมัครเข้ามาเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. และจะได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างรวดเร็ว

 

ในส่วนผู้ป่วยหรือประชาชน สปสช. ขอแจ้งว่าหลังจากวันที่ 28 มิ.ย. 2567  ท่านสามารถมาติดต่อที่คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ได้เลย แล้วคลินิกกายภาพฯ จะทำการจัดการเรื่องหลังบ้านเพื่อลงทะเบียนให้ หรือถ้าไปโรงพยาบาลก่อนแล้วแพทย์ส่งตัวมารับบริการที่คลินิกกายภาพฯ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ศ.ดร.กภ.ประวิตร กล่าวว่า ต้องขอบคุณ สปสช. ที่เปิดโอกาสให้คลินิกกายภาพบำบัดในชุมชนได้ให้บริการผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มติดบ้านติดเตียงและขาดโอกาสเข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมาก ผลกระทบที่ตามมาคือความพิการถาวรหากได้รับบริการล่าช้า ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และสภากายภาพบำบัดยินดีให้การสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่

 

“หลังจากนี้สภากายภาพบำบัดจะผลักดันให้เกิดการจัดบริการให้ถึงบ้านคนไข้ เราไม่อยากใช้คำว่า walk in แต่อยากให้นักกายภาพ walk out ไปที่บ้านคนไข้ เพราะคนไข้กลุ่มนี้เดินทางมารับบริการลำบาก ปัจจุบันคลินิกกายภาพฯ ยังเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก ทางสภาฯ จะส่งเสริมและสร้างความเข้าใจแก่คลินิก เข้าใจว่าในช่วงแรกอาจมีความกังวลในหลายๆ เรื่อง เช่น จะยุ่งยากหรือไม่ จะถูกตรวจสอบหรือไม่ ซึ่งสภากายภาพบำบัดจะทำงานร่วมกับ สปสช. เพื่อให้ข้อมูลสร้างความสบายใจแก่คลินิก และสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าคลินิกกายภาพบำบัดที่อยู่ในชุมชน มีคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ สามารถรับบริการได้อย่างสบายใจ” นายกสภากายภาพบำบัด กล่าว