"ธรรมศาสตร์" เปิดตัว “7 นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย” รับมือ Super Aged Society พร้อมมอบนวัตกรรม SIT-TO-STAND TRAINER อุปกรณ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงพลัดตกหกล้ม ให้กับกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 10 กันยายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดมหกรรมงานวิจัย 90 ปี นวัตกรรมธรรมศาสตร์ เพื่อประชาชน Thammasat innovation for the people ภายใต้ธีม “ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันพลัดตกหกล้ม” ภายในงานมีการเปิดตัว 7 นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อสังคมสูงวัย พร้อมทั้งพิธีส่งมอบนวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อสังคม “อุปกรณ์ออกกำลังกายและฟื้นฟูสำหรับการฝึกลุกยืนสำหรับผู้สูงอายุ” (SIT-TO-STAND TRAINER) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายและกายภาพบำบัด ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อรยางค์ส่วนล่าง ลดความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้แทนส่งมอบ และ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนรับมอบ ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ เปิดเผยว่า การจัดแสดงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัยในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในวาระโอกาสของการเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างงานวิจัย ใช้วิชาการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะโจทย์ท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่จะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ต่อไปภายใน 10-15 ปีข้างหน้า
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า ภายใต้สังคมสูงวัย ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในการดูแลประชากรสูงอายุ ที่ส่วนหนึ่งจะมีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง เท่ากับว่าภาระของประเทศทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ ก็จะเยอะมากขึ้นตาม ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญจึงเป็นการทำให้ผู้สูงวัยในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่กลายไปเป็นผู้ป่วยหรือผู้ติดเตียง สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้อย่างยาวนาน และนวัตกรรมที่ มธ. นำมาจัดแสดงรวมถึงมอบให้กับ กทม. ในครั้งนี้ ก็จะมีส่วนช่วยตอบโจทย์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างได้
“อย่างนวัตกรรมช่วยลุกยืนที่เรามอบให้กับทาง กทม. แม้จะดูเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ก็เป็นการประยุกต์ใช้หลักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มาผนวกกับการดูแลสุขภาพ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการดูแลผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการลุกเดินหรือขยับร่างกาย ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ ล้วนเป็นความภาคภูมิใจของธรรมศาสตร์ ที่สามารถคิดค้นงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ให้กับสังคม และรับใช้ประชาชนตามเจตจำนงค์ของมหาวิทยาลัย” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวและว่า
ที่ในวันนี้ ธรรมศาสตร์ไม่ได้มีความเข้มแข็งแค่ในมิติเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง แต่ทั้งหมดสะท้อนแล้วว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และอื่นๆ ด้วย ยืนยันว่าจะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อให้บริการและดูแลสังคม
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรม SIT-TO-STAND TRAINER กล่าวว่า นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นนี้ นอกจากจะดูแลผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยมีทางเลือกในการฟื้นฟูดูแลสุขภาพและออกกำลังกายแล้ว ยังมีอีกกลุ่มสำคัญ คือผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่สถิติปัจจุบันพบว่ามีถึงประมาณ 2.5 แสนคนต่อปี และในจำนวนนี้มีถึง 70% ที่ยังมีความพิการหลงเหลือหลังจากรักษาหาย ซึ่งหากไม่ได้รับการฟื้นฟูดูแลอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ก็จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้มหาศาล เพราะไม่เฉพาะค่าใช้จ่ายจากการรักษาเท่านั้น แต่ยังเป็นในเชิงสังคมภาพรวมที่ต้องสูญเสียกำลังแรงงานไปกับการดูแลผู้ป่วยด้วย
ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุที่ผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการฟื้นฟูดูแลกายภาพที่ดีได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอุปกรณ์ที่มีในประเทศนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนนวัตกรรมทันสมัยที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มีราคาสูงมาก คืออย่างต่ำ 3-4 ล้านบาท ส่วนใหญ่จึงมีอยู่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น เกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยตามมา จึงอยากตอกย้ำว่าแนวทางในการแก้ปัญหานั้น จำเป็นจะต้องนำนวัตกรรมฟื้นฟูดูแลกายภาพเหล่านี้กระจายลงไปถึงในระดับชุมชน หรือถ้าให้ดีคือมีการพัฒนาเป็นเวอร์ชันที่ใช้ในครัวเรือนได้ด้วย
“ในส่วนอุปกรณ์ SIT-TO-STAND นี้ เราตั้งต้นจากโจทย์ปัญหาการพลัดตกหกล้มของผู้สูงวัย ที่เกิดขึ้นมากถึง 1 ใน 4 ของผู้สูงวัย ซึ่งปัญหาหลักมาจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ จึงต้องการพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงวัยลุกนั่งได้ด้วยตัวเอง เพราะตราบใดที่ยังทำได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ โดยข้อดีของเครื่องนี้คือสามารถปรับแรงดันท้ายที่ช่วยให้ลุกยืนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องใช้แรงมาก จึงสามารถฝึกได้บ่อยถึง 50 ครั้งต่อรอบ เทียบกับฝึกด้วยเก้าอี้ธรรมดาที่ผู้สูงวัยอาจลุกยืนได้เพียง 4-5 ครั้งก็เหนื่อย” ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากตัวเลขของผู้สูงวัยทั่วประเทศที่มีอยู่ 12.7 ล้านคน มากถึง 10% หรือกว่า 1.2 ล้านคนอยู่ในพื้นที่ กทม. จึงต้องการงานวิจัยหรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น SIT-TO-STAND TRAINER ที่อาจกระจายไว้ตามศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทั้ง 69 แห่ง ตลอดจนศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ คลินิกผู้สูงวัยที่ปัจจุบันให้มีการเปิดไว้แล้วในทุกโรงพยาบาลของ กทม. ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยและผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างครอบคลุม
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า การสนับสนุนอุปกรณ์เหล่านี้จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าทั้งกับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยตามศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะฟื้นฟู (IMC) นอกจากนี้ก็ยังจะช่วยให้เจ้าหน้าที่เหนื่อยน้อยลง สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น และไม่เฉพาะประเด็นของการพลัดตกหกล้มเท่านั้น เพราะเราต่างก็พยายามที่จะดูแลผู้สูงวัยที่ยังไม่ป่วย ให้มีเครื่องมือการออกกำลังกายที่จะช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อแก่ไปตามอายุ ซึ่งกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่จะช่วยให้ประชาชนแข็งแรงขึ้นได้เหล่านี้ ก็จะเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์จากภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เข้ามาทำงานนวัตกรรมร่วมกัน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการจัดแสดงนิทรรศการ 7 Wonders : นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ ตั้งแต่วันที่ 10-11 ก.ย. 2567 ณ บริเวณห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- 245 views