สวรส. ร่วมกับทีมวิจัย นำแอปพลิเคชัน “AI ใจดี” ช่วยยกระดับระบบบริการผู้ป่วย NCDs - พัฒนาศักยภาพบุคลากรการแพทย์ รองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เทคโนโลยีที่มีความชาญฉลาด และเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งทำให้มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับทีมวิจัยนำโดย อ.นพ.ดร.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หัวหน้าโครงการวิจัย “ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรับมือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หลังสถานการณ์การระบาดโควิด 2019 ในจังหวัดนครราชสีมา” เพื่อพัฒนารูปแบบระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการระดับพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรับมือโรค NCDs ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชิงปัญญาประดิษฐ์ “A.I. ใจดี” ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเสริมสร้างความรู้/ทักษะของกำลังคนด้านสุขภาพในการดูแลผู้ป่วย และพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ป่วยโรค NCDs ตลอดจนพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรับมือโรค NCDs ต่อไป
ทั้งนี้ภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าว ได้มีการจัดเวทีเสวนา “การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีวิทยากรร่วมเวทีเสวนา อาทิ รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.), ดร.วิศิษฐ ทวีปรังษีพร ประธานกรรมการบริหารบริษัท SKAI MED (Thailand), ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน ประธานคณะอนุกรรมการกำกับด้านยุทธศาสตร์และแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และนักวิจัย, บุคลากรทางการแพทย์, เครือข่ายบุคลากรในสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 80 คน ร่วมงานเสวนา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแคนทารีโคราช จ.นครราชสีมา
อ.นพ.ดร.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากปัญหาการดูแลผู้ป่วยโรค NCDs ที่พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น และโรคมีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งประเทศใช้งบประมาณในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน ทีมวิจัยจึงพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับระบบการให้บริการและประชาชน ซึ่งเดิมผู้ให้บริการจะมีการบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยและรักษาในสมุดประจำตัวของผู้ป่วย และต้องนำข้อมูลที่อยู่ในสมุดประจำตัวผู้ป่วยมาบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ส่วนผู้ป่วยอาจพบกรณีปัญหา เช่น ลืมสมุดบันทึก สมุดบันทึกหาย บันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน อ่านลายมือไม่ออก ทำให้ข้อมูลไม่ต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดปัญหาการสื่อสารข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล
อ.นพ.ดร.นิวัฒน์ชัย อธิบายต่อว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์ พยาบาล นักคณิตศาสตร์ วิศวกร นักสารสนเทศ ฯลฯ โดยดำเนินการวิจัยใน 5 โรงพยาบาลนำร่องในจังหวัดนครราชสีมา 1) รพ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 2) รพ.ปากช่อง 3) รพ.โนนสูง 4) รพ.สีคิ้ว 5) รพ.จักราช ซึ่งหลังจากเห็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานดูแลผู้ป่วย NCDs ในพื้นที่แล้ว เช่น ภาระงานในการดูแลผู้ป่วย กระบวนการทำงานหลายขั้นตอน ซ้ำซ้อน ข้อมูลไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยบริการ ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและมีความเสี่ยงทางคลินิกเฉพาะโรคเพิ่มขึ้น ระบบ Telemedicine ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง ฯลฯ จึงมีการพัฒนาระบบบริการการดูแลผู้ป่วย NCDs โดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพิ่มขั้นตอนที่ให้คุณค่ากับการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น
ซึ่งแอปพลิเคชันที่เรียกว่า A.I. ใจดี มีระบบที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วย อาทิ ระบบการสนับสนุนและเพิ่มความรู้/ทักษะในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องเพื่อจัดการสุขภาพ, ระบบติดตามสภาวะและข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยด้วยตนเอง, ระบบการแจ้งเตือนอัตโนมัติและการให้คำปรึกษาทางไกลโดยแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์, ระบบประมวลผลข้อมูลเพื่อการทำนายทิศทาง/พยากรณ์โรคและความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งมีระบบเสริมสร้างความรู้และทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้ AI เพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ฯลฯ
ซึ่งนับเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย และสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลได้ง่ายขึ้น และสามารถดูแลตนเองได้ดีขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวร่วมกับพื้นที่ต่อ เพื่อให้ตอบสนองปัญหาและความต้องการของผู้ให้บริการและประชาชน โดยวางแผนที่จะขยายการใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การนัดหมาย การจองคิวรักษา การติดตามอาการ การให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพ ฯลฯ รวมถึงจะมีการขยายผลไปยังอีก 5 โรงพยาบาล 1) รพ.พิมาย 2) รพ.บัวใหญ่ 3) รพ.ประทาย 4) โชคชัย 5) รพ.ชุมพวง และเมื่อได้ข้อมูลการพัฒนาที่สมบูรณ์มากขึ้น จะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถขยายผลในวงกว้าง และพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วย NCDs ให้สามารถลดอัตราป่วย ลดอัตราภาวะแทรกซ้อน อัตราการเสียชีวิต ตลอดจนลดงบประมาณด้านสุขภาพให้กับประเทศ
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. มุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปแก้ปัญหาหรือพัฒนาระบบสุขภาพเป็นสำคัญ ซึ่งงานวิจัยข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสุขภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ฯ ดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่พัฒนาองค์ความรู้เพื่อนำไปออกแบบระบบสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์สุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบบริการเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรค NCDs และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง AI จะเข้ามาช่วยในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการวินิจฉัย การรักษา และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ทั้งนี้เวทีเสวนาดังกล่าว ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วย NCDs ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และการพัฒนารูปแบบการสร้างเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพในเวลาเดียวกัน
“นอกจากนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับประชาชนให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเท่าเทียม โดยมีการพัฒนาระบบส่งเสริม ป้องกัน รักษา ให้มีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมทั้งการจัดการข้อมูลสุขภาพให้มีความปลอดภัยและใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการศึกษาวิจัยครั้งนี้สอดรับกับสถานการณ์และความชุกของโรค NCDs เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมถึงสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพมากขึ้น สวรส. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย จึงหวังว่า ผลลัพธ์จากโครงการวิจัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบกำลังคนและระบบข้อมูลสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยแก้ปัญหาในระบบบริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน” รองผอ.สวรส. กล่าว
- 555 views