ผู้ช่วย รมต.สธ.สั่ง สบส.ลุยตรวจ “คลินิกบัตรทอง” กทม.กว่า 200 แห่งสัปดาห์หน้า ทีมกฎหมายตรวจสัญญา ทำตามข้อกำหนดหรือไม่ หากไม่ได้มาตรฐานต้องจัดการให้หมด “ธนกฤต” ลั่น  “หากทำได้ก็ทำต่อ แต่หากทำไม่ได้ก็เลิกไป..”  ด้าน สปสช. เตรียมหาคลินิกรองรับ หากตรวจสอบพบทำผิดสัญญาจริง

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน  นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาคลินิกบัตรทองพื้นที่กทม. ที่ถูกผู้ป่วยร้องเรียนว่า ไม่ยอมออกใบส่งตัว หรือออกใบส่งตัวล่าช้า เพื่อส่งต่อรักษาใน รพ.แม่ข่าย  และมาร้องทุกข์ที่กระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ว่า กรณีดังกล่าวเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งเป็นคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า คลินิกบัตรทองในพื้นที่กทม. โดยผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบมาร้องเรียนกับตน ขณะนี้กำลังดำเนินการ ทางนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  รับทราบและมอบหมายให้เร่งแก้ไข ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า  ขณะนี้กำลังดำเนินการ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กำลังประสานและตรวจสอบคลินิกว่า มีการดำเนินการอย่างไร เป็นไปตามข้อตกลง ตามมาตรฐานหรือไม่ ไม่ส่งต่อ หรือออกใบส่งตัวล่าช้า มีผลต่ออาการผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน

“วันนี้ผมกำลังให้ทางสบส.ทำไทม์ไลน์ในการลงตรวจคลินิกบัตรทอง กทม. ซึ่งมีประมาณ 200 กว่าแห่ง คาดว่าจะทยอยตรวจสอบมาตรฐานการบริการในสัปดาห์หน้า และผมจะลงไปตรวจสอบเองให้ได้มากที่สุด ต้องไปดูว่าการร้องเรียนของประชาชน ทางคลินิกทำแบบนั้นจริงหรือไม่ มีเหตุผลอะไร ต้องดูว่าคลินิกดำเนินการตามสัญญาโครงการหรือไม่ ผมได้ให้เจ้าหน้าที่กฎหมายของตัวเอง ดูสัญญาว่า ที่มีต่อรัฐมีอะไรบ้าง หากทำได้ก็ทำต่อ แต่หากทำไม่ได้ก็เลิกไป..” ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าว

เมื่อถามว่าจะเตรียมพร้อมอย่างไร หากพบคลินิกไม่ได้มาตรฐานต้องเลิกสัญญา จะกระทบผู้ป่วยรักษาที่ไหน นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า จริงๆ ผู้ป่วยหลายคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่อยากไปคลินิกนั้นๆแล้ว ทุกวันนี้ยังมีคนไลน์ส่งข้อมูลมาอยู่เลย เรื่องนี้ก็ต้องไปดูว่า หากคลินิกไม่อยากเข้าร่วมจริงๆ ก็สามารถถอนตัวได้ ไม่เป็นไร หาคลินิกที่เต็มใจทำ ทำได้ดียังมีอีก ที่สำคัญต้องย้ำว่า คลินิกบัตรทอง กทม.กว่า 200 แห่ง ที่เป็นปัญหามีไม่กี่แห่ง ไม่น่าเกิน 10 แห่งที่มีปัญหาชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ราชกิจจานุเบกษาประกาศ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว รวมพื้นที่กทม. จะกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือไม่ ว่าไม่ได้ทุกที่จริง นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า โดยกระบวนการต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่การพัฒนาให้ทุกอย่างครบวงจร ก็มีหลายปัจจัย ทั้งงบประมาณด้วย ซึ่งต้องทำแน่อย่างทุกวันนี้มี 45 จังหวัดก็ต้องทำให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมกทม.ด้วย แต่ก็มีวิธีดำเนินการให้ทำให้ถึงเป้าหมาย

“อย่างพื้นที่กทม. ขณะนี้มีการลงนามข้อตกลง(MOU) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการทำพื้นที่รักษารูปแบบปฐมภูมิให้มากขึ้น และยังมีพื้นที่ของกองทัพอากาศในการเพิ่มจำนวนเตียง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปร่วมในการสนับสนุนบุคลากร ความรู้ทางวิชาการ เพื่อขยายการบริการร่วมกันในกทม. สิ่งเหล่านี้กำลังดำเนินการ ไม่ต้องกังวล การรับผู้ป่วยจะดีขึ้น ใช้เวลาหน่อย  ตอนนี้ทำงานทุกวัน ท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ ทำงานเสาร์อาทิตย์ ทำทุกวัน มากระทรวงฯก็เจอ” นายกองตรีธนกฤต กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หากผลตรวจสอบพบว่าคลินิกที่ได้รับการร้องเรียนไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญา ก็จะมีขั้นตอนต่างๆ หากต้องเลิกสัญญาก็ต้องทำตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งทางสปสช.จะจัดหาคลินิกอื่นๆหรือหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นมารองรับ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ป่วยบัตรทอง