สถาบันโรคทรวงอกเตือนผู้ที่ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อย สูบบุหรี่จัด อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แนะพบแพทย์เพื่อรักษา หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลว
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่เกิดจากหลอดลมมีการเปลี่ยนแปลง หรือในเนื้อปอดมีการอักเสบ ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบลงหรือตันไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ หอบเหนื่อย และหายใจมีเสียงหวีด โดยระยะแรกอาจยังไม่ปรากฏอาการ แต่เมื่อเนื้อปอดถูกทำลายมากขึ้น อาการดังกล่าวจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญ คือ การสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากมาย เมื่อปอดสัมผัสกับควันบุหรี่ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในปอด สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การสูดดมมลภาวะอากาศที่เป็นพิษ
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยทั่วไปมักพบ 2 โรคอยู่ร่วมกัน คือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรัง อาการเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 3 เดือน ติดต่อกันประมาณ 2 ปี หรือมากกว่านั้น โดยไม่มีสาเหตุอื่น และโรคถุงลมโป่งพอง มีการทำลายผนังถุงลม และส่วนปลายสุดของหลอดลม จะมีการขยายตัวโป่งพอง ทำให้การถ่ายเทอากาศผิดปกติ
หากพบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค แพทย์อาจตรวจภาพรังสีทรวงอก ตรวจสมรรถภาพปอด และตรวจวิเคราะห์ก๊าซในเลือดเพื่อช่วยประเมิน ความรุนแรงของโรค เพราะหากโรครุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการที่ออกซิเจนในเลือดลดลงเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดแดงในปอดเกิดการบีบรัดตัวและมีแรงดันสูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจซีกขวาต้องทำงานหนักมากเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะหัวใจซีกขวาล้มเหลวได้
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีตั้งแต่การรักษาด้วยยา การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด และการผ่าตัด เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยควรหยุดสูบบุหรี่ ดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่ รู้จักควบคุมอารมณ์ เพราะความเครียดอาจทำให้หายใจลำบาก นอกจากนี้ต้องดูแลบ้านให้สะอาดปราศจากฝุ่น ละออง และควัน สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี และที่สำคัญต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด และใช้ยาที่แพทย์แนะนำ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ เหนื่อยมากกว่าเดิม เสมหะมากขึ้นหรือเปลี่ยนสี เสมหะมีเลือดปนหรือไอเป็นเลือด มีไข้ เจ็บหน้าอกให้รีบมาพบแพทย์ก่อนนัดทันที เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว และปลอดภัย
- 2094 views