ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สหัสวัต” จวกรัฐติดหนี้สำนักงานประกันสังคม ถือเป็นหนี้ผู้ประกันตนกว่า 6 หมื่นล้าน แม้ปี 68 จะใช้หนี้แล้ว 1.5 หมื่นล้าน แต่ยังค้างจ่ายอีกเยอะ จี้จ่ายหนี้ปี 69 หากไม่มีควรจ่ายดอกเบี้ยปีละ 5%  หรือคิดเป็นกว่า 3.3พันล้าน สามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้อีกมาก  เห็นด้วยโครงการหาสูตรคำนวณแรงงานขั้นต่ำ จะได้เลิกเถียงค่าจ้างแรงงานเสียที

 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายสหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ชลบุรี พรรคก้าวไกล  อภิปรายร่างงบประมาณประจำปี 2568 กระทรวงแรงงาน ว่า ปี2568 กระทรวงแรงงานได้รับการจัดสรรงบฯทั้งสิ้น 67,772 ล้าน  เหมือนเยอะ แต่เป็นของสำนักงานประกันสังคมไปแล้วกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท ที่รัฐต้องจ่ายตามกฎหมาย เป็นงบกระทรวงแรงงาน 5,700 ล้านบาท งบบุคลากร 3,100 ล้านบาท เหลือพื้นที่งบประมาณให้ใช้จ่ายจริงประมาณ 2,600 ล้านบาท ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการดูแลแรงงานทั้งประเทศ

“จากงบประมาณดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหามากมาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการอบรมแบบเบี้ยหัวแตก แรงงานเอาตัวรอดกันเอง ไม่สามารถเกิดความคุ้มครองแรงงานได้จริง ปัญหาเด็กจบใหม่ตกงาน คนว่างงานหางานไม่ได้ วุฒิการศึกษาไม่แมทกับงานที่มีในตลาดแรงงาน และค่าแรงขั้นต่ำเจ้าปัญหาที่ถกเถียงกันบ่อยมาก ส่วนหนึ่งมาจากการขาดงบประมาณ” นายสหัสวัต กล่าว

สส.พรรคก้าวไกล ยังอภิปรายอีกว่า แม้แต่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ก็เจอปัญหา ตอนนี้ต้องใช้งบสูงขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ที่สำคัญรัฐบาลยังติดหนี้ประกันสังคม 66,900 ล้านบาท ซึ่งในปี 2568 รัฐใช้หนี้ประกันสังคมมาแค่ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้ที่รัฐบาลติด หรือที่เรียกว่า เงินที่รัฐต้องสมทบ ถือว่าเยอะมาก จริงๆ ชำระเป็นดอกเบี้ย เช่น ถ้ารัฐจ่ายดอกเบี้ย 5%ต่อปี หรือประมาณ 3,345 ล้านบาท สามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้เยอะ

จวกรัฐเบี้ยวหนี้ผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน จี้ปี 69 จ่ายดอกเบี้ย

“นี่คือเงินของผู้ประกันตน คนที่ทำให้ผู้ประกันตน 24 ล้านคนอยู่ในความเสี่ยง คือ พวกท่านที่กำลังเบี้ยวหนี้ รัฐค้างจ่ายกลับไม่มีค่าปรับอะไรเลย ทั้งที่ควรจ่ายค่าเสียโอกาสด้วย  ดังนั้น ปี 2569 จ่ายหนี้ หรือจ่ายดอกเบี้ยด้วย กระทรวงแรงงานต้องปฏิรูปใหม่ทั้งระบบ น่าเห็นใจ กระทรวงแรงงานกลับไม่ถูกมองเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ต้องถูกให้ความสนใจมากกว่านี้ ต้องกลับมาตั้งโจทย์ใหม่ว่า หน้าที่หลักของกระทรวงแรงงานควรมีหน้าที่อะไร ผมมองว่า ควรสร้างงานที่ดี ค่าแรงที่ดี สวัสดิการที่ดี” นายสหัสวัต กล่าว

จี้ก.แรงงานทำระบบแมทชิ่งงาน จัดจ๊อบแฟร์ให้น้อยลง

นายสหัสวัต กล่าวอีกว่า ปัญหาของกระทรวงแรงงานคือ ตั้งรับเกินไป ต้องปรับวิธีทำงานเชิงรุกมากขึ้น ยกตัวอย่าง  การสร้างงานที่ดี อย่าง คนว่างงาน เด็กจบใหม่ หรือคนต้องการเปลี่ยนงาน เพื่อหาความท้าทายใหม่ๆ  ซึ่งกรมจัดหางาน ต้องจัดพวกจ๊อบแฟร์ หรือมหกรรมแรงงานให้น้อยลง ต้องมีการจัดหางานใหม่ๆ โดยทำระบบในการแมทชิ่งงานให้เหมาะสมกับคนกับตลาดแรงงาน ต้องวิเคราะห์ความต้องการแรงงานมากขึ้น บูรณาการร่วมกันกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. กระทรวงศึกษา ทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับงานในอนาคต

อย่างการ Upskill และ Reskill เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องสอดคล้องเหมาะสมกับผู้ใช้แรงงานด้วย ที่พูดกันถึงซอฟต์พาวเวอร์ การท่องเที่ยว จะให้คนเย็บผ้าในโรงงาน ไปเป็นไกด์เลย คงไม่ได้ แต่เราต้องยกระดับอย่างรง.เย็บผ้าโหล มาเป็นเย็บผ้า เย็บกระเป๋าราคาแพงได้หรือไม่ สิ่งสำคัญต้องคาดการณ์แรงงานอย่างเป็นระบบจริงๆ ซึ่งกระทรวงแรงงานทุกวันนี้ก็พยายามฝึกอบรมแรงงานใหม่ๆ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีการลงทุนแรงงานจริงหรือไม่

หนุนโครงการคิดคำนวณสูตรค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรม

 “สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานยื่นเสนอโครงการที่น่าสนใจ อย่างโครงการจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผมเห็นด้วยโครงการนี้ หากเราสามารถกำหนดสูตรที่เป็นธรรม โดยไม่ต้องมาถกเถียง ขับเคลื่อนโดยแรงงานไม่ต้องแบกเรื่องค่าแรงถูกอีก”นายสหัสวัต กล่าว

ชงอบรมตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อต่อรองนายจ้างได้

ขณะที่โครงการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หลายโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย จริงๆควรสนับสนุนให้มีสหภาพแรงงาน โดยจัดการอบรมการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ให้แรงงานดูแลกันเอง สามารถต่อรองกับนายจ้างได้ ลดการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพราะจะสื่อสารข้อตกลงร่วมกันได้   นอกจากนี้ รัฐบาลควรลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากขึ้น