สธ.ชูโมเดลคลินิกคุณภาพ คัดกรอง จ่ายยา รับมือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง-โรคหืด เผยปีที่ผ่านมา ช่วยให้ผู้ป่วยลดการเข้าห้องฉุกเฉินและลดการนอนโรงพยาบาล พร้อมชวนสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สร้างเครือข่าย "คลินิกคุณภาพ" ด้าน สปสช.เผยเขตสุขภาพที่ 1 พบผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสะสมมากที่สุด เพิ่มขึ้นในปี 2566 จาก 25,000 คน เป็น 28,000 คน
สธ. ดันโมเดล “คลินิกคุณภาพ” รับมือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง-โรคหืด
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67 ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร มีการจัดการประชุมวิชาการเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (Easy Asthma and COPD Clinic Network annual meeting) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษ "การบริหารนโยบายสุขภาพโดยเน้นคุณค่า สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด" ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความสำคัญดูแลสถานการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด ผ่านกลไกคณะกรรมการ Service Plan สาขาโรคไม่ติดต่อ โดยเริ่มการจัดตั้ง “คลินิกคุณภาพ” ที่ให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare: VBHC) ทำให้ในปีที่ผ่านมาคลินิกคุณภาพมีการคัดกรองดูแลและจ่ายยาโรคหืดได้ สามารถดูแลผู้ป่วยจนลดการเข้าห้องฉุกเฉินและลดการนอนโรงพยาบาล (รพ.) ได้เป็นจำนวนมาก
การดำเนินงานดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายที่ สธ. เดินหน้าบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เจ็บป่วยรักษาได้ครบถ้วนเหมือนกันทุกที่ ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ แต่ได้รับการรักษาที่ “เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ” ตามแนวคิดของการจัดบริการคลินิกคุณภาพ ซึ่งคณะกรรมการ Service plan สาขาโรคไม่ติดต่อ ของสธ. จะร่วมถอดบทเรียนกับเครือข่าย EACC (Easy Asthma and COPD Clinic) ขับเคลื่อนโมเดลต้นแบบคลินิกคุณภาพ ทั้งยังช่วยลดความแออัดของสถานพยาบาล และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ของหน่วยบริการนั้น ๆ อีกทางหนึ่งด้วย
ชวนสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สร้างเครือข่าย "คลินิกคุณภาพ" ให้ทีมสหวิชาชีพดูแลผู้ป่วย
นพ.สุรชัย โชคครรชิตชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการพัฒนา "คลินิกคุณภาพ" เป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดี เกิดคุณค่าสูงสุดในการรักษาพยาบาล โดยขยายบริการไปถึงระดับปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในเชิงรุก มีประสิทธิภาพ
จากการลงพื้นที่ร่วมกับเครือข่าย EACC เห็นการทำงานเชิงรุกอย่างเข้มแข็ง พบว่าหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมโรคนี้ คือการบริการเฉพาะโรค โดยผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองแล้วจะได้รับบริการในคลินิกคุณภาพเพียงจุดเดียว ไม่เสียเวลารอนาน จึงอยากเชิญชวนสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิเข้ามาร่วมกับโรงพยาบาล ในการสร้างเครือข่ายคลินิกคุณภาพ ซึ่งเป็นการจัดบริการสุขภาพในโรคเฉพาะทางโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด โดยมีทีมสหวิชาชีพเข้ามาดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคนี้ด้วยแนวคิด “เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ” เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเป้าหมายลดการกำเริบและนอน รพ.ของผู้ป่วยให้ได้
ด้าน รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวว่า แนวทางการรักษาโรคหืดในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถที่จะควบคุมอาการหอบของโรคหืดได้ หรือ หืดไม่จำเป็นต้องหอบ หากดูแลรักษาตัวเองอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้อง
ขณะเดียวกันมีการศึกษารองรับการจัดบริการ คลินิกคุณภาพ จากกรณีศึกษาของเครือข่าย EACC สามารถลดการกำเริบเฉียบพลันและนอน รพ. ได้มากถึง 89% ถือเป็นโมเดลการรักษาที่มีทั้ง Simplify & Practical process นำไปปรับใช้ได้ง่าย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ได้ในสถานพยาบาลทุกระดับ ทำโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการรักษา ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาผ่านเครือข่าย EACC ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลใกล้บ้านกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ
ครม.อนุมัติงบฯ เพิ่มขึ้น 8.46% ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดอย่างมีประสิทธิภาพ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 2.36 แสนล้านบาท โดยอนุมัติค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหืด) วงเงิน 1.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.46% เพื่อให้หน่วยบริการในทุกระดับจัดบริการ "คลินิกคุณภาพ" ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดอย่างมีประสิทธิภาพผ่านกลไกการให้บริการคลินิกคุณภาพที่มุ่งเน้นให้บริการสุขภาพโดยเน้นคุณค่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการรับมือกับสถานการณ์โรคที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สปสช. ในการกระจายการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการยกระดับคุณภาพหน่วยบริการให้สามารถจัดบริการคลินิกคุณภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหืดให้ "เข้าถึงง่าย ได้คุณภาพ"
ทพ.อรรถพร ยังบรรยายพิเศษ เรื่อง ความท้าทายของหลักประกันสุขภาพด้านโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อประชาชนได้เข้าถึงบริการคุณภาพอย่างถ้วนหน้า ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหืด พบว่า ในปี 2565 เขตที่มีผู้ป่วยโรคหืดสะสมสูงสุด คือ เขตสุขภาพที่ 12 จังหวัดสงขลา จำนวน 31,000 คน รองลงมา เขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา 29,000 คน และอันดับ 3 เขตสุขภาพที่ 7 จังหวัดขอนแก่น 26,000 คน ส่วนผู้ป่วยโรคหืดที่มาแอดมิทโรงพยาบาล แต่เป็นผู้ป่วยใหม่ ไม่เคยเข้ารับการรักษา เขตสุขภาพที่ 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 984 คน ในปี 2565 ส่วนอันดับ 2 คือ เขตสุขภาพที่ 12 จังหวัดสงขลา จำนวน 932 คน และอันดับ 3 เขตสุขภาพที่ 8 จังหวัดอุดรธานี จำนวน 678 คน
ด้านผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสะสมมากที่สุด ได้แก่
- เขตสุขภาพที่ 1 ในปี 2565 มีผู้ป่วยจำนวน 25,000 คน และในปี 2566 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 28,000 คน
- เขตสุขภาพที่ 11 ในปี 2565 มีผู้ป่วยจำนวน 17,000 คน และในปี 2566 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 19,000 คน
- เขตสุขภาพที่ 9 ในปี 2565 มีผู้ป่วยจำนวน 16,700 คน และในปี 2566 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 คน
- เขตสุขภาพที่ 12 ในปี 2565 มีผู้ป่วยจำนวน 16,200 คน และในปี 2566 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 คน
ส่วนตัวเลขของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่แอดมิทครั้งแรก ในปี 2566 อันดับ 1 คือ เขตสุขภาพที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนผู้ป่วย 1,327 คน อันดับ 2 และอันดับ 3 จำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกัน 1,100 คน ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 7 จังหวัดขอนแก่น และเขตสุขภาพที่ 11 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
"การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะต้องนอนโรงพยาบาลมีน้อย แต่ผู้ป่วยที่เข้าห้องฉุกเฉินหรือนอนโรงพยาบาล มักจะเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการดูแล โดยค่าแอดมิทนั้น หากเทียบค่าต้นทุนการแอดมิทของผู้ป่วยโรคหืดอยู่ที่ประมาณ 6,800 บาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณ 14,000 บาทต่อคน" ทพ.อรรถพร กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ในปี 2568 จะมีการจัดสรรงบประมาณแยกออกมาโดยเฉพาะในการทำ คลินิกคุณภาพ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการปฐมภูมิได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยบัตรประชาชนใบเดียวร่วมกับหน่วยนวัตกรรม 7 สาขาวิชาชีพ มาร่วมให้บริการ และมีร้านยาเข้าร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นจุดที่มารับยาโรคหืดได้ อย่างไรก็ตาม สปสช.พยายามร่วมมือกับวิชาชีพ ทำให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยหลักการสำคัญของ สปสช. จะพยายามไม่ให้กระทบกับรายได้ของโรงพยาบาล
- 766 views