ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"อ.ธนพร" ชี้การออก "พ.ร.บ.อสม." ทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับอาสาสมัครกระทรวงอื่นๆ รัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งไม่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของระบบสุขภาพ หวั่นสร้างภาระงบฯให้กับประเทศ-ทําระบบสาธารณสุขอ่อนแอ

หลังจากที่ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวเสนอความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อสม.อย่างต่อเนื่อง จากกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) มีการประกาศจะดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในแง่ของสิทธิและสวัสดิการ โดยเฉพาะค่าตอบแทน 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ต้องขอเป็นครั้งๆ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567  รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ให้ความเห็นเรื่องนี้กับ Hfocus ว่า เข้าใจว่าบุคลากรที่ทํางานในพื้นที่ของด้านสาธารณสุขมีความสําคัญ แต่ตนคิดว่าการออกเป็นพระราชบัญญัติ จะทําให้เกิดปัญหากับภาพรวมของประเทศมากกว่า เพราะว่าการออกเป็นพระราชบัญญัติจะทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำไปกับอาสาสมัครของกระทรวงอื่นที่มีอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครกระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงพัฒนาสังคม แล้วก็อีกหลายๆกระทรวง ซึ่งตนมั่นใจว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ

"เพราะว่านอกจากจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เท่าเทียมกับอาสาสมัคร ประเภทอื่นแล้ว มันก็จะมีผลทําให้เกิดการผูกพันงบประมาณ ซึ่งมันก็จะเป็นภาระอย่างมาก วันนี้เราจําเป็นที่จะต้องมาคุยกันอย่างจริงจังเรื่องของบุคลากรด้านสาธารณสุข เพราะว่าการที่ไปออกพระราชบัญญัติเพื่อมาตอบโจทย์ตรงนี้มันไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของระบบสุขภาพ แต่มันเป็นการใช้การหาเสียงทางการเมืองมาเป็นตัวนำ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันล้าสมัยแล้ว เพราะว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 66 มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เครื่องมือด้วยการใช้งบประมาณของภาครัฐมาจัดตั้งเครือข่ายต่างๆ สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้ผลในการเลือกตั้ง" รศ.ดร.ธนพร กล่าว

ฉะนั้นในแง่ของภาพรวมสรุปได้ว่า 1. พระราชบัญญัติฉบับนี้ทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับอาสาสมัครประเภทอื่นๆ 2. ทําให้เป็นภาระงบประมาณกับภาครัฐถ้าเราไม่จัดระบบอาสาสมัครเป็นภาพรวมของประเทศให้ได้ก่อน  3. เรื่องอัตรากําลังของบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องดูกันไปทั้งระบบ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วด้านสาธารณสุขก็จะบวมอยู่ดูงานเดียว แล้วจะผูกพันงบประมาณไปชั่วลูกชั่วหลาน เรื่องนี้เราต้องรอบคอบ

รศ.ดร.ธนพร กล่าวต่อว่า เรามีทางเลือกในในการบริหารอย่างอื่นเยอะ เช่น การปลดล็อคงบบุคลากรของท้องถิ่นไม่ให้ติดที่ 40% ก็จะทําให้ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. หรือ เทศบาล สามารถใช้งบประมาณรายได้ของท้องถิ่นจ่ายค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในแต่ละพื้นที่ได้ ก็จะทําให้ภาระทางงบประมาณส่วนกลางลดลง แต่ว่าวิธีการแก้ปัญหาแบบที่รัฐบาลกําลังทําคือออกเป็นพระราชบัญญัติ เป็นวิธีการแก้ที่ผิดทาง ผิดทั้งทางการบริหารและก็ไม่ได้ประโยชน์ทางการเมืองอย่างที่คาดหวัง 

เมื่อถามว่าจำเป็นหรือไม่อนาคต อสม. ต้องไปอยู่กับท้องถิ่น รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า จริงๆ อสม.หน่วยงานที่ทํางานใกล้ชิดที่สุดก็คือ รพ.สต. แล้วทิศทางของ รพ.สต. แน่นอนว่าทุกแห่งจะต้องไปสังกัดท้องถิ่นทั้งหมด ตนมองว่าจริงๆแล้วแค่ปลดล็อกเรื่องงบประมาณบุคลากร 40% อบจ.ก็สามารถที่จะบริหารจัดการกําลังคนในส่วนนี้ได้อย่างสบายมาก เพราะฉะนั้นไม่ปฏิเสธว่าบุคลากรอาสาสมัครสาธารณสุขทํางานหนัก แต่ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของ อสม. ด้วยการไปออกพระราชบัญญัติ เป็นวิธีการรุ่นเก่าแน่นอนว่ามีแต่สร้างภาระให้กับประเทศ แล้วก็จะทําให้ระบบบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งวันนี้ก็ใหญ่โตมากอยู่แล้วจะยิ่งทวีปัญหาเพิ่มมากขึ้น 

"นโยบายลักษณะแบบนี้เป็นนโยบายการเมืองรุ่นเก่า แล้วก็ไม่รับผิดชอบต่อภาระระยะยาวของประเทศ และมีแต่จะทําให้ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ" รศ.ดร.ธนพร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

- หนุนเกิด "พรบ.อสม." เพื่อความมั่นคงทั้งค่าป่วยการ-สวัสดิการอื่นๆ และช่วยอสม.มีตัวตนมากขึ้น

- อีกเสียง! อยากให้มี "พรบ.อสม." คุ้มครองความปลอดภัย-ค่าป่วยการยั่งยืน ชี้ควรกำหนดอายุอสม. 25-50 ปี

-สบส.รับนโยบาย “สมศักดิ์” ฟื้นร่าง พ.ร.บ.อสม.ปี 65 จ่อประชาพิจารณ์ 4 ภาคเร็วๆนี้(คลิป)

-ข่าวดี! ค่าป่วยการอสม. เดือนละ 2 พันบาทเข้าบัญชีแล้ว 

-“สมศักดิ์” ชูโครงการสินเชื่อ “เงินด่วนคนดี” อสม.ทั่วประเทศ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

-"สมศักดิ์" จ่อดัน พ.ร.บ.อสม. เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ดูแลปชช.ขั้นปฐมภูมิ

- ชมรม อสม.ภาคอีสาน หนุนเกิด "พ.ร.บ.อสม." ชี้ช่วยเพิ่มมาตรฐานการทำงาน